‘บาตามัส’ ของดี 3 จังหวัดชายแดนใต้ ทุเรียนคุณภาพ ผลผลิตจาก ‘ศาสตร์พระราชา’

 ‘บาตามัส’ ของดี 3 จังหวัดชายแดนใต้ ทุเรียนคุณภาพ ผลผลิตจาก ‘ศาสตร์พระราชา’

"บาตามัส" ทุเรียนคุณภาพจากโครงการทุเรียนคุณภาพ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มูลนิธิปิดทองหลังพระฯเข้าไปเป็นพี่เลี้ยงให้การสนับสนุนต่อเนื่องมานานกว่า 5 ปี ออกสู่ตลาดมากถึง 700 ตัน สร้างรายได้เกษตรกรกว่า 70 ล้าน ชุมชนสร้างเครือข่ายเข้มแข็งขายทุเรียนได้ราคาดี

พื้นที่  3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จ.ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส เป็นจังหวัดที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีศักยภาพในการปลูกพืชเศรษฐกิจหลายชนิดซึ่งนอกจากยางพาราที่เป็นพืชเศรษฐกิจในพื้นที่มายาวนาน

ในพื้นที่ยังมีไม้ผลหลายชนิดที่มีรสชาติดีไม่ซ้ำในพื้นที่อื่นๆ หนึ่งในผลไม้จากพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เป็นที่รู้จักมากขึ้นก็คือทุเรียนหมอนทอง หรือที่มีชื่อเรียกเฉพาะว่า “บาตามัส”

ซึ่งในปีนี้จะมีบาตามัสคุณภาพจากโครงการทุเรียนคุณภาพ พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มูลนิธิปิดทองหลังพระฯเข้าไปเป็นพี่เลี้ยงให้การสนับสนุนต่อเนื่องมานานกว่า 5 ปี ออกสู่ตลาดมากถึง 700 ตัน สร้างรายได้ให้เกษตรกรประมาณ 70 ล้านบาท โดยเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนทุเรียนคุณภาพชายแดนใต้มุ่งมั่นตั้งใจสร้างแบรนด์ภายใต้ชื่อ "บาตามัส" มีเอกลักษณ์โดดเด่นคือ "กลิ่นหอม เนื้อหนานุ่ม หวานมัน" เป็นราชาทุเรียนสามจังหวัดชายแดนใต้

 

ศาสตร์พระราชายกระดับทุเรียนภาคใต้ 

แต่กว่าจะเป็นทุเรียนคุณภาพที่ได้รับการยอมรับในเรื่องของคุณภาพได้อย่างในปัจจุบัน ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเดิมทุเรียนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้มีราคาตกต่ำมานาน เนื่องจากขาดการดูแลอย่างถูกต้อง ทำให้ทุเรียนมีปัญหาในเรื่องของโรคทุเรียนเช่นหนอนเจาะเมล็ด และทุเรียนหนามแดงทำให้ถูกกดราคารับซื้อ

 ‘บาตามัส’ ของดี 3 จังหวัดชายแดนใต้ ทุเรียนคุณภาพ ผลผลิตจาก ‘ศาสตร์พระราชา’

กฤษฎา บุญราช ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯกล่าวว่าจากปัญหาดั้งเดิมของเกษตรกรในพื้นที่ที่เผชิญปัญหาทุเรียนราคาตกต่ำเป็นเวลานาน เมื่อสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริเข้าไปดำเนินงานพัฒนาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปี 2561 มีเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนจำนวนมากร้องขอให้ช่วยเหลือให้ปิดทองหลังพระฯช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว

ยึดหลักเข้าใจ - เข้าถึง - พัฒนา

โดยกระบวนการดำเนินงานของสถาบันปิดทองหลังพระฯ ภายใต้ความร่วมมือบูรณาการจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนโดยเฉพาะส่วนราชการสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จังหวัดปัตตานี นราธิวาสและยะลา

โดยได้น้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” แนวพระราชดำริและหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพล อดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาใช้ในการทำงานในพื้นที่

