‘ทุเรียน’ จากผลไม้ยอดนิยมชาวจีน สู่ ‘ของขวัญ’ อวดความมั่งคั่ง

‘ทุเรียน’ จากผลไม้ยอดนิยมชาวจีน สู่ ‘ของขวัญ’ อวดความมั่งคั่ง

ขณะนี้ “ทุเรียน” ไม่ได้เป็นเพียงผลไม้ยอดนิยมของชาวจีนอีกต่อไป แต่ยังมีสถานะเป็น “ของขวัญล้ำค่า” ที่ใช้อวดรวยได้ด้วย ขณะที่จีนนำเข้าทุเรียนพรีเมียมจากอาเซียนซึ่งรวมถึงไทย อย่างคึกคัก

Key Points

  • คนเฒ่าคนแก่จีนเชื่อว่า ทุเรียนมีสารอาหารสูง 1 ลูกเท่ากับบริโภคไก่ 3 ตัว
  • ยอดนำเข้าทุเรียนสดของจีนเพิ่มขึ้น 4 เท่าในปี 2565 เมื่อเทียบกับปี 2560 โดยมีมูลค่ารวมมากกว่า 4,000 ล้านดอลลาร์
  • ผู้ค้าในตลาดค้าส่งผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดในจีน ที่นครกว่างโจว เผยว่า ช่วงราคาเฉลี่ยของทุเรียนอยู่ระหว่าง 174-252 บาทต่อกิโลกรัม 


ในพิธีสำคัญของจีน ไม่ว่าจะเป็นพิธีแต่งงาน พิธีหมั้น หรือแม้แต่การเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ มักตามมาด้วยของขวัญล้ำค่าเสมอ ไม่ว่าจะเป็นหยก ทองคำ หรือแม้แต่ผลไม้อย่างส้ม แอปเปิลแดง ฯลฯ

แต่รู้หรือไม่ว่า มีผลไม้อย่างหนึ่งที่กำลังกลายเป็นของขวัญล้ำค่ายอดนิยมในปัจจุบัน นั่นคือ “ทุเรียน” ราชาแห่งผลไม้ โดยสำนักข่าว South China Morning Post ได้สัมภาษณ์ชาวจีนในย่านท้องถิ่นต่าง ๆ เกี่ยวกับความเห็นทุเรียนในสถานะของขวัญ

  • “ทุเรียน” ของขวัญพรีเมียมงานแต่งงาน

ที่บ้านเกิดของหม่า เฉียนในย่านชนบท มณฑลเหอหนานของจีน เป็นธรรมเนียมโดยทั่วไปที่จะส่งของขวัญ 4-6 อย่างให้แก่เพื่อนและญาติ เมื่อพวกเขามีการหมั้นหมายหรือแต่งงาน โดยของขวัญนั้นประกอบด้วยองุ่น ไส้กรอกแฮม นมและเห็ดหอม

อย่างไรก็ตาม มีของขวัญตัวเลือกใหม่ที่กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ในจีน ซึ่งสิ่งนั้นคือ “ทุเรียน” ผลไม้เมืองร้อน และมีกลิ่นค่อนข้างเข้มข้นจากภูมิภาคอาเซียน

‘ทุเรียน’ จากผลไม้ยอดนิยมชาวจีน สู่ ‘ของขวัญ’ อวดความมั่งคั่ง

หม่า เฉียน ซึ่งทำงานด้านวาดรูปเล็ก ๆ สำหรับเด็กได้เล่าว่า เมื่อเดือนที่แล้ว ลูกพี่ลูกน้องของฉันมีพิธีหมั้น แม่ยายได้ขอให้ฉันเปลี่ยนของขวัญจากองุ่นเป็นทุเรียนแทน เพราะเธอมองว่าทุเรียนมีคุณค่าและทันสมัยมากกว่า

เมื่อหม่า เฉียนและคนในพื้นที่หลายคนได้ลิ้มรสทุเรียนครั้งแรกแล้ว ก็ติดใจในรสชาติอย่างรวดเร็ว และเมื่อย้อนนึกถึงตอนนั้น ช่างเป็นเรื่องน่าขำที่แม่ยายเธอจอมขี้เหนียว มักจะพูดอ้อม ๆ ให้พวกเราซื้อทุเรียนมาฝากเธอ

