ประชาชนต้องคิดปฏิรูปประเทศเชิงโครงสร้างทั้งระบบ

ประชาชนต้องคิดปฏิรูปประเทศเชิงโครงสร้างทั้งระบบ

การเมืองไทยคงวนเวียนอยู่กับการเล่นเกมของกลุ่มการเมืองที่มีอำนาจเหนือกว่าประชาชน เพราะปัญหาหลักคือ ประชาชนไทยส่วนใหญ่ยังยากจน ได้รับการศึกษาและข่าวสารคุณภาพต่ำ ฐานะทางสังคมต่ำ การจัดตั้งองค์กรภาคประชาชนน้อย

ประชาชนจึงขาดความรู้เท่าทันนักการเมืองของชนชั้นนำและมีอำนาจต่อรองน้อย นักการเมืองของชนชั้นนำ จึงสามารถใช้เงินทอง, อำนาจ, การโฆษณาชวนเชื่อ, ระบบอุปถัมภ์, การเล่นพรรคเล่นพวก ฯลฯ เอาชนะการเลือกตั้งได้เป็นผู้แทน เล่นเกมการเมือง เข้ามาเป็นรัฐบาล เพื่อหาผลประโยชน์ให้ตนเองและพรรคพวกได้มาโดยตลอด 

สิ่งที่นักเลือกตั้งเรียกว่า “ประชาธิปไตย” แท้จริง เป็นเพียงประชาธิปไตยแบบนายทุนที่มือใครยาวก็สาวได้มากกว่า ไม่ใช่ระบบประชาธิปไตย (Democracy) ที่หมายถึงประชาชนเป็นใหญ่ มีสิทธิเสรีภาพและโอกาสทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในทุกด้านอย่างแท้จริง

เช่น การลดอำนาจงบประมาณรัฐบาลกลาง กระจายอำนาจสู่องค์กรการบริหารและสภาท้องถิ่นที่ประชาชนมีส่วนร่วมเพิ่มขึ้น ภาคประชาชนสามารถควบคุมดูแล/ถอดถอนนักการเมือง แก้ไขกฎหมายเปลี่ยนแปลงนโยบายสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนจริงๆ ได้เพิ่มขึ้น

  ประชาธิปไตยหมายถึงทั้งสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคทางโอกาส ของประชาชนทุกคน ทั้งในเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

ประชาชนควรศึกษาปัญหาความด้อยพัฒนาของการเมืองไทยในเชิงเศรษฐศาสตร์การเมือง ให้เข้าใจว่า ตัวปัญหาหลักไม่ใช่แค่เรื่องกลุ่มหรือตัวบุคคลจากชนชั้นนำว่ากลุ่มไหนดีกว่ากลุ่มไหน เพราะจริงๆ แล้วพวกเขาต่างกันไม่มากนัก

ประชาชนต้องคิดปฏิรูปประเทศเชิงโครงสร้างทั้งระบบ

แต่ตัวปัญหาหลักคือ 1. ระบบโครงสร้างทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยมผูกขาด ที่เป็นบริวารบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ และ 2. ระบบโครงสร้างการเมืองและสังคมวัฒนธรรมแบบผูกขาดอำนาจโดยอภิสิทธิชนชั้นนำกลุ่มน้อย 

การจะสร้างอนาคตที่ดี ที่ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมเพิ่มขึ้นอย่างแท้จริงได้ ต้องเริ่มจากประชาชนที่มีความรู้/ตื่นตัว ช่วยกันทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ตื่นตัวสนใจเรื่องปัญหาทางการเมืองและสังคมเพิ่มขึ้นอย่างกว้างขวาง

สนใจศึกษาปัญหาและแนวทางการปฏิรูปประเทศไทยแบบวิเคราะห์อย่างวิพากษ์วิจารณ์ โดยยึดหลักวิชาการ ที่เป็นวิทยาศาสตร์ (การหาหลักฐานยืนยัน, พิสูจน์, การใช้หลักเหตุผลมากกว่าความเชื่อ) และหลักผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ในระยะยาว 

