ส่องกฎกระทรวงยุทธภัณฑ์นิวเคลียร์ ‘ครม.’ เปิดทางไทยนำเข้าเรือรบ – เรือดำน้ำ

ส่องกฎกระทรวงยุทธภัณฑ์นิวเคลียร์ ‘ครม.’ เปิดทางไทยนำเข้าเรือรบ – เรือดำน้ำ

ครม.ไฟเขียวร่างกฎกระทรวงกลาโหมสองฉบับเปิดทางนำเข้ายุทธภัณฑ์พาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานนิวเคลียร์ เปิดทางนำเข้าเรือรบ - เรือดำน้ำจากต่างประเทศ ให้ปลัดกลาโหมอนุมัติ วางเกณฑ์ใบอนุญาตเข้ม จำกัดปริมาณการปล่อยรังสี พร้อมปรับเกณฑ์ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้เหมาะสม

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าเร็วๆนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างกฎกระทรวงการอนุญาตเกี่ยวกับยานพาหนะซึ่งเป็นยุทธภัณฑ์ที่ใช้พลังงานนิวเคลียร์หรือสิ่งอื่นใดในลักษณะเดียวกัน พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับยุทธภัณฑ์ พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอ ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้

ทั้งนี้ความหมายของ “ยุทธภัณฑ์” ตามกฎกระทรวงทั้งสองฉบับให้หมายความว่า อาวุธ เครื่องอุปกรณ์ของอาวุธ สารเคมี สารชีวภาพ วัสดุกัมมันตรังสี วัสดุนิวเคลียร์ ยานพาหนะ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ ที่อาจนำไปใช้ในการรบหรือการสงครามได้ ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา ยุทธภัณฑ์ที่ใช้พลังงานนิวเคลียร์ เช่น เรือรบของต่างประเทศ เรือดำน้ำที่ใช้พลังงานนิวเคลียร์ (ปัจจุบันยังไม่มีผู้ขอรับใบอนุญาต) 

ทั้งนี้ตามมาตรา 25/1 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 บัญญัติให้ยานพาหนะตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดให้เป็นยุทธภัณฑ์ตามมาตรา 7 ซึ่งเป็นยุทธภัณฑ์ที่ใช้พลังงานนิวเคลียร์ หรือสิ่งอื่นใดในลักษณะเดียวกันที่จะเข้ามาในราชอาณาจักร เจ้าของ หรือผู้ครอบครองยานพาหนะจะต้องได้รับใบอนุญาตตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง ประกอบกับมาตรา 5 บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมีอำนาจกำหนดกิจการอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

ดังนั้น จึงจำเป็นต้องยกร่างกฎกระทรวงการอนุญาตเกี่ยวกับยานพาหนะซึ่งเป็นยุทธภัณฑ์ที่ใช้พลังงานนิวเคลียร์หรือสิ่งอื่นใด ในลักษณะเดียวกัน พ.ศ. .... ขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้การปฏิบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตและพนักงาน เจ้าหน้าที่เป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสม มีการควบคุมกำกับดูแลที่เป็นมาตรฐานสากลซึ่งรวมถึงการควบคุมยานพาหนะทางทหารด้วย

สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง รวม 2 ฉบับ ได้แก่

 1. ร่างกฎกระทรวงการอนุญาตเกี่ยวกับยานพาหนะซึ่งเป็นยุทธภัณฑ์ที่ใช้พลังงานนิวเคลียร์หรือสิ่งอื่นใดในลักษณะเดียวกัน พ.ศ. .... เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตที่จะเข้ามาในราชอาณาจักรสำหรับยานพาหนะซึ่งเป็นยุทธภัณฑ์ที่ใช้พลังงานนิวเคลียร์หรือสิ่งอื่นใดในลักษณะเดียวกัน สรุปได้ดังนี้

1.การยื่นคำร้องขอ  ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองยานพาหนะยื่นคำร้องขอต่อกรมการอุตสาหกรรมทหารเพื่อให้ตรวจสอบ ดังนี้

1) ประวัติอาชญากรรมและลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 16 ของผู้ขอรับใบอนุญาต และผู้มีอำนาจทำการแทนนิติบุคคล เช่น บุคคลซึ่งเคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกสำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พุทธศักราช 2476 หรือพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

 2) สถานที่เก็บและวิธีการดำเนินการกับยุทธภัณฑ์ มาตรการด้านความปลอดภัย และอุปกรณ์ที่ใช้ในการเก็บ การควบคุม หรือการรักษาความปลอดภัย

 3) การยื่นคำขอรับใบอนุญาต รวมทั้งข้อมูล เอกสาร หรือหลักฐานประกอบคำขอให้ยื่นต่อกรมการอุตสาหกรรมทหารหรือยื่นโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยให้พนักงานเจ้าหน้าที่ร่วมกับสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติเข้าไปในสถานที่เก็บยุทธภัณฑ์เพื่อตรวจสอบลักษณะและประเมินมาตรการด้านความปลอดภัยในการเก็บยุทธภัณฑ์ โดยต้องมีหลักเกณฑ์ด้านความปลอดภัยให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พร้อมตรวจสอบเอกสารหลักฐาน เช่น วิธีการพิทักษ์ไม่ให้มีการแพร่ขยายวัสดุนิวเคลียร์ วิธีการประเมินและบรรเทาผลกระทบสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

2.การตรวจสอบคำขอรับใบอนุญาต  ในกรณีที่คำขอรับใบอนุญาต หรือข้อมูล เอกสาร หรือหลักฐานไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน ให้บันทึกความบกพร่องนั้นไว้ และแจ้งให้ผู้ขอรับใบอนุญาตแก้ไขเพิ่มเติมคำขอรับใบอนุญาต หรือจัดส่งข้อมูล เอกสาร หรือหลักฐานให้ถูกต้องและครบถ้วนในคราวเดียวกัน ภายใน 15 วันทำการ นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง

3.การพิจารณาคำขอรับใบอนุญาต ในกรณีที่คำขอรับใบอนุญาต รวมทั้งข้อมูล เอกสาร หรือหลักฐานถูกต้องและครบถ้วนแล้วให้ปลัดกระทรวงกลาโหมโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมยุทธภัณฑ์พิจารณาคำขอรับใบอนุญาตให้แล้วเสร็จภายใน 90 วันทำการ นับแต่วันที่ได้รับคำขอเว้นแต่กรณีที่มีเหตุผลหรือความจำเป็นไม่อาจพิจารณาให้แล้วเสร็จได้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว อาจขยายระยะเวลาการพิจารณาออกไปได้อีกไม่เกิน      2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 30 วัน ทั้งนี้ในกรณีที่ปลัดกระทรวงกลาโหมมีคำสั่งอนุญาตและลงลายมือชื่อในใบอนุญาตแล้วให้กรมการอุตสาหกรรมทหารแจ้งผู้ขอรับใบอนุญาตทราบโดยเร็ว

4. เงื่อนไขการออกใบอนุญาต  ใบอนุญาตให้เป็นตามแบบที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด อย่างน้อยต้องมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้

1) ผู้รับใบอนุญาตต้องมีสถานที่เก็บยุทธภัณฑ์ และควบคุมยานพาหนะให้ผู้ปฏิบัติงานได้รับรังสีน้อยที่สุด และต้องมิให้ได้รับรังสีเกินปริมาณที่กำหนด เช่น ปริมาณรังสียังผล 20 มิลลิซีเวิร์ตต่อปี โดยเฉลี่ยในช่วง 5 ปีติดต่อกัน ทั้งนี้ ในแต่ละปี จะรับรังสีได้ไม่เกิน 50 มิลลิซีเวิร์ต และตลอดช่วง 5 ปีติดต่อกัน จะต้องได้รับรังสีไม่เกิน 100 มิลลิซีเวิร์ต

 2) ผู้รับใบอนุญาตต้องควบคุมดูแลมิให้ผู้ปฏิบัติงานได้รับรังสีเกินปริมาณที่กำหนด เช่น

           - ปริมาณรังสียังผล (effective dose) 6 มิลลิซีเวิร์ตต่อปี

           - ปริมาณรังสีสมมูล (equivalent dose) 20 มิลลิซีเวิร์ตต่อปี สำหรับเลนซ์ของดวงตา

           3) ผู้รับใบอนุญาตต้องระมัดระวังมิให้ประชาชนทั่วไปได้รับรังสีเกินปริมาณที่กำหนด เช่น

           - ปริมาณรังสียังผล (effective dose) 1 มิลลิซีเวิร์ตต่อปี

           - ปริมาณรังสีสมมูล (equivalent dose) 15 มิลลิซีเวิร์ตต่อปี สำหรับเลนซ์ของดวงตา

4)ผู้รับใบอนุญาตต้องควบคุมดูแลมิให้พื้นที่เก็บหรือพื้นที่ควบคุมเกิดการปนเปื้อน ทางรังสีบนพื้นผิวเกิน 4 เบ็กเคอเรลต่อตารางเซนติเมตร สำหรับวัสดุกัมมันตรังสีที่สลายตัวให้รังสีบีตา รังสีแกมมา และรังสีแอลฟา ที่มีความเป็นพิษต่ำ และเกิน 0.4 เบ็กเคอเรลต่อตารางเซนติเมตร สำหรับวัสดุกัมมันตรังสีที่สลายตัวให้รังสีแอลฟาอื่นๆ

  5) ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มีเครื่องตรวจวัดปริมาณรังสีไว้กับยานพาหนะตัวผู้ปฏิบัติงาน และสถานที่เก็บ

6) เมื่อผู้รับใบอนุญาตจะนำยุทธภัณฑ์เข้ามาในราชอาณาจักร ต้องส่งคำขอแจ้งการสั่งเข้ามาหรือการนำเข้ามาซึ่งยุทธภัณฑ์ ผ่านระบบ National Single Window (NSW) ให้กรมการอุตสาหกรรมทหารไม่น้อยกว่า 2 วันทำการ ก่อนที่ยุทธภัณฑ์จะถูกนำเข้ามาในราชอาณาจักร   

 

สำหรับสาระสำคัญของกฎหมายฉบับที่ 2ได้ ร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับยุทธภัณฑ์ พ.ศ. .... เป็นการปรับปรุงการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับยุทธภัณฑ์ให้สอดคล้องกับการปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมตามพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2565

รวมทั้งสอดคล้องกับการแก้ไขอายุใบอนุญาตที่มิให้กำหนดเกิน 3 ปี นับแต่วันออกใบอนุญาต (เดิม มิให้กำหนดเกิน 1 ปี) โดยให้ยกเลิกกฎกระทรวง (พ.ศ. 2534) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530 และให้กำหนดค่าธรรมเนียมตามอายุของใบอนุญาต ดังต่อไปนี้

1.ใบอนุญาตสั่งเข้ามาซึ่งยุทธภัณฑ์ ให้ปรับตามเกณฑ์ตามบัญชี 1 ท้าย พ.ร.บ. ควบคุมยุทธภัณฑ์ (ฉ. 3) พ.ศ. 2565 (บาท) เป็นค่าธรรมเนียม 600 บาทต่อปี

2.ใบอนุญาตนำเข้ามาซึ่งยุทธภัณฑ์ ให้ปรับตามเกณฑ์ตามบัญชี 1 ท้าย พ.ร.บ. ควบคุมยุทธภัณฑ์ (ฉ. 3) พ.ศ. 2565 (บาท) เป็นค่าธรรมเนียม 600 บาทต่อปี

3.ใบอนุญาตผลิตซึ่งยุทธภัณฑ์ ให้ปรับตามเกณฑ์บัญชี 1 ท้าย พ.ร.บ. ควบคุมยุทธภัณฑ์ (ฉ. 3) พ.ศ. 2565 (บาท) เป็นค่าธรรมเนียม 30,000 บาท

4.ใบอนุญาตมีซึ่งยุทธภัณฑ์ บัญชี 1 ท้าย พ.ร.บ. ควบคุมยุทธภัณฑ์ (ฉ. 3) พ.ศ. 2565 (บาท) ค่าธรรมเนียม 600 บาท