เริ่มต้นจากการทำความ"เข้าใจ"พบว่า สาเหตุของปัญหามาจากคุณภาพของทุเรียนที่ขาดการดูแลที่ดีในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การดูแล การบำรุงตันไปจนถึงการเก็บเกี่ยว รวมทั้งสภาพภูมิอากาศที่ ทำให้มีหนอนเจาะเมล็ด ผลมีหนามแดง ต้องจำหน่ายแบบเหมาสวน

จากนั้นจึง "เข้าถึง" เกษตรกรโดยการคัดเลือกคนที่หัวไวใจสู้และมีความพร้อมที่จะพัฒนาคุณภาพทุเรียนมาเข้าร่วมกับโครงการก่อน โดยจัดทำคู่มือการผลิต ทุเรียนให้มีคุณภาพและจัดทำขั้นตอนในการดำเนินงานโครงการตั้งแต่ต้นทาง กลางทางและปลายทาง

 เพื่อเข้าสู่กระบวนการ "พัฒนา" เริ่มจากต้นทาง คือการให้ความรู้ในการพัฒนาคุณภาพทุเรียน ตั้งแต่การจัดการดินและน้ำในแปลง การดูแลตามระยะการเจริญเติบโต การบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กลางทางคือการติดตามความก้าวหน้าและให้คำปรึกษาในทุกขั้นตอนจนถึงการเก็บเกี่ยวให้ได้คุณภาพตามที่ตลาดต้องการคือทุเรียนต้องไม่อ่อน ปริมาณแป้งไม่ต่ำกว่าร้อยละ 32

และปลายทางคือเชื่อมโยงตลาดพันธมิตรที่ให้การสนับสนุนในการรับซื้อทุเรียน เพื่อสร้างมาตรฐานการรับซื้อ การคัดคุณภาพ และการรวบรวมผลผลิตเพื่อส่งออกไปจำหน่ายการพัฒนาคุณภาพทุเรียนประสบความสำเร็จตั้งแต่ปีแรกของโครงการฯ

 ‘บาตามัส’ ของดี 3 จังหวัดชายแดนใต้ ทุเรียนคุณภาพ ผลผลิตจาก ‘ศาสตร์พระราชา’

รายได้เฉลี่ยเกษตรกรเพิ่มจาก 6 หมื่นเป็น 2 แสนบาท

เมื่อสามารถเพิ่มผลผลิตทุเรียนจาก 800  กิโลกรัมต่อไร่ เป็น 1,571 กิโลกรัมต่อไร่ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการได้ถึง 402.02 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยจากรายละ 60,000บาท เป็น 262,731 บาทต่อปี  

นอกจากนี้จำนวนเกษตรกรที่เคยได้รับความรู้จากสถาบันฯ ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ปี 2561 – 2565  มีจำนวน 1,229 ราย จำนวนต้นทุเรียน ในโครงการมีทั้งสิ้น 48,634  ต้นในพื้นที่ปลูก 2,432ไร่ มีแปลงทุเรียนได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP รวม 770 คน และมีเกษตรกรที่สามารถเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้การผลิตทุเรียนคุณภาพรวม 40 ราย

เมื่อเทียบกับงบประมาณดำเนินการ 61.8 ล้านบาทจะสามารถคิดเป็นสัดส่วนความคุ้มค่าต่อการลงทุน 6.74 เท่า ส่วนในปี 2566 คาดการณ์จะมีผลผลิต 700 ตัน จะสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรรวม 70 ล้านบาท (คำนวณที่ราคากิโลกรัมละ 100 บาท)

ผลการดำเนินงานของโครงการฯ ยังปรับเปลี่ยนให้รายได้ของเกษตรกรจากทุเรียนจากรายได้เสริม กลายเป็นรายได้หลักของครอบครัว ยกระดับเป็นเกษตรกรสมัยใหม่ หรือ Smart Farmer ที่สามารถดูแลสวนทุเรียนอย่างเป็นระบบตามหลักเกษตรสมัยใหม่พัฒนาตนเองเป็นผู้ประกอบการ รู้จักกลไกตลาดการรวมกลุ่มที่มีอำนาจในการต่อรองราคา และวิธีบริหารจัดการที่ทันสมัย จากการติดตามผลการดำเนินงานโครงการปรับปรุงคุณภาพและปริมาณทุเรียนเพื่อเพิ่มมูลค่าในพื้นที่

“ความสำเร็จของปิดทองหลังพระที่ทำงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่องมาตลอด 5 ปี พบว่า เกษตรกรที่ไม่เคยเข้าร่วมโครงการฯ มาก่อน เริ่มเห็นถึงกระบวนการ และผลการพัฒนาของโครงการ จึงขอให้อาสาสมัครพัฒนาคุณภาพทุเรียนของสถาบันปิดทองหลังพระฯ ช่วยแนะนำให้ความรู้เกี่ยวกับการผลิตทุเรียนให้ได้คุณภาพ ซึ่งถือเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จได้ดีอย่างหนึ่งปัจจุบันเครือข่ายฯ เริ่มมีความเข้มแข็งสามารถดำเนินการได้ด้วยกลุ่มเองเพิ่มมากยิ่งขึ้น ซึ่งการดำเนินงาน โครงการในระยะต่อไปสถาบันปิดทองหลังพระฯ จะปรับเปลี่ยนบทบาทเป็นพีเลี้ยง เป็นที่ปรึกษาคอยให้คำแนะนำในการดำเนินงาน การแก้ไขปัญหาเพื่อให้กลุ่มเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนมีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่าง ยั่งยืน รวมทั้งเตรียมจะหาพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ที่ราคาดี เช่น กาแฟ มาให้ชาวบ้านทดลองปลูกในสวนทุเรียนเพื่อเป็นช่องทางเพิ่มรายได้ในอนาคต”นายกฤษฎา กล่าว


 

เกษตรกรรวมกลุ่มตั้งวิสาหกิจชุมชนทุเรียนคุณภาพ

นายเอกพล เพ็ชรพวง ประธานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนทุเรียนคุณภาพชายแดนใต้ กล่าวว่าปัจจุบันเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนคุณภาพได้มีการรวมกลุ่มกันในพื้นที่เป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งคุณภาพ 60 วิสาหกิจชุมชน และรวมกันเป็นเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนทุเรียนคุณภาพชายแดนใต้ เป็นการรวมกลุ่มเกษตรกรชาวสวนทุเรียนที่ใหญ่ที่สุดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีเกษตรกรกว่า 200 ครอบครัว ปัจจุบันมีอำนาจต่อรองกับ “ล้งทุเรียน” ที่กลุ่มสามารถต่อรองในเรื่องของราคาซึ่งล้งจะเสนอราคาวันต่อวันที่สูงกว่าตลาดกลาง จ.ยะลาประมาณกิโลกรัมละ 5 – 10 บาท นอกจากนั้นล้งจะต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนพัฒนาทุเรียนคุณภาพของกลุ่มเกษตรกรกิโลกรัมละ 2 บาท ซึ่งการกำหนดราคาและต่อรองราคาได้เองโดยเกษตรกรถือว่าเป็นมิติที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

 ‘บาตามัส’ ของดี 3 จังหวัดชายแดนใต้ ทุเรียนคุณภาพ ผลผลิตจาก ‘ศาสตร์พระราชา’

โดยกองทุนนี้จะนำไปหมุนเวียนใช้จ่ายปัจจัยการผลิต ปุ๋ย ยากำจัดศัตรูพืช และมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วย เช่น การพัฒนาแอพพลิเคชั่น "หมอนทอง" (Monthong Application) สำหรับติดตามผลผลิตทุเรียนคุณภาพทุกระยะ เพื่อวางแผนแก้ไขปัญหาการผลิตให้ได้ทันท่วงที

นอกจากนี้เงินกองทุนนี้จะนำไปพัฒนาความรู้ของเกษตรกรในการดูแลทุเรียนให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งจะทำให้เกษตรกรสามารถพึ่งตัวเองได้อย่างยั่งยืนด้วย