91 ปี ‘อภิวัฒน์’ 2475 ปีที่ 92 ‘ประชาธิปไตย’ เดินสู่จุดเปลี่ยน

91 ปี ‘อภิวัฒน์’ 2475 ปีที่ 92 ‘ประชาธิปไตย’ เดินสู่จุดเปลี่ยน

"...เหตุการณ์รัฐประหาร 13 ครั้ง การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ถึง 20 ฉบับ สะท้อนเป็นอย่างดีว่า 91 ปี ประเทศไทยยังย่ำอยู่กับที่..."

เป็น 91 ปีที่ล้มลุกคุกคลาน ผ่านบททดสอบ ผ่านการเรียนรู้ มามากมาย แต่การเมืองไทยยังไม่มีเสถียรภาพ จนนำมาสู่การ “รัฐประหาร” ถึง 13 ครั้ง

เมื่อวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน 2475 ข้าราชการทหารและพลเรือนระดับกลางจำนวน 102 นาย ในนาม คณะราษฎร ได้ยึดอำนาจ ปฏิบัติการยึดอำนาจจบลง ใน 4 วัน

25 มิ.ย.  2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงมีราชหัตถเลขา ตอบ”คณะทหารมีความปรารถนาจะเชิญให้ข้าพเจ้า กลับพระนครเป็นกษัตริย์อยู่ใต้พระธรรมนูญการแกครองแผ่นดิน ข้าพเจ้าเห็นแก่ความเรียบร้อยของอาณาประชาราษฎร์ ไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อและได้คิดอยู่แล้วที่จะเปลี่ยนแปลงทำนองนี้ “

26 มิ.ย.2475 คณะราษฎร 6 นาย เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ ลงพระปรมาภิไธย ในเอกสาร สำคัญ 2 ฉบับ ร่าง พรบ.ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม ร่างพระราชกำหนดนิรโทษกรรม

27 มิ.ย.2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว “ภายหลังยึดอำนาจ แต่ยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากทางฝ่ายเจ้านายหรือขุนนาง ที่ได้ยอมประนีประนอม กับการยึดอำนาจ  ดังนั่น รัฐธรรมนูญฉบับ 27 มิ.ย.จึงดูเสมือนเป็นฉบับเฉพาะของคณะราษฎร …จึงเน้นความเป็น ชั่วคราว” อ้างอิงจากหนังสือ ปฏิวัติ 2475 โดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

91 ปี ‘อภิวัฒน์’ 2475 ปีที่ 92 ‘ประชาธิปไตย’ เดินสู่จุดเปลี่ยน

หลังจากนั้นการเมืองไทย ผ่านมาใช้รัฐธรรมนูญไทย 20 ฉบับ มาจากการ คณะทหาร-คณะปฏิวัติ- คณะปฏิรูปการปกครอง ยกร่าง จำนวน  10 ฉบับ มาจาก กลไกของคณะทหาร-ผ่านรูปแบบของ สภาร่างรธน., คณะกรรมการร่างรธน. 9 ฉบับ มาจากกลไกที่ประชาชนมีส่วนร่วม 1 ฉบับ ทั้งนี้มีฉบับที่ผ่านการออกเสียงประชามติ 2 ฉบับ

พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475  -  ร่างโดย คณะราษฎร และทูลเกล้าฯ ประกาศใช้ 27 มิ.ย.2475

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.2475 - คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งคณะกรรมการราษฎรตั้งขึ้นจัดทำเสนอสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบ แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศใช้ เมื่อ 10 ธ.ค. 2475

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489  - สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 เสนอญัตติให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาและลงมติให้ความเห็นชอบและนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศใช้ เมื่อ 10 พ.ค. 2489

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 [5] รัฐธรรมนูญตุ่มแดง หรือ รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม- คณะรัฐประหารภายใต้การนำของ พลโท ผิน ชุณหะวัณ นำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศใช้ เมื่อ 9 พ.ย.2490

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 -  จัดทำโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2491 แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้ เมื่อ 23 มีนา 2492

91 ปี ‘อภิวัฒน์’ 2475 ปีที่ 92 ‘ประชาธิปไตย’ เดินสู่จุดเปลี่ยน

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 - คณะรัฐประหารภายใต้การนำของจอมพล ป. พิบูลสงครามนำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 มาใช้บังคับใหม่ โดยให้สภาผู้แทนราษฎรแก้ไขเพิ่มเติมให้สมบูรณ์ขึ้น แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศใช้ เมื่อ 8 มีนาคม 2495

รัฐธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 - จัดทำขึ้นโดยคณะรัฐประหารภายใต้การนำของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ประกาศใช้ 28 ม.ค. 2502 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 - สภาร่างรัฐธรรมนูญเป็นผู้จัดทำและนำขึ้นทูลเกล้าฯ ใช้เมื่อ 20 มิ.ย. 2511

รัฐธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 - คณะปฏิวัติภายใต้การนำของ จอมพล ถนอม กิตติขจร นำเอาธรรมนูญการปกครองอาณาจักร พุทธศักราช 2502 มาแก้ไขปรับปรุงใหม่แล้วประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เมื่อ 15 ธ.ค. 2515 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 - คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งคณะรัฐมนตรีตั้งขึ้นเป็นผู้ยกร่างแล้วให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาและให้ความเห็นชอบแล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ  ใช้เมื่อ 7 ตุลา 2517

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519 - คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินทำการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ แล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย  ใช้เมื่อ 22 ต.ค. 2519

รัฐธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520 - คณะปฏิวัติภายใต้การนำของ พลเรือเอก สงัด ชลออยู่  ใช้เมื่อ 9 พ.ย. 2520

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 - คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ จัดทำขึ้นเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบ ใช้เมื่อ 22 ธ.ค. 2521

รัฐธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2534 - คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ภายใต้การนำของ พลเอก สุนทร คงสมพงษ์ ใช้  1 มี.ค. 2534 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 - สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบแล้วนำขึ้นทูลเกล้าฯ เมื่อ 9 ธ.ค. 2534

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 - สภาร่างรัฐธรรมนูญจัดทำและเสนอให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ ใช้ 11 ตุลา 2540 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 - คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)  ใช้ 1 ต.ค. 2549

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 - สภาร่างรัฐธรรมนูญจัดทำขึ้น ผ่านการทำประชามติโดยประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งและมีเสียงข้างมากเห็นชอบ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2550 โดยประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาตินำขึ้นทูลเกล้าฯ ใช้ 24 สิงหาคม 2550 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 - คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้เมื่อ 22 ก.ค. 2557 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 - คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจัดทำขึ้น ผ่านการออกเสียงประชามติโดยประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และมีเสียงข้างมากเห็นชอบ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 แล้วสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้ความเห็นชอบและนำขึ้นทูลเกล้าฯ ใช้ 6 เม.ย. 2560 

ทั้งนี้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2564 - รัฐสภา ร่วมกันแก้ไข จากการเสนอญัตติของส.ส.  แก้ไขในหมวดที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง

เหตุการณ์รัฐประหาร 13 ครั้ง การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ถึง 20 ฉบับ สะท้อนเป็นอย่างดีว่า 91 ปี ประเทศไทยยังย่ำอยู่กับที่ 

  • บทเรียน 91 ปี ‘ประชาธิปไตย’

1.พัฒนาการ ที่ ถดถอย สะท้อน ผ่าน เหตุการณ์ รัฐประหาร และความขัดแย้งรุนแรง เสียเลือดเนื้อ 2.ประชาธิปไตย ที่ใช้ต้นทุนสูง ซื้อเสียง ซื้อตำแหน่ง มโหฬาร

3. ปรับเปลี่ยนกติกา รัฐธรรมนูญ  ตามภาวะอำนาจของ’ขั้วนำ’ แต่ละยุคสมัย 4. รัฐธรรมนูญ และกติกา ประชาธิปไตย ไม่สามารถปราบคอรัปชั่นได้ 5.ปิดทางกลุ่มคนที่คิดเข้ามา ทำเพื่อผลประโยชน์ประเทศชาติ

ทว่าการเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566 การเมืองไทยเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้ง เมื่อพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ชนะการเลือกตั้ง ท่ามกลางกระแส “ประชาชน” ต้องการเปลี่ยนทิศทางของประเทศ

91 ปี ‘อภิวัฒน์’ 2475 ปีที่ 92 ‘ประชาธิปไตย’ เดินสู่จุดเปลี่ยน

ดร.ฐิติ  ชัยนาม ในฐานะประธานโครงการ สี่เสาหลัก (นักวิชาการอิสระ) ด้านรัฐศาสตร์การปกครอง มองว่า ปรากฏการณ์ของ"พรรคก้าวไกล"เป็นปรากฏการณ์ที่เห็นได้ชัดใน 3 ประเด็นสำคัญ คือ 1.ตัวผู้นำการเมือง ที่มีการแสดงออกทางเจตนารมณ์ชัดเจนที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง

2.นโยบายของพรรค ที่ไปกระทบกับโครงสร้างฐานอำนาจเดิมของสังคมไทย 3. พฤติกรรมทางรัฐศาสตร์   ชัดเจนเลย คือ เขาต้องการความเปลี่ยนแปลง แต่วิวัฒนาการของการเปลี่ยนแปลงบางครั้ง จะต้องมีขั้นตอน มีระยะ มีเวลา มีไทม์ไลน์ และบางเรื่องไม่จำเป็น ที่จะต้องไปแตะโดยเฉพาะโครงสร้างทางสังคมไทย

"ในแง่รัฐศาสตร์ประชาธิปไตยไม่ได้เป็นระบบที่ดีที่สุดในโลก แต่เรามีประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ซึ่งเรามีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง แล้วเราสามารถที่จะทำการวิวัฒนาการ ร่วมกันได้ในทุกโครงสร้างทางสังคม การแตะโครงสร้างบางอย่าง ยังเร็วเกินไปในบางเวลา"

91 ปี ‘อภิวัฒน์’ 2475 ปีที่ 92 ‘ประชาธิปไตย’ เดินสู่จุดเปลี่ยน

"ดร.ฐิติ" กล่าวว่า  ในแง่ของรัฐศาสตร์ ไม่ได้จำกัดช่วงเวลาของอายุ วัย คือทุกคนมีสิทธิเสรีภาพที่จะลงเลือกตั้ง แต่ในแง่ประเด็นของทางรัฐศาสตร์ บางครั้ง แนวความคิดทางรัฐศาสตร์ ในแนวลึก เราต้องดูว่าในการก้าวขึ้นมาในจังหวะเวลา การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ทางด้านรัฐศาสตร์คือศิลปะแห่งความงดงาม ความขัดแย้งและเปลี่ยนแปลง

“แต่กระบวนการนั้นอาจจะต้องมีความเจ็บปวด มีการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งถือว่าวันนี้"คุณพิธา" อายุยังไม่มาก ประเด็นต่างๆที่จุดกระแสวันนี้อาจจะยังไม่เกิดขึ้นในวันนี้ แต่อาจจะเป็นผลในวันข้างหน้า เพราะฉะนั้นการก้าวขึ้นของคุณพิธา ในวันนี้อุปสรรคเยอะมาก”

"ดร.ฐิติ"  กล่าวว่า ถ้าย้อนกลับไปอดีต ความขัดแย้งในบ้านเมืองเราจะเป็นลักษณะฝ่ายสนับสนุน รัฐประหารกับ ฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาล ประชาธิปไตยทำให้เกิดผลผลิตคือ สีแดงสีเหลือง นั่นเป็นจุดที่จะทำให้เกิดการปะทะขึ้น การยึดอำนาจ มีข้อดี คือมีเอกภาพในการปกครอง 

“แต่มีข้อเสียและไม่สามารถตรวจสอบระบบของการปกครองได้เลย ไม่ว่าจะเป็นไปยืมอะไรของใครมา เราก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ แล้วก็จะมีผลทางเศรษฐกิจด้วย ทีนี้ถ้าเกิดวาระนั้นขึ้นจะเป็นช่องว่างที่ทำให้ฝ่ายที่จำเป็นต้องรักษาความสงบเดินออกมา"

"ดร.ฐิติ"  เสนอทางออกว่า ทุกฝ่ายควรหาทางออกร่วมกันและควรที่จะจับมือกันประสานใจ โดยเฉพาะอย่าไปกำหนดกฎเกณฑ์ว่าคนรุ่นเก่ารุ่นใหม่ เราควรที่จะพูดว่าอย่างนั้นเรามากู้สถานการณ์ร่วมกันเป็นคนไทยหัวใจเดียวกันจับมือประสานใจกันดีไหม แล้วพากระบวนการประชาธิปไตยให้พัฒนาขึ้น

“บางเรื่องของโครงสร้างทางสังคมอย่าเพิ่งไปแตะ อย่างเช่นโครงสร้างของสังคมไทยที่เป็นเสาหลัก ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เราอย่าเพิ่งไปยุ่งตรงนั้น เราควรที่จะแก้ปัญหาทีละขั้นตอนไปก่อน ผมว่าน่าจะเป็นทางออกของสังคมไทย” 

สำหรับโอกาสการรัฐประหารจะเกิดขึ้นอีหรือไม่ "ดร.ฐิติ" กล่าวว่า ถ้าใครบอกว่ารัฐประหารจะไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย จะไม่มีใครกล้าพูดอย่างนี้ เชื่อว่าทั้ง 4 เหล่าทัพ ไม่ได้อยากจะลงมาทำ เพราะการลงมา ผลสะท้อนของสังคมโลกเกิดปัญหามากมายเลย แต่ว่าด้วยเหตุสุดวิสัยเท่านั้นกองทัพถึงจะต้องลง 

“ประเด็นอยู่ที่ว่าเราจะต้องถอยคนละก้าวเพื่อมาหาทางออกร่วมกันมากกว่า ผมเชื่อว่า ทหารยุคใหม่นี้มีความเป็นประชาธิปไตยสูง แล้วก็ไม่มีใครอยากจะลงมือทำรัฐประหาร เพราะการทำรัฐประหารผลกระทบเยอะ ผลกระทบทางเศรษฐกิจ”

" มีข้อดีประการเดียวคือ รักษาเอกภาพและความมั่นคง แต่มีผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม เพราะฉะนั้นรัฐประหารเป็นทางเลือกสุดท้ายของการตอบโจทย์ด้านการปกครอง" ดร.ฐิติ กล่าวทิ้งท้าย 

“ประชาธิปไตย” แบบไทยๆ ผ่านร้อนผ่านหนาวมา 91 ปี และก้าวเข้าสู่การ “เปลี่ยนแปลง” ครั้งยิ่งใหญ่ เมื่อ “พรรคก้าวไกล” ผู้เสนอตัวเข้ามาเปลี่ยนโครงสร้างทางการเมือง หวังหยุด “รัฐประหาร” หวังสร้างความเท่าเทียมในสังคมไทย แต่มี “ขั้วตรงข้าม” ที่ยังต่อต้าน

ดังนั้นย่างเข้าสู่ปีที่ 92 “ประชาธิปไตยไทย” อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ เดินมาสู่จุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้ง