3 ปมคดีหุ้น itv ‘พิธา’ ศาล รธน.เงื้อค้อนรอวินิจฉัย

3 ปมคดีหุ้น itv ‘พิธา’ ศาล รธน.เงื้อค้อนรอวินิจฉัย

"...สุดท้ายคดีหุ้นสื่อ ‘พิธา’ จะซ้ำรอย ‘ธนาธร’ หรือจะสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ รอดพ้นบ่วงดังกล่าวได้หรือไม่ ต้องติดตามอีกไม่นานจากนี้..."

ในที่สุดกระบวนการไต่สวน ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ก็เริ่มนับหนึ่งอย่างเป็นทางการ

พลันที่ ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์รับคำร้องจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กรณีกล่าวหาว่า สมาชิกภาพของ ส.ส.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่ กรณีการถือครองหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือ หุ้น itv เป็นกิจการสื่อสารมวลชนหรือไม่ พร้อมกับมีมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 เสียงสั่งให้ ‘พิธา’ หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย

สำหรับ 2 เสียงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญข้างน้อยที่ไม่เห็นชอบให้สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ของนายพิธา คือ นภดล เทพพิทักษ์ และบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์

โดยในที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2 เสียงข้างน้อยดังกล่าว มีความเห็นว่า ยังติดใจเรื่องการถือหุ้นดังกล่าวตามเอกสาร บมจ.5 หรือสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ระบุในฐานะผู้จัดการมรดกหรือไม่ และยังติดใจว่ากระบวนการควรจะมีความชัดเจนกว่านี้

สาระสำคัญในคดีการถือครองหุ้น itv ของ ‘พิธา’ มีอยู่ด้วยกัน 3 ประเด็นที่คาดว่าจะถูกนำมาไต่สวน

1.พิธา ถือครองหุ้น itv จริงหรือไม่

เรื่องนี้ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติแล้วว่า ‘พิธา’ ถือครองหุ้น itv จริง จำนวน 42,000 หุ้น นับตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา และเป็นการถือครองก่อนการเลือกตั้ง 2562 (มิได้แจ้งต่อ ป.ป.ช.กรณีเข้ารับตำแหน่ง ส.ส.แต่มีการแจ้งเพิ่มมาภายหลัง) และเป็นการถือครองระหว่างวันสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. (3-7 เม.ย. 2566) และถือครองในวันเลือกตั้ง (14 พ.ค. 2566)

2.บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือ itv ประกอบกิจการสื่อสารมวลชน เข้าข่ายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) หรือไม่

ประเด็นนี้มีความซับซ้อนอย่างมากในการตีความ เนื่องจากในบันทึกการประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี 2566 เขียนถ้อยความอ้างคำพูดของ คิมห์ ศิริทวีชัย ประธานที่ประชุม ตอบว่า ปัจจุบันบริษัทยังดำเนินกิจการอยู่ ตามวัตถุประสงค์ของบริษัท จึงเป็นที่เข้าใจว่าบริษัท itv ยังคงประกอบธุรกิจสื่ออยู่

อย่างไรก็ดีข้อมูลใหม่ที่รายการ ‘ข่าว 3 มิติ’ นำมาเปิดเผยอ้างคลิปวีดีโอบันทึกการประชุมแบบอิเล็กทรอนิกส์ ของการประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี 2566 คิมห์ ศิริทวีชัย ประธานคณะกรรมการบริษัท ตอบถึงสถานะการทำสื่อของ itv ว่า “ตอนนี้บริษัทยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ ก็รอผลคดีความให้สิ้นสุดก่อน” สวนทางกับในบันทึกการประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี 2566 ที่มีการเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ itv ก่อนหน้านี้

3 ปมคดีหุ้น itv ‘พิธา’ ศาล รธน.เงื้อค้อนรอวินิจฉัย

ขณะที่แบบนำส่งงบการเงิน (ส.บช.3) ประจำปี 2565 และหมายเหตุประกอบงบการเงินประจำปี 2565 ระบุประเภทธุรกิจที่ส่งงบการเงินปีล่าสุดคือ กิจกรรมการเผยแพร่ภาพยนตร์วีดิทัศน์และรายการโทรทัศน์ วัตถุประสงค์ สื่อโทรทัศน์ อย่างไรก็ดีระหว่างปี 2561-2562 ระบุประเภทธุรกิจไว้ว่า กิจกรรมของบริษัทโฮลดิ้งที่ไม่ได้ลงทุนในธุรกิจการเงินเป็นหลัก ส่วนปี 2563-2564 ระบุประเภทธุรกิจว่า สื่อโทรทัศน์ แต่ในส่วนสินค้าและบริการ ระบุว่า ปัจจุบันไม่ได้ดำเนินการเนื่องจากติดคดีความ แต่ในปี 2565 เพิ่งมาแจ้งในส่วนของสินค้าและบริการว่า สื่อโฆษณาและผลตอบแทนจากการลงทุน

ทว่าการนำส่งงบการเงินของ itv ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้านั้น เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2566 วันเดียวกันกับ ‘เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ’ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ร้องเรียนต่อ กกต.ให้ตรวจสอบการถือครองหุ้น itv ของ ‘พิธา’ ทำให้ ‘ชัยธวัช ตุลาธน’ เลขาธิการพรรคก้าวไกล ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดจึงมีการเปลี่ยนแปลงในส่วนสินค้าและบริการ ก่อนหน้าจะมีการเลือกตั้ง 2566 แค่เพียง 4 วันเท่านั้น (เลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566)

แต่หากเทียบเคียงกับกรณีการถือครองหุ้นบริษัท วีลัค มีเดีย จำกัด ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ของ ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ ที่ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยว่าถือครองหุ้นสื่อ มีสาระสำคัญตอนหนึ่งในคำวินิจฉัยว่า แม้บริษัท วีลัคฯ จะอยู่ระหว่างเลิกกิจการ แต่ยังไม่เสร็จชำระบัญชี ดังนั้นจะกลับมาเปิดธุรกิจสื่อใหม่อีกครั้งก็สามารถทำได้ จึงถือว่าบริษัท วีลัคฯ ประกอบกิจการสื่อสารมวลชนอยู่

3.กรณีการถือครองหุ้น itv จำนวน 42,000 หุ้นดังกล่าว ‘พิธา’ ถือในฐานะอะไร ในฐานะผู้จัดการมรดกจริงหรือไม่ หรือถือในฐานะส่วนตัว

เนื่องจากการแจ้งในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของ ‘พิธา’ กรณีพ้นจากตำแหน่ง ส.ส. ที่ส่งถึง ป.ป.ช.เมื่อ 18 มิ.ย. 2566 ป.ป.ช.เปิดเผย 5 ก.ค. แจ้งว่า ถือครองหุ้น itv ดังกล่าวในฐานะผู้จัดการมรดก โดยอ้างคำสั่งศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ในฐานะผู้จัดการมรดก โดยได้รับมอบหมายจากทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของพงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์ บิดา (เสียชีวิต) ให้รับโอนหลักทรัพย์หุ้นนี้อันเป็นกองมรดกถือครองไว้แทนทายาทอื่น

ประเด็นนี้ ป.ป.ช. อยู่ระหว่างให้ ‘พิธา’ ส่งเอกสารหลักฐาน รวมถึงสำเนาคำพิพากษาของศาลฉบับเต็ม เพื่อนำมาประกอบในการยื่นบัญชีทรัพย์สินเพิ่มเติม โดยกำหนดระยะเวลาภายใน 27 ก.ค.นี้

โดย 3 เงื่อนปมดังกล่าว คาดว่าจะถูกนำเข้าสู่การไต่สวนของศาลรัฐธรรมนูญ โดย ‘พิธา’ จะต้องนำเอกสารหลักฐานเข้าชี้แจงแก้ข้อกล่าวหากับศาลภายใน 15 วันนับแต่ได้รับคำสั่ง คือภายใน 1 ส.ค.นี้ ขณะที่กระบวนการไต่สวนจะใช้ระยะเวลาราว 3-4 เดือนจึงได้บทสรุป

ทั้งนี้ ประเด็นหุ้น itv มิได้อยู่แค่กระบวนการในศาลรัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียว ยังเหลือประเด็นในชั้นการไต่สวนของ กกต.กรณีกล่าวหา ‘พิธา’ ว่า รู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิ แต่ยังลงสมัครรับเลือกตั้ง ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 มาตรา 151 ซึ่งเป็นคดีอาญา และยังคงเดินอยู่ รวมถึงกรณีการยื่นบัญชีทรัพย์สินกับ ป.ป.ช. ในการชี้แจงประเด็นเป็นผู้จัดการมรดกหุ้น itv จริงหรือไม่ ที่ต้องชี้แจงภายใน 27 ก.ค.นี้ด้วย

สุดท้าย คดีหุ้นสื่อ ‘พิธา’ จะซ้ำรอย ‘ธนาธร’ หรือจะสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ รอดพ้นบ่วงดังกล่าวได้หรือไม่ ต้องติดตามอีกไม่นานจากนี้