ลุ้นคดีหุ้นในมือศาลรัฐธรรมนูญ เทียบไทม์ไลน์ ‘ศักดิ์สยาม-พิธา’

ลุ้นคดีหุ้นในมือศาลรัฐธรรมนูญ เทียบไทม์ไลน์ ‘ศักดิ์สยาม-พิธา’

"...บทสรุปสุดท้ายของ 2 นักการเมืองดังค่ายน้ำเงิน-แดง แต่อยู่คนละขั้ว จะมีผลออกมาเป็นเช่นไร ต้องอดใจรออีกสักระยะ..."

องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญอย่าง "ศาลรัฐธรรมนูญ กำลังกลายเป็น ตำบลกระสุนตก" ในตอนนี้

พลันที่มีมติเอกฉันท์รับคำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และมีมติเสียงข้างมาก 7 : 2 เสียง สั่งให้ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. กรณีกล่าวหาว่าถือครองหุ้นสื่อ จากการถือหุ้นบริษัท ไอทีวีจำกัด (มหาชน) หรือหุ้น itv จำนวน 42,000 หุ้น เข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามมิให้สมัครรับเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) ประกอบมาตรา 101 (6) หรือไม่

กลายเป็นอีกหนึ่งเงื่อนไขสำคัญทำให้ "พิธา ไม่ถึงฝั่งฝัน ถูกที่ประชุมร่วมรัฐสภา มีมติเสียงข้างมาก ไม่เห็นชอบให้มีการเสนอชื่อเขาชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรี รอบที่ 2 โดยเห็นว่า การเสนอชื่อบุคคลดำรงตำแหน่งนายกฯ เป็นญัตติ ไม่สามารถเสนอซ้ำได้ ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 41

โดยก่อนหน้านี้ที่ประชุมร่วมรัฐสภา "พิธา ก็ได้รับคะแนนเสียงไม่เกินกึ่งหนึ่ง คือไม่ถึง 375 เสียง จากทั้งหมด 479 เสียง (ส.ส. 500 คน และ ส.ว. 249 คน) ในการโหวตนายกฯรอบแรกมาแล้ว

เป็นอันว่าปิดฉาก "พิธา ขึ้นแท่นนายกฯ คนที่ 30 อย่างเป็นทางการ ส่วนในการเลือกตั้งครั้งหน้าจะได้ชิงเก้าอี้นายกฯหรือไม่ ยังมีหลายปัจจัย ทั้งจำนวนเสียง ส.ส. และการพ้นบ่วงคดีหุ้น itv ดังกล่าวเสียก่อน

อย่างไรก็ดี กระบวนการในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ กำลังถูกเพ่งเล็งจากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะเมื่อมีการนำไปเปรียบเทียบกับคดีความของ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย กรณีกล่าวหาว่าถือครองหุ้น หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ที่กวาดงานของรัฐ รวมถึงงานในกระทรวงคมนาคม หลายพันล้านบาท ปัจจุบันตัวเขาถูกศาลรัฐธรรมนูญ สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ รมว.คมนาคม เช่นกัน

ลุ้นคดีหุ้นในมือศาลรัฐธรรมนูญ เทียบไทม์ไลน์ ‘ศักดิ์สยาม-พิธา’

กรุงเทพธุรกิจ เทียบเคียงไทม์ไลน์ นับเฉพาะกระบวนการในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ ให้เห็นภาพชัดขึ้น ดังนี้

คดีหุ้นรับเหมาฯ ศักดิ์สยาม

7 ก.พ.2566 ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดยพรรคก้าวไกล จำนวน 54 คน ยื่นคำร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร(ขณะนั้น) กล่าวหาว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม (ผู้ถูกร้อง) ยังคงไว้ซึ่งหุ้นส่วนและยังคงเป็นผู้ถือหุ้นและเจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น อย่างแท้จริง ซึ่งจะทำให้ผู้ถูกร้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการหุ้นหรือกิจการของห้างหุ้นส่วน เป็นการกระทำอันเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 187

ประกอบพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 มาตรา 4 (1) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) หรือไม่ ผู้ร้องจึงส่งคำร้องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82

3 มี.ค.2566 ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์รับคำร้องกรณีดังกล่าว โดยพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้ว เห็นว่า กรณีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 วรรคหนึ่ง และพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 7(9) และให้นายศักดิ์สยาม (ผู้ถูกร้อง) ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้อง

ขณะเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์สั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค.2566 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย แจ้งให้คู่กรณีและนายกรัฐมนตรีทราบ

11 เม.ย.2566 นายศักดิ์สยาม ได้ยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 10 เม.ย.2566 ขอให้เพิกถอนคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรี

18 เม.ย.2566 ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้องของนายศักดิ์สยามแล้ว เห็นว่า กรณีตามคําร้องยังไม่ปรากฏมูลกรณีว่า มีการกระทําใดของผู้ถูกร้องที่จะเป็นการกระทําที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 91 วรรคหนึ่ง (1) และวรรคสอง ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์มีคําสั่งไม่รับคําร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย และแจ้งให้ นายศักดิ์สยาม ทราบ