นอกจากนั้น เธอเสริมว่า คนเฒ่าคนแก่เชื่อว่า ทุเรียนมีสารอาหารสูง บริโภคทุเรียน 1 ลูกเท่ากับบริโภคไก่ 3 ตัว

ในสังคมจีน มีคำฮิตติดหูว่า “อิสรภาพเชอร์รี” (Cherry Freedom) ซึ่งสื่อถึงคนที่ยอมควักเงินซื้อของราคาแพงอย่าง “ลูกเชอร์รีนำเข้า” โดยไม่ต้องคิดรอบสอง เปรียบถึงคนนั้นร่ำรวยมั่งคั่ง และตอนนี้คำว่า “เชอร์รี” กำลังถูกแทนที่ด้วยคำว่า “อิสรภาพทุเรียน” แทน เพราะทุเรียนได้กลายเป็นสิ่งทรงคุณค่าราคาแพงในปัจจุบันไปแล้ว

‘ทุเรียน’ จากผลไม้ยอดนิยมชาวจีน สู่ ‘ของขวัญ’ อวดความมั่งคั่ง

  • จีนนำเข้า “ทุเรียนอาเซียน” คึกคัก

จากความร่วมมือของ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) ซึ่งเป็นความตกลงการค้าเสรี โดยมีสมาชิก 15 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 10 ประเทศ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์  จึงทำให้การนำเข้าส่งออกสินค้าระหว่างประเทศสมาชิกทำได้ง่ายขึ้น ผลไม้เมืองร้อนต่าง ๆ โดยเฉพาะทุเรียนทะลักเข้ามายังจีนมากขึ้น

หม่า เฉียนเล่าว่า “ทุเรียนที่เข้ามาเป็นที่นิยมในหมู่คนหนุ่มสาวในเมืองเล็ก โดยเฉพาะในร้านกาแฟมีการเสิร์ฟทุเรียนสด เค้กทุเรียน และกาแฟลาเต้มะพร้าวด้วย พวกเราชอบซื้อทุเรียนมาแบ่งกับครอบครัวของเรา บางครั้งซื้อกิโลกรัมละ 40 หยวนหรือราว 195 บาท และบางครั้งซื้อกิโลกรัมละ 60 หยวนหรือราว 290 บาท”

“ตอนนี้ผู้คนคุยถึงลักษณะทุเรียนชั้นดี ก้านสั้น ทรงกลม และหนามเล็ก ส่วนเรื่องทุเรียนจะมาจากประเทศไหนนั้น พวกเราไม่ได้ใส่ใจมากนัก”

‘ทุเรียน’ จากผลไม้ยอดนิยมชาวจีน สู่ ‘ของขวัญ’ อวดความมั่งคั่ง

ในปัจจุบัน ไทย มาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ซึ่งล้วนเป็นสมาชิก RCEP ถือเป็นผู้ส่งออกทุเรียนรายสำคัญให้จีน

ขณะที่บรรดานักลงทุนจีนที่ทะเยอทะยานและเห็นโอกาส หันไปทำเกษตรพันธสัญญาปลูกทุเรียนในไทยและเวียดนาม รวมถึงสร้างเครือข่ายขนส่งแช่เย็น และแพลตฟอร์มซื้อขายทุเรียนออนไลน์ขึ้น

ข้อมูลกรมศุลกากรของจีน ระบุว่า ย้อนไปในช่วงนโยบาย “โควิดเป็นศูนย์” ของจีน แม้จะมีการควบคุมการนำเข้าอย่างเข้มงวด แต่ยอดนำเข้าทุเรียนสดเข้าประเทศจีนกลับเพิ่มขึ้น 4 เท่าในปี 2565 เมื่อเทียบกับปี 2560 โดยมีมูลค่ารวมมากกว่า 4,000 ล้านดอลลาร์หรือราว 140,000 ล้านบาท ขณะที่ยอดนำเข้าในไตรมาสแรกของปีนี้เพิ่มขึ้นมากกว่า 150%

ส่วนราคานำเข้าเฉลี่ยในไตรมาสแรก อยู่ที่ 38.3 หยวน หรือราว 185.7 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาที่ลดลง 4.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว

ข้อมูลจากสำนักข่าวการเงิน อี้ฉาย (Yicai) ระบุว่า ตั้งแต่เริ่มต้นเดือน เม.ย. ถึงกลางเดือน พ.ค. ยอดขายทุเรียนใน เหม่ยถวน แพลตฟอร์มส่งอาหารยอดนิยมของจีน ได้เพิ่มขึ้น 711% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

สำหรับการส่งออกทุเรียนจากย่านอาเซียนในช่วงแตะระดับสูงสุดของฤดูกาล ตอนเดือน พ.ค. และ มิ.ย. ราคาขายปลีกทุเรียนในจีนเริ่มลดลงอย่างชัดเจน และทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงราคาได้ง่ายขึ้น

ผู้ค้าในตลาดเจียงหนาน ตลาดค้าส่งผลไม้ที่ใหญ่ที่สุดของจีน ในนครกว่างโจว ให้ข้อมูลว่า ในตลาดค้าส่งจีน ช่วงราคาเฉลี่ยของทุเรียน อยู่ระหว่าง 36-52 หยวนหรือราว 174-252 บาทต่อกิโลกรัม ขึ้นอยู่กับลักษณะและสายพันธุ์

จาง เหลียง คนขับรถบรรทุกในเมืองจิงโจว ทางตอนกลางของจีน ส่งทุเรียนมูลค่ามากกว่า 300 หยวนหรือราว 1,450 บาทให้ภรรยาเป็นของขวัญวันเกิด เขาเปิดเผยว่า ชายโสดท้องถิ่นเคยให้ของขวัญครอบครัวของแฟนด้วยองุ่น ลูกพีช และไวน์ขาว แต่ตอนนี้พวกเขาจำเป็นต้องหาทุเรียนเพิ่มเข้ามา เพื่อสร้างความประทับใจให้ญาติผู้ใหญ่

บ็อบ หวัง ผู้นำเข้าทุเรียน และเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทขนส่ง TWT Supply Chain ซึ่งมีรถบรรทุกของตัวเองและรถบรรทุกรับจ้างรวมกว่า 3,000 คันทั่วประเทศ กล่าวว่า ปัจจุบันทุเรียนเข้ามายังจีนได้ง่ายและรวดเร็วขึ้นภายใน 3 วัน และเขามีสวนทุเรียนที่รับจ้างปลูกในเวียดนาม พื้นที่ประมาณ 18,750 ไร่ และยังมีแผนนำเข้าทุเรียนเพิ่มอีกกว่า 3,000 ตู้คอนเทนเนอร์หรือน้ำหนัก 60,000 ตันในปีนี้

หวังเสริมว่า ทุเรียนได้กลายเป็นผลไม้นำเข้ายอดนิยมอย่างรวดเร็วในจีน เพียงแต่หลายคนอาจประเมินความต้องการทุเรียนของชาวจีนต่ำเกินไป

“ความต้องการทุเรียนที่สูงมากของชาวจีนในปัจจุบัน ทำให้มีแนวโน้มว่า ความต้องการทุเรียนรายปีอาจเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในอีก 2-3 ปีข้างหน้า” หวังคาดการณ์

ในปัจจุบัน จีนพยายามผลิตทุเรียนในประเทศเองที่เกาะในมณฑลไห่หนาน แต่ราคายังคงสูง 

ผู้ใช้รายหนึ่งใน “เว่ยป๋อ” (Weibo) แอปพลิเคชันโซเชียลมีเดียยอดนิยมของจีน โพสต์ว่า “ในอำเภอเล็ก ๆ แถบตะวันตกเฉียงเหนือที่ห่างไกลของจีน ราคาเฉลี่ยสำหรับทุเรียน 500 กรัม อยู่ที่ 35 หยวนหรือราว 170 บาท และราคา 48 หยวนหรือราว 230 บาทในช่วงเทศกาลตรุษจีน ซึ่งเป็นช่วงที่ของแพงที่สุด”

“ถ้าไม่ใช่เพราะแฟนผมชอบกินทุเรียน ผมคงคิดหนักว่าจะควักเงินซื้อดีไหม” ผู้ใช้เว่ยป๋อรายเดิมระบุ

อ้างอิง: scmp