‘ดร.ฐิติ’ มองประชาธิปไตยไทยหลังเลือกตั้ง 66 เผยทางออกแก้สังคมขัดแย้ง

‘ดร.ฐิติ’ มองประชาธิปไตยไทยหลังเลือกตั้ง 66 เผยทางออกแก้สังคมขัดแย้ง

‘ดร.ฐิติ’ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์การปกครอง เปิดมุมมองรำลึก 91 ปีวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง วิเคราะห์ก้าวต่อไปประชาธิปไตยไทยกับการเลือกตั้งที่ผ่านมา ‘ก้าวไกล’ จะจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ เผยทางออกของปัญหา อย่าเพิ่งแตะเสาหลักสถาบันฯของชาติ

เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2566 ดร.ฐิติ ชัยนาม ประธานโครงการสี่เสาหลัก (นักวิชาการอิสระ) ด้านรัฐศาสตร์การปกครอง ให้สัมภาษณ์ผ่าน ‘เนชั่นทีวี’ ช่อง 22 ถึงวันรำลึกครบรอบ 91 ปีวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง และมุมมองประชาธิปไตยกับการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา โดยระบุว่า ประชาธิปไตยไม่ได้เป็นระบอบที่ดีที่สุดในโลก แต่เราเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งเรามีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง แล้วเราสามารถที่จะทำการวิวัฒนาการร่วมกันได้ในทุกโครงสร้างทางสังคม การแตะโครงสร้างบางอย่าง ยังเร็วเกินไปในบางเวลา

"เป็นยุคของคนรุ่นใหม่ ผมมองว่าน้องๆต้องการความเปลี่ยนแปลง และต้องการแก้ปัญหาเรื่องราวที่เกิดขึ้นในประเทศ ส่วนเรื่องของกลุ่มพี่ๆ ที่เป็นคนอีกวัยหนึ่ง ก็มองเห็นปัญหาของประเทศเหมือนกัน ทั้งคู่ต่างมีมุมมองที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง แต่มีปัญหาที่ซับซ้อนเกิดขึ้น ในประเด็นเรื่องของการแบ่งขั้วแบ่งค่าย แบ่งสีแล้วก็ มีกลุ่มผลประโยชน์ ทั้งสองฝ่าย" ดร.ฐิติ กล่าว 
    
ส่วนแนวทางของคนรุ่นใหม่อาจต้องการแบบในช่วงแรกของการหาเสียง เขาอาจจะมองเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคน แต่หลังจากที่เลือกตั้งผ่านไปแล้ว ในความคิดของพวกเขา "Soft Power" ขึ้น

ดร.ฐิติ กล่าวอีกว่า ในขณะเดียวกัน สิ่งหนึ่งที่"ฝ่ายอนุรักษ" ยังมองว่ารากเหง้าของสังคมไทย โดยเฉพาะเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ เรื่องของวัฒนธรรมประเพณี บางอย่างนั้นยังสมควรที่จะดำรงเจตนารมณ์ไว้ ดังนั้นมุมมองของคนสองฝ่ายนี้จึงไม่ผิดทั้งคู่ในแง่รัฐศาสตร์ ไม่มีผิดไม่มีถูก เพียงแต่ว่าเราจะจูนเข้าหากันอย่างไรในทางออกของประเทศ

‘ดร.ฐิติ’ มองประชาธิปไตยไทยหลังเลือกตั้ง 66 เผยทางออกแก้สังคมขัดแย้ง

"ทีนี้ถ้าเกิดว่า ไม่สามารถมีทางออกได้เมื่อถึงทางตัน กระบวนการ ประชาธิปไตยจะถูกยับยั้งอยู่เหมือนเดิม พอมีการเคลื่อนไหวมีการลงถนน มีการเรียกร้องไม่เป็นไปตามกติกาประชาธิปไตย แน่นอนจะเกิดการยึดอำนาจหรือรัฐประหารเกิดขึ้นฉะนั้น ผมอยากจะให้ คนสองวัยที่มีหัวใจเดียวกันได้มีการพูดจากัน ได้มองในมุมมองที่แตกต่าง สงวนจุดต่างแสดงจุดร่วมแล้วจะหาทางออกให้กับประเทศได้” ดร.ฐิติ กล่าว 

เมื่อถามถึงชัยชนะของก้าวไกลสามารถเปลี่ยนแปลงประเทศตามที่หาเสียงได้หรือไม่ ดร.ฐิติ กล่าวว่า เสียงข้างมากไม่ได้เป็นเสียงที่ถูกต้องเสมอไป โดยเฉพาะเรื่องปรากฏการณ์ของ"พรรคก้าวไกล"เป็นปรากฏการณ์ที่เห็นได้ชัดใน 3 ประเด็นสำคัญ คือ

1.ตัวผู้นำการเมือง ที่มีการแสดงออกทางเจตนารมณ์ชัดเจนที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง

2.นโยบายของพรรค ที่ไปกระทบกับโครงสร้างฐานอำนาจเดิมของสังคมไทย

3. พฤติกรรมทางรัฐศาสตร์   ชัดเจนเลย คือ เขาต้องการความเปลี่ยนแปลง แต่วิวัฒนาการของการเปลี่ยนแปลงบางครั้ง จะต้องมีขั้นตอน มีระยะ มีเวลา มีไทม์ไลน์ และบางเรื่องไม่จำเป็น ที่จะต้องไปแตะโดยเฉพาะโครงสร้างทางสังคมไทย

"ในแง่ที่ผมสอนรัฐศาสตร์ ประชาธิปไตยไม่ได้เป็นระบบที่ดีที่สุดในโลก แต่เรามีประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ซึ่งเรามีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง แล้วเราสามารถที่จะทำการวิวัฒนาการ ร่วมกันได้ในทุกโครงสร้างทางสังคม การแตะโครงสร้างบางอย่าง ยังเร็วเกินไปในบางเวลา" ดร.ฐิติ กล่าว

‘ดร.ฐิติ’ มองประชาธิปไตยไทยหลังเลือกตั้ง 66 เผยทางออกแก้สังคมขัดแย้ง

เมื่อถามว่า สนับสนุนพรรคก้าวไกลปฏิรูปสังคม แต่บางเรื่องไม่ควรแตะหรือไม่ ดร.ฐิติ กล่าวว่า ไทม์ไลน์บางอย่างนั้นก็ไม่ควรแตะ บางอย่างควรมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ผมอยากจะให้น้องๆ"พรรคก้าวไกล" มองเรื่องของปัญหาสังคมที่เขาจับอยู่ถูกแล้ว ที่จะตรงประเด็นคือเรื่องหวย บ่อน ซ่อง ยาของเถื่อน หรือเรื่องของเศรษฐกิจที่เกิดความเหลื่อมล้ำ รวยกระจุกจนกระจาย เห็นไหมฮะจะกี่ปีก็พอดีพรรคบางพรรคที่เป็นทุนใหม่ทำไมกระแสถึงไม่ถล่มทลาย เพราะว่าการเป็นผู้นำมาตลอด ความยากจนก็ยังไม่ได้แก้ปัญหา โครงสร้างทางสังคมเศรษฐกิจ เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศที่อยากจะให้พรรคก้าวไกลรีบดำเนินการเรื่องนี้มากกว่าครับ 

ดร.ฐิติ กล่าวอีกว่า  ในแง่ของรัฐศาสตร์ ไม่ได้จำกัดช่วงเวลาของอายุ วัย คือทุกคนมีสิทธิเสรีภาพที่จะลงเลือกตั้ง แต่ในแง่ประเด็นของทางรัฐศาสตร์ บางครั้ง แนวความคิดทางรัฐศาสตร์ ในแนวลึก เราต้องดูว่าในการก้าวขึ้นมาในจังหวะเวลาขณะนี้ ถ้าสมมุติว่า"คุณพิธา"ขึ้นในขณะนี้ ประเด็นที่จะเกิดขึ้นมีอะไรบ้างในสังคมไทย ยกตัวอย่าง อาจจะเป็น Hard Power ที่ไม่ใช่ Soft Power สังคมอาจจะเกิดการปะทะอย่างรุนแรง ถ้าคนผิดทางไม่ปรับ ลดระดับบทบาทลง ความเห็นต่างที่ไม่เห็นด้วยในหลายๆอย่าง โดยเฉพาะเรื่องของมาตรา 112 หรือ โดยเฉพาะโครงสร้างทางสังคมเดิมที่อาจจะต้องการปฏิวัติ ผมใช้คำว่าปฏิรูปดีกว่านะครับ อย่างรวดเร็วนี้อาจจะยังทำไม่ได้ ดังนั้นประเด็นของนายพิธาอาจจะเจออุปสรรคและปัญหาทั้งนอกสภา และขั้นตอนต่อไป คือในสภา และก็ยังมีกระบวนการทางสังคมอีก เพราะฉะนั้นนี่คือการก้าวฝ่าด่าน

“การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ผมมองในแง่ความสวยงาม ทางด้านรัฐศาสตร์คือศิลปะแห่งความงดงาม ความขัดแย้งและเปลี่ยนแปลง แต่กระบวนการนั้นอาจจะต้องมีความเจ็บปวด มีการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งถือว่าวันนี้"คุณพิธา" อายุยังไม่มาก ประเด็นต่างๆที่จุดกระแสวันนี้อาจจะยังไม่เกิดขึ้นในวันนี้ แต่อาจจะเป็นผลในวันข้างหน้า เพราะฉะนั้นการก้าวขึ้นของ"คุณพิธา"ในวันนี้อุปสรรคเยอะมากครับ” ดร.ฐิติ กล่าว 

เมื่อถามว่า พรรคก้าวไกลอ้างว่า ได้รับเสียงสนับสนุน 14 ล้านเสียง ดร.ฐิติ กล่าวว่า อยู่ที่ช้อยส์การตัดสินใจต่อไปของการตัดสินใจที่ประกาศการขึ้นเป็นผู้นำรัฐบาล สมมุตว่าพรรคอันดับ 1 จัดตั้งไม่สำเร็จเป็นพรรคอันดับสอง เพราะฉะนั้นถ้าเกิดกรณี ปัญหานี้เกิดขึ้น จะเกิดความขัดแย้งระหว่างส้มกับแดง เพราะว่าในขณะเดียวกัน มหาชนที่เลือกเขาสิบกว่าล้านคน มีความคาดหวังกับสิ่งพันธะสัญญา เขาเรียกว่าเจตนารมณ์ที่นายพิธาประกาศไว้ต่อสัญญาประชาชน จะเป็นตัวที่ทำให้มหาชนมุ่งหวังในตัวนายพิธา และพรรคก้าวไกลอย่างมากมาย

ในขณะเดียวกันนายพิธาประกาศ แล้วว่าตัวเองเป็นว่าที่ผู้นำประเทศเป็นว่าที่นายก แต่ว่าถ้าเกิดมันเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น แน่นอน มวลชนของฝ่ายส้ม อาจจะเกิดการขับเคลื่อนขึ้น ทีนี้ถ้าเกิดว่าพรรคอันดับหนึ่งตั้งไม่ได้เป็นพรรคอันดับสอง แน่นอนก็ต้องเกิดความไม่พึงพอใจกับเครือข่ายมวลชนของสีส้ม 

ดร.ฐิติ กล่าวว่า ถ้าย้อนกลับไปอดีต ความขัดแย้งในบ้านเมืองเราจะเป็นลักษณะฝ่ายสนับสนุน รัฐประหารกับ ฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาล ประชาธิปไตยทำให้เกิดผลผลิตคือ สีแดงสีเหลือง นั่นเป็นจุดที่จะทำให้เกิดการปะทะขึ้น ต้องขออนุญาตเล่าเรื่องราวของรัฐประหารเล็กน้อย "เมื่อเสียงปืนดังขึ้น กฎหมายก็หยุดลง” เป็นภาษิตโรมันตั้งแต่สมัยซีซ่า และรัฐประหารครั้งแรกของโลก เมื่อหลายพันปี ก็ยังเป็นเงื่อนไขเดิม เป็นโบราณมากคือ เงื่อนไขก่อความไม่สงบ เกิดความขัดแย้ง เกิดปัญหาเรื่องเสถียรภาพของประเทศทั้งหมด เมื่อนั้นจึงเกิดความชอบธรรม ในสมัยซีซ่านั้นทหารจึงจำเป็นรักษาความชอบธรรม จึงมีการยึดอำนาจ

"การยึดอำนาจ มีข้อดี คือมีเอกภาพในการปกครอง แต่มีข้อเสียและไม่สามารถตรวจสอบระบบของการปกครองได้เลย ไม่ว่าจะเป็นไปยืมอะไรของใครมา เราก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ แล้วก็จะมีผลทางเศรษฐกิจด้วย ทีนี้ถ้าเกิดวาระนั้นขึ้นจะเป็นช่องว่างที่ทำให้ฝ่ายที่จำเป็นต้องรักษาความสงบเดินออกมา" ดร.ฐิติ กล่าว

ดร.ฐิติ กล่าวถึงทางออกของปัญหาว่า ทุกฝ่ายควรหาทางออกร่วมกันและควรที่จะจับมือกันประสานใจ โดยเฉพาะอย่าไปกำหนดกฎเกณฑ์ว่าคนรุ่นเก่ารุ่นใหม่ เราควรที่จะพูดว่าอย่างนั้นเรามากู้สถานการณ์ร่วมกันเป็นคนไทยหัวใจเดียวกันจับมือประสานใจกันดีไหม แล้วพากระบวนการประชาธิปไตยให้พัฒนาขึ้น และบางเรื่องของโครงสร้างทางสังคมอย่าเพิ่งไปแตะ อย่างเช่นโครงสร้างของสังคมไทยที่เป็นเสาหลัก ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เราอย่าเพิ่งไปยุ่งตรงนั้น เราควรที่จะแก้ปัญหาทีละขั้นตอนไปก่อน ผมว่าน่าจะเป็นทางออกของสังคมไทย 

เมื่อถามว่า หากพรรคก้าวไกลพลาดหวังไม่ได้เป็นรัฐบาล จะมีมวลชนลงถนนหรือไม่ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ กล่าวว่า มวลชนมีความคาดหวังเยอะในสายของ"ก้าวไกล" บวกกับการจัดตั้งคำมั่นสัญญา ฉะนั้นมวลชนของ"สีส้ม" เขาจะเป็นมวลชนธรรมชาติ แล้วสิ่งที่เราคาดคะเน จะก่อกระบวนการมวลชนที่ขึ้นเป็นหย่อมๆตามจุดต่างๆทั่วประเทศ ขณะนี้โลกออนไลน์นี่ทันสมัยมาก ดังนั้นการก่อขบวนการมวลชน การจัดตั้ง ไม่จำเป็นจะต้องมารวมกระจุกเดียว สามารถที่จะแยกกระจายไปทั่วทั้งหมดได้

‘ดร.ฐิติ’ มองประชาธิปไตยไทยหลังเลือกตั้ง 66 เผยทางออกแก้สังคมขัดแย้ง

"ฉะนั้นแนวคิดของสีส้ม น่าจะเป็นการจัดตั้งบวกกับมวลชนธรรมชาติ ซึ่งน่าจะมีการเผชิญหน้ากันระหว่างแดงกับส้ม เพราะว่าแดงเองเขาต้องการให้สายเพื่อไทยขึ้น จากกรณีนี้ ผมเชื่อว่าเป็นการปะทะกันแน่ๆระหว่างแดงกับส้ม นอกจากนี้ประเด็นการขึ้นเป็นผู้นำประเทศ จะเป็นประเด็นระหว่างพรรคเบอร์หนึ่งกับเบอร์สอง แต่ถ้ามีเงื่อนไขปัจจัยอื่น กรณี"ก้าวไกล"สร้างโจทย์ขึ้นมาอีก ก็จะมีสีเหลืองออกมา คราวนี้จะกลายเป็นสามสีพอสามสีขึ้นมาปั๊บเสถียรภาพของประเทศจะเกิดปัญหาวุ่นวาย" ดร.ฐิติ กล่าว

ดร.ฐิติ กล่าวด้วยว่า เพราะฉะนั้น ขณะนี้ฝ่ายความมั่นคงประเมินแล้วว่า จะเกิดขึ้นแน่ๆ ผมเชื่อว่าในจิตใจของประชาชนคนทั้งโลกไม่อยากจะให้เกิดการยับยั้ง กระบวนการประชาธิปไตย ทางที่ดี"คุณพิธา"กับ"พรรคก้าวไกล" ซึ่งผมเองรู้จักคนบางส่วนควรหาทางออกให้ประเทศดีไหม หรือไม่เป็นทางออกร่วมกันกับทุกฝ่ายของประเทศ

“อันนี้เราพูดในฐานะคนกลางที่ห่วงใยประเทศ ควรถอยคนละก้าว ทีนี้คำว่าถอยคนละก้าวของผม ไม่ใช่ถอยแบบยอมแพ้ แต่เป็นการถอยลงมาที่ผลประโยชน์ชาติ และประชาชน เพื่อเป็นทางเลือก ทางