‘พิธา’ วืดนายกฯ แต่ประชาธิปไตย ‘ไม่วืด‘

‘พิธา’ วืดนายกฯ แต่ประชาธิปไตย ‘ไม่วืด‘

สรุปว่า “นักปฏิรูป” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พ่ายเสียงในสภาชวดตำแหน่งนายกฯ เสียแล้ว ซึ่งกระบวนการหลังเลือกตั้งของไทยไม่ได้สำคัญเพียงแค่ในประเทศเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และกลุ่มอาเซียนด้วย 

บ่ายวันพฤหัสบดี (13 ก.ค.) ที่ผ่านมา คนไทยต้องนั่งไม่ติดไม่ว่าฝ่ายรักหรือฝ่ายชัง กองเชียร์หรือกองแช่ง เฝ้าจอทีวีดูการถ่ายทอดสดประชุมสภา ส.ส.-ส.ว. ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมกับมีผู้รับรองชื่อถูกต้อง ไม่มีผู้ใดเสนอชื่อคนอื่นมาแข่งอย่างที่เคยคาดการณ์กันจนเป็นประเด็นให้กองเชียร์พรรคเพื่อไทยและก้าวไกลขัดแย้งกันไม่หยุด 

หลังจากนั้นเป็นการอภิปรายคุณสมบัตินายพิธา แต่บรรยากาศเหมือนการอภิปรายเรื่อง ม.112 ไปเสียอย่างนั้น ที่ลุ้นสุดๆ คือขั้นตอนการลงมติ ว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบให้นายพิธาเป็นนายกฯ โดยการขานชื่อสมาชิกรัฐสภาตามลำดับอักษร ทั้งนี้พบว่า มีสมาชิกรัฐสภาที่ปฏิบัติหน้าที่ได้รวม 749 คน เนื่องจากเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม นางสาวเรณู ตังคจิวางกูล ส.ว. ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่ง

ปิดการลงคะแนนเมื่อเวลา 17.55 น. น่าสังเกตว่า ส.ว. นั้นมีผู้ลงชื่อร่วมประชุม เพียง 216 คน จากจำนวนทั้งหมด 249 คน ขณะที่ ส.ส. มีผู้ร่วมลงชื่อเข้าประชุม 499 คนจากจำนวนทั้งสิ้น 500 คน ผลคะแนนพบว่า คะแนนที่เห็นชอบนายพิธา  324 เสียง ต่อคะแนนไม่เห็นชอบ 182 เสียง งดออกเสียง 199 เสียง สรุปว่า นายพิธา ได้รับคะแนนสนับสนุนได้ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาที่มี 499 คน หรือ 375 เสียง ไม่สามารถดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้

นอกจากคนไทยลุ้นนายกฯ แล้ว สื่อนอกก็จับตาเช่นกันต่อเนื่องมาตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อสองเดือนก่อนที่พรรคก้าวไกลได้คะแนนเสียงเป็นอันดับหนึ่ง บางสำนักรีบรายงานข่าวตั้งแต่นับคะแนนยังไม่เสร็จ สรุปว่า “นักปฏิรูป” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พ่ายเสียงในสภาชวดตำแหน่งนายกฯ เสียแล้ว ซึ่งกระบวนการหลังเลือกตั้งของไทยไม่ได้สำคัญเพียงแค่ในประเทศเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และกลุ่มอาเซียนด้วย 

กล่าวคือสัปดาห์นี้มีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนและการประชุมที่เกี่ยวข้องที่กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย ในเวทีประชุม รมว.ตปท. อาเซียนนั้นวิกฤติเมียนมาถือเป็นวาระสำคัญ อาเซียนมองว่า ไม่ควรเข้าไปข้องเกี่ยวกับรัฐบาลทหารเมียนมาเพราะไม่ปฏิบัติตามฉันทามติห้าข้อให้ก้าวหน้าเสียที แต่ไทยโดยนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศมองต่าง ยิ่งไม่คืบหน้าอาเซียนยิ่งต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับเมียนมามากขึ้น 

วิกฤติเมียนมายังคงเป็นปัญหาคาใจของอาเซียนไปอีกนาน ท่าทีของไทยในฐานะเพื่อนบ้านมีความสำคัญอย่างแน่นอนต่อประเด็นนี้ การมีรัฐบาลใหม่หมายถึงการมีนโยบายใหม่ อย่างไรเสียก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงไม่มากก็น้อย ดังนั้นใครจะเป็นนายกฯคนที่ 30 ของไทยต้องจับตากันต่อไป ผู้รักประชาธิปไตยอย่าเพิ่งใจเสีย นายพิธาอาจวืดตำแหน่งนายกฯ แต่ประชาธิปไตยยังไม่วืด  สมการการเมืองยังมีอีกหลายข้อก็ค่อยๆ แก้กันไป