14 มิ.ย.2566 ศาลรัฐธรรมนูญ ประชุมปรึกษาพิจารณาคดีกล่าวหานายศักดิ์สยาม โดยศาลรัฐธรรมนูญอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยแล้วเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณา ให้บุคคลที่เกี่ยวข้องจัดส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมต่อศาลรัฐธรรมนูญ

12 ก.ค.2566 ศาลรัฐธรรมนูญ ประชุมปรึกษาพิจารณาคดีกล่าวหานายศักดิ์สยาม โดยศาลรัฐธรรมนูญอภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยแล้วเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณา ให้บุคคลที่เกี่ยวข้องจัดส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมต่อศาลรัฐธรรมนูญ

ปัจจุบัน "ศักดิ์สยาม ยังถูกคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ รมว.คมนาคม รวมไทม์ไลน์กระบวนการในชั้นศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่ยื่นคำร้องจนถึงกรณีล่าสุดประมาณ 6 เดือน

คดีหุ้นสื่อ itv "พิธา

29 มิ.ย.2566 แสวง บุญมี เลขาธิการ กกต.ให้สัมภาษณ์ว่า การสอบสวนคดีหุ้น itv ของพิธา ค่อนข้างซับซ้อนนอกจากนี้ ยังมีผู้มาร้องเรียนกล่าวหา พิธา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 กล่าวหาว่า การถือหุ้น itv ของพิธา เข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่

แสวง ยอมรับว่า การหารือกับ ส.ว.เมื่อ 28 มิ.ย. มีการนำหลักฐานประกอบคดีหุ้นพิธามามอบให้ หลังจากนี้สำนักงานกกต.จะนำหลักฐานไปประกอบการพิจารณาคดีทั้งกรณีรู้อยู่แล้วว่าไม่มีคุณสมบัติแต่ยังลงสมัครรับเลือกตั้ง ตามมาตรา 151 พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 และรัฐธรรมนูญมาตรา 82 กรณีสงสัยคุณสมบัติของ ส.ส.จะต้องมีการเข้าชื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญ

9-11 ก.ค.2566 ที่ประชุม กกต.มีการติดตามความคืบหน้า กรณีคำร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 กล่าวหาพิธาว่าถือครองหุ้น itv เข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ โดยเบื้องต้น กกต.อ้างว่า เป็นแค่การประชุมติดตามความคืบหน้าเท่านั้น

12 ก.ค.2566 หลังจากการหารือมา 3 วัน กกต.มีมติยื่นคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยสมาชิกภาพ ส.ส.ของพิธาเข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่

วันเดียวกันช่วงบ่าย ผู้บริหารระดับสูงสำนักงาน กกต.พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ กกต.นำเอกสารหลักฐาน 3 ลังไปยื่นคำร้องกับสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ

ถัดมาไม่กี่ชั่วโมงศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่เอกสารว่า ได้รับคำร้องของ กกต.ไว้ในทางธุรการแล้ว หลังจากนี้ขั้นตอนจะเสนอเข้าคณะเล็กเพื่อกลั่นกรอง ก่อนจะบรรจุวาระเข้าที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะมีการประชุมประจำสัปดาห์ทุกวันพุธ

19 ก.ค.2566 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์รับคำร้องของ กกต. และมีมติข้างมาก 7 ต่อ 2 เสียง สั่งให้ พิธา หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. จากกรณีดังกล่าว

โดยขั้นตอนของ "พิธา ถัดจากนี้คือ จะต้องเข้าชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน (ก่อนวันที่ 1 ส.ค.) และสามารถขอขยายระยะเวลาเข้าชี้แจงได้ 2 ครั้ง (ครั้งละ 15 วัน รวม 30 วัน) โดยแหล่งข่าวระดับสูงในศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่าระยะเวลาการไต่สวนในชั้นศาล ประมาณ 3-4 เดือน

หากนับรวมไทม์ไลน์เฉพาะในชั้นศาลรัฐธรรมนูญของ "พิธา เท่ากับว่า ผ่านมาประมาณ 3 สัปดาห์ หากรวมระยะเวลาเข้าชี้แจง การขยายเวลา 2 ครั้ง และกระบวนการไต่สวนต่าง ๆ จะใช้เวลาประมาณ 5-6 เดือน

พอ ๆ กับคดีของ "ศักดิ์สยาม

แต่กรณีของ "ศักดิ์สยาม เป็นที่น่าสังเกตว่า ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติถึง 2 ครั้งคือ 14 มิ.ย. และ 12 ก.ค. ให้บุคคลที่เกี่ยวข้องส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติม แต่กลับไม่มีการระบุเงื่อนระยะเวลาแต่อย่างใด

ทำให้ไม่สามารถกำหนดไทม์ไลน์ได้ชัดเจนว่า คดีหุ้น หจก.บุรีเจริญฯของ“ศักดิ์สยามจะไปสิ้นสุดเมื่อไหร่ แตกต่างกับคดีหุ้น itv ของ”พิธาที่มีการกำหนดกรอบคร่าวๆ ไว้อย่างชัดเจน

บทสรุปสุดท้ายของ 2 นักการเมืองดัง แต่อยู่คนละขั้ว จะมีผลออกมาเป็นเช่นไร ต้องอดใจรออีกสักระยะ