ลุ้น 'สภาพัฒน์' จ่อหั่น ‘GDP ปี 66’ รับส่งออกทรุด – ตั้งรัฐบาลช้า

ลุ้น 'สภาพัฒน์' จ่อหั่น ‘GDP ปี 66’ รับส่งออกทรุด – ตั้งรัฐบาลช้า

ลุ้นตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 2/66 “สศช.”แถลงจันทร์นี้ คาดหั่นจีดีพีรับส่งออกหดตัว จัดตั้งรัฐบาลช้าจ่อหั่น  ขยับกรอบบนลงจาก 3.7 “ทีดีอาร์”ไอมองกรอบจีดีพี 3 – 3.5% “นิด้า” คาดจีดีพีโตได้ 3 – 3.1% เหตุตลาดส่งออกในหลายประเทศไม่สดใส การใช้จ่ายท่องเที่ยวฟื้นตันไม่มาก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในวันจันทร์ที่ 21 ส.ค.2566 สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะมีการแถลงข่าวผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาสที่ 2 ปี 2566 รวมทั้งประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจไทยปี 2566

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ในการแถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจไทยเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา สศช.คาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2566 ว่าจะขยายตัว 2.7 – 3.7% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 3.2% ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2565 ที่เศรษฐกิจขยายตัวได้ 2.6%

อย่างไรก็ตามในการมีความเป็นไปได้ที่ สศช.จะมีการทบทวนและปรับลดตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจไทยลงจากระดับ 2.7 – 3.7% ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะในกรอบประมาณการเศรษฐกิจด้านบนที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ถึง 3.7% ซึ่งเป็นตัวเลขที่เป็นมุมมองบวกต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมา แต่ในขณะนี้เครื่องยนต์เศรษฐกิจที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยได้แก่ ภาคการส่งออกมีปัญหา โดยภาคการส่งออกมีการหดตัวติดต่อกันถึง 9 เดือน ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐ (government spending) ในช่วงที่เหลือของปีนี้จะมีปัญหาจากการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้ากระทบกับการจัดทำงบประมาณปี 2567 ทำให้งบลงทุนฯโครงการใหม่ของภาครัฐยังไม่สามารถลงสู่ระบบเศรษฐกิจได้

ทั้งนี้การปรับประมาณการเศรษฐกิจของไทยลงของสศช.ครั้งนี้สอดคล้องกับที่กระทรวงการคลังเพิ่งปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจาก 3.6% เหลือ 3.5% โดยมีการระบุถึงปัจจัยเสี่ยงและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจได้แก่

1.ความต่อเนื่องในการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศหลัก ๆ เช่น จีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ อินเดีย และรัสเซีย

3. สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ส่งผลต่อทิศทางเงินเฟ้อในประเทศ

3.สถานการณ์เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและเศรษฐกิจจีน

และ 4.ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลกในภูมิภาคต่าง ๆ เช่น ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน การแข่งขันเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานโลกและการค้าระหว่างประเทศ

ภาคส่งออกกดดันเศรษฐกิจไทย

การส่งออกของไทยที่ติดลบต่อเนื่องมานานกว่า 9 เดือนเป็นตัวกดดันเศรษฐกิจไทยใน 3 ไตรมาสที่ผ่านมา รวมทั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกไม่สดใส ตลาดส่งออกหลักของไทยได้รับผลกระทบ ซึ่งข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตัวเลขการส่งออกในไตรมาสที่ 2 ในปีนี้ ปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 1 ที่มูลค่าการส่งออกหดตัวลง 4.5% ขณะที่ไตรมาสที่ 2 หดตัวเพิ่มเป็น 5.9% ตัวเลขมูลค่าการส่งออกที่รวมทองคำลดลง 5.9% ทั้งในเดือนก.ค. และเดือน มิ.ย. ขณะที่ตัวเลขภาคการผลิตอุตสากรรมก็ลดลง 5.6% สะท้อนการใช้กำลังการผลิตที่ยังไม่กลับมามากนัก

ลุ้น \'สภาพัฒน์\' จ่อหั่น ‘GDP ปี 66’ รับส่งออกทรุด – ตั้งรัฐบาลช้า

ทั้งนี้ สศช.คาดการณ์การส่งออกของไทยในปีนี้ในแง่ของมูลค่าจะหดตัว 1.6% โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าในปีนี้จะอยู่ที่ประมาณ 2.8 แสนล้านดอลลาร์ หรือเฉลี่ยต้องมีการส่งออกอยู่ที่เดือนละประมาณ 2.6 – 2.8 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่การส่งออกในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมายังอยู่ที่ระดับ 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์ และการส่งออกที่ไม่รวมทองคำหดตัวลงถึง 6.4% ซึ่งภาคการส่งออกถือว่าเป็นสัดส่วนสำคัญในการคำนวณอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทย การที่ภาคการส่งออกยังไม่ฟื้นตัวและมีแนวโน้มที่จะหดตัวเพิ่มขึ้นทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจที่คาดไว้จะไม่ได้เป็นไปอย่างที่คาดการณ์

‘ทีดีอาร์ไอ’ มองกรอบจีดีพีปีนี้ 3 – 3.5%

นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่ากรอบตัวเลขคาดการณ์จีดีพีในปีนี้มองว่าอยู่ที่ประมาณ 3 – 3.5% ดังนั้นตัวเลขที่ สศช.มองว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ 3.2% ยังอยู่ในกรอบที่เป็นไปได้

ทั้งนี้เศรษฐกิจยังได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งจะทดแทนภาคการส่งออกที่หดตัวได้บางส่วน แต่อย่างไรก็ตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่ยังไม่เพิ่มขึ้นเท่าที่ควรคือกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน และญี่ปุ่น ซึ่งต้องดูว่าปลายปีจำนวนนักท่องเที่ยวจะได้ตามเป้าหมาย 28 ล้านคนหรือไม่ 

 

“นิด้า” คาดเศรษฐกิจขยายตัวได้แค่ 3% ส่งออกฉุด ท่องเที่ยวช่วยเศรษฐกิจไม่มาก

ผศ.ดร.สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้น่าจะขยายตัวได้ประมาณ 3 – 3.1% เท่านั้น ซึ่งขณะนี้หากดูในรานยละเอียดของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 – 2 จะเห็นว่าขยายตัวประมาณ 2.6 – 2.7% หากจะให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ 3.5% ในปีนี้ ในช่วงไตรมาส 3 – 4 ของปีนี้เศรษฐกิจจะต้องขยายตัวได้ไม่น้อยกว่า 3.3 – 3.5% ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ง่าย

 

ลุ้น \'สภาพัฒน์\' จ่อหั่น ‘GDP ปี 66’ รับส่งออกทรุด – ตั้งรัฐบาลช้า

แม้ว่าจะมีการเข้ามาของรัฐบาลเพื่อไทย และกระตุ้นเศรษฐกิจโดยนโยบายดิจิทัล 10,000 บาทก็ยังไม่แน่ว่าจะใช้ได้จริงหรือไม่ และส่งผลกับเศรษฐกิจในช่วงโค้งสุดท้ายของปีได้มากเพียงใด ดังนั้นเศรษฐกิจไทยในปีนี้คงต้องประคองไว้ให้เติบโตในระดับ 3% จากนั้นค่อยมาดูในปีต่อๆไปว่ารัฐบาลใหม่จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้มากขึ้นได้อย่างไร

 

ซึ่งในปีนี้เศรษฐกิจในช่วง 2 ไตรมาสที่ผ่านมาการส่งออกติดลบ และคาดว่าจะยังคงติดลบต่อเนื่อง เนื่องจากตลาดหลักของไทยมีปัญหา โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และ ยุโรป ซึ่งในส่วนของยุโรปภาคการส่งออกไทยกำลังเจอกับเรื่องมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี เช่น มาตรการเกี่ยวกับการห้ามนำเข้าจากข้อจำกัดเรื่องการปล่อยคาร์บอน ส่วนในจีนนั้นเป็นตลาดส่งออกที่เราส่งออกไปมาก แต่เมื่อเทียบกับมูลค่าการนำเข้าไทยก็จะขาดดุลการค้าถึงปีละกว่า 1 ล้านล้านบาท ซึ่งเท่ากับว่าการส่งออกของเราไปยังจีนไม่เท่ากับที่เรานำเข้าสินค้าเข้ามาเนื่องจากมีการขาดดุลต่อเนื่อง

“ปีนี้สินค้าที่จะได้ประโยชน์จากการส่งออกมีเพียงสินค้าเกษตร โดยเฉพาะข้าวที่ราคาเพิ่มขึ้นจากคำสั่งการส่งออกข้าวของอินเดีย แต่ต้นทุนการผลิตของข้าวในประเทศก็เพิ่มขึ้นด้วย ทำให้เกษตรกรก็ได้ประโยชน์บางส่วนเท่านั้น ขณะที่เป้าหมายการส่งออกที่กระทรวงพาณิชย์วางไว้ขยายตัว 1-2% มองว่าเป็นไปได้ยาก แค่ประคองตัวไว้แค่อยู่ในระดับที่ไม่ติดลบมากคงจะพอทำได้แต่การจะให้การส่งออกเป็นบวกได้ถือว่ายากมากในปีนี้”ผศ.ดร.สันติกล่าว

สำหรับภาคการท่องเที่ยวแม้ว่าจะฟื้นตัวขึ้นเรื่อยๆ และมีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาในไทยปีนี้ได้ตามเป้าหมาย 28 – 30 ล้านคน แต่ในเรื่องของการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว และกำลังซื้อของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศไทยยังไม่ได้อยู่ในระดับสูงเหมือนกับช่วงที่เกิดโควิด-19 ซึ่งในปีนี้จะได้แค่ในส่วนของปริมาณที่เข้ามาตามเป้าหมาย แต่ในเรื่องเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวยังไม่มากเท่าที่ควร