ประเด็นที่เป็นปัญหาใหญ่ของการเมืองไทยในรอบ 20 ปีหลังนี้คือ การที่ประชาชนส่วนหนึ่งคิดหรือตัดสินใจเลือกเข้าข้างชนชั้นนำกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แบบแบ่งเป็น 2 ขั้วสุดโต่ง อย่างมีอคติด้วยอารมณ์, ศรัทธา, ความเชื่อ (แล้วค่อยหาเหตุผลมาอธิบายให้เข้ากับความเชื่อของตนภายหลัง) 


ประชาชนต้องก้ามข้ามวิธีคิดหรือเชื่อในแบบเลือกข้างชนชั้นนำกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด ด้วยอารมณ์ความรู้สึกมากกว่าที่จะมีเหตุผลเพื่อคนส่วนรวม

เพราะการที่ประชาชนคงติดกับอยู่กับการเลือกชนชั้นนำข้างหนึ่งข้างใด กลายเป็นการที่ประชาชนต่างกลุ่มต่างต่อสู้กันเอง เพื่อกลุ่ม, พรรคพวกของแต่ละฝ่าย มากกว่าที่จะปกป้อง/ต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ประชาชนส่วนใหญ่ด้วยกันเองที่ยังรายได้ต่ำกว่าชนชั้นนำ ไม่ว่าจะฝ่ายไหน กลุ่มไหน อยู่มาก

ปัญหาประชาชนส่วนใหญ่ยังยากจน ขาดแคลนการศึกษา การรับรู้ข่าวสารการจัดตั้งองค์กรต่ำ มาจากสาเหตุทางโครงสร้าง 3 เรื่องใหญ่คือ
1. ปัญหาเชิงโครงสร้างระบบเศรษฐกิจการเมืองแบบทุนนิยมกึ่งผูกขาด ที่เป็นบริวารของบริษัทข้ามชาติที่สร้างความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ปัญหาความยากจน 
2. ระบบการเลือกตั้งแบบนายทุนที่เปิดช่องให้มีการซื้อเสียงขายเสียง ใช้อำนาจรัฐ, ระบบอุปถัมภ์ นโยบายประชานิยมแบบที่มุ่งหาเสียงระยะสั้น และ 
3. ระบบการศึกษา การสื่อสาร การกล่อมเกลาทางวัฒนธรรม ทำให้ประชาชนคิดด้วยอารมณ์ ความรู้สึกศรัทธามากกว่าด้วยเหตุผล พึ่งพาฝากความหวังไว้ที่ชนชั้นนำกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง 

ประชาชนต้องคิดปฏิรูปประเทศเชิงโครงสร้างทั้งระบบ

แนวทางที่จะแก้ไขสาเหตุรากเหง้าของปัญหาทั้ง 3 ข้อนี้ได้คือ การปฏิรูปเชิงโครงสร้างทั้งระบบเศรษฐกิจการและเมือง และการปฏิรูปการศึกษาและสื่อ แบบผ่าตัดถึงรากถึงโคน ไม่ใช่แค่การแก้ไขปัญหาเฉพาะเรื่อง ประเภทโครงการช่วยคนจนรูปแบบต่างๆ ซึ่งเพียงแต่บรรเทาปัญหาในแนวการให้ยาแก้ปวดระงับอาการ แต่ไม่ได้รักษาให้หายได้จริง/ยั่งยืน

คาร์ล มาร์กซ์ นักปรัชญาและนักเศรษฐศาสตร์ทางการเมืองเคยกล่าวไว้อย่างแหลมคมว่า “คนรวยจะทำทุกอย่างเพื่อคนจน ยกเว้นเพียงเรื่องเดียวคือ การลงมาจากหลังคนจน”  

