'ทุเรียนไทย' ครองแชมป์ส่งออกสูงสุดผ่าน รถไฟความเร็วสูงจีน - สปป.ลาว

'ทุเรียนไทย' ครองแชมป์ส่งออกสูงสุดผ่าน รถไฟความเร็วสูงจีน - สปป.ลาว

"ทุเรียนไทย" ครองแชมป์ส่งออกสูงสุดผ่าน รถไฟความเร็วสูงจีน - สปป.ลาว ลดระยะเวลาขนส่งเหลือ 15 ชั่วโมง รัฐบาลเดินหน้าแผนเชื่อมโยงระบบราง เพิ่มโอกาสส่งออกสินค้าไทย

เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2566 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปจีนผ่าน รถไฟความเร็วสูงจีน - สปป.ลาว เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 5 เดือนแรก (มกราคม – พฤษภาคม) ของปี 2566 มี มูลค่ารวม 2,848.41 ล้านบาท ขยายตัวกว่าร้อยละ 260 จากปี 2565

โดยผลไม้ไทยได้รับความนิยมในตลาดจีนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะ "ทุเรียน" ซึ่งการใช้รถไฟจีน-ลาว สามารถช่วยลดระยะเวลาการขนส่ง จากที่เคยใช้เวลาผ่านถนนเส้นทาง R3A ประมาณ 2 วัน เหลือใช้เวลาบนรถไฟไม่เกิน 15 ชั่วโมง

ทั้งนี้ รัฐบาลเร่งขับเคลื่อนแผนเชื่อมโยงระบบราง ไทย-สปป.ลาว-จีน เพื่อเพิ่มโอกาสการส่งออกสินค้าไทย ปูทางสู่การเป็นศูนย์กลางคมนาคมขนส่งของภูมิภาคในอนาคต

\'ทุเรียนไทย\' ครองแชมป์ส่งออกสูงสุดผ่าน รถไฟความเร็วสูงจีน - สปป.ลาว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยข้อมูลจาก กระทรวงพาณิชย์ พบว่า 10 อันดับแรกของสินค้าที่ส่งออกทางด่านหนองคายผ่านแดน สปป.ลาว ไปจีนมีมูลค่าการส่งออกและขยายตัวสูงที่สุด ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 

10 อันดับแรกสินค้าส่งออก ได้แก่

  1. ทุเรียนสด อยู่ที่ 2,073.18 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 364 เมื่อเทียบกับช่วงกันของปี 2565
  2. มังคุดสด 378.65 ล้านบาท
  3. หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ 315.21 ล้านบาท
  4. ลำไยสด 37.40 ล้านบาท
  5. สินค้าแร่ และเชื้อเพลิงอื่น ๆ 17.89 ล้านบาท
  6. สับปะรดแปรรูป 11.43 ล้านบาท
  7. ส้มโอสด 2.99 ล้านบาท
  8. สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร 2.72 ล้านบาท
  9. มะม่วงสด 1.79 ล้านบาท
  10. ผลไม้อื่น ๆ 1.52 ล้านบาท ตามลำดับ 

 
ทั้งนี้ รัฐบาลเดินหน้าขับเคลื่อนแผนเชื่อมโยงระบบราง ไทย-สปป.ลาว-จีน อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน (กรุงเทพฯ - หนองคาย) เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค สำหรับระยะที่ 1 (กรุงเทพฯ - นครราชสีมา) มีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จ ในปี 2569 ซึ่งจะช่วยเสริมศักยภาพระบบคมนาคมขนส่งทางรางของไทย เชื่อมโยงภูมิภาค ตลอดจนเป็นโอกาสของไทยในการส่งออกสินค้าไปตลาดจีนได้มากขึ้น โดยใช้ระยะเวลาการขนส่งน้อยลง และยังสามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี ในการส่งออกสินค้าไปจีนได้อีกด้วย

“รัฐบาลมุ่งมั่นพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในทุกด้าน โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานทางราง ซึ่งเป็นการขนส่งที่สามารถลดต้นทุน เวลา และค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้ผู้ส่งออกไทย พร้อมเชื่อมั่นว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไว้อย่างครอบคลุมตามที่รัฐบาลได้ดำเนินการ จะมีส่วนสำคัญ ส่งต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศ และส่งเสริมให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของภูมิภาคได้” นางสาวรัชดาฯ กล่าว