เข้าใจและยืนยันเรื่องสิทธิและเสรีภาพทางเศรษฐกิจสังคมในด้านที่สำคัญ
ในฐานะพลเมืองผู้เสียภาษี (ทั้งทางตรงและทางอ้อมที่บวกเข้าไปในสินค้าต่างๆ) และเป็นเจ้าของทรัพยากรส่วนรวม ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ

และควรมีโอกาสที่จะได้รับประชาธิปไตยทั้งทางการเมือง ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ (สิทธิที่ประชาชนควรจะได้รับการกระจายทรัพย์สินและรายได้ที่เป็นธรรม) และประชาธิปไตยทางสังคม (สิทธิที่ประชาชนควรจะได้รับการศึกษาสาธารณสุข บริการทางสังคมอื่นๆ ที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง เป็นธรรม) 

คำว่า สิทธิ หมายถึงสิ่งที่เป็นของประชาชนอยู่แล้ว และประชาชนควรจะมีโอกาสได้รับสิทธิเหล่านี้ โดยที่ประชาชนไม่จำเป็นต้องรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณชนชั้นนำกลุ่มใดที่หาเสียงว่าเป็นผู้ให้สิ่งเหล่านี้ เพราะงบที่ชนชั้นนำโครงการต่างๆ ของรัฐมาจากงบประมาณประจำปี ซึ่งคือทรัพยากรและภาษีของประชาชนนั่นเอง  

ประชาชนต้องคิดปฏิรูปประเทศเชิงโครงสร้างทั้งระบบ

ประชาชนทั้งประเทศคือเจ้าของที่แท้จริงของทรัพยากรส่วนรวม เช่น แร่ธาตุ ก๊าซ น้ำมัน ป่าไม้ ทะเล แม่น้ำ ที่ดินสาธารณะ คลื่นความถี่ วิทยุโทรทัศน์ ฯลฯ ของเหล่านี้ไม่ใช่ “ของหลวง” หรือของรัฐบาล

คณะรัฐบาลเป็นเพียงตัวแทนที่ประชาชนเลือกไปเป็นผู้บริหารจัดการเศรษฐกิจการเมืองของประชาชนตามหลักประชาธิปไตย ซึ่งประชาชนควรควบคุมดูแลถอดถอนได้ ถ้าผู้บริหารขี้โกงหรือบริหารไม่ดี 

งบประมาณประจำปีของประเทศนั้นมาจากภาษีที่เก็บจากประชาชนทั้งทางตรง (เช่นภาษีรายได้) และภาษีทางอ้อม เช่นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีน้ำมัน สรรพสามิตต่างๆ ที่ประชาชนทุกคนต้องเสียโดยไม่ค่อยรู้ตัว เพราะภาษีดังกล่าวบวกเข้าไปในราคาสินค้าอยู่แล้ว

สิทธิในเรื่องปากท้องและชีวิตความเป็นอยู่ที่สำคัญ 2 เรื่อง ที่ประชาชนควรต้องศึกษาทำความเข้าใจ และหาทางเรียกร้องให้ได้มาคือ 
1. สิทธิที่ประชาชนควรจะได้เป็นเจ้าและผู้ควบคุมปัจจัยการผลิต (เช่น ที่ดิน ทุน และอื่นๆ) มีงานทำที่เหมาะสม ได้ผลตอบแทนที่เป็นธรรม ดำรงชีพอยู่ได้อย่างมีสุขภาวะดี   

2. สิทธิที่ประชาชนควรจะได้รับการศึกษาที่มีครูและการจัดการเรียนคุณภาพสูงแบบใช้งานเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาตัวผู้เรียนได้จริง อย่างทั่วถึง สถาบันการศึกษาทั่วประเทศควรมีคุณภาพใกล้เคียงกัน

เด็กเยาวชนทุกคนได้เรียนฟรี และมีทุนค่าใช้จ่ายอื่นสำหรับคนรายได้ต่ำจนถึงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 ผู้ใหญ่ได้รับการศึกษา ฝึกอบรม ที่เป็นประโยชน์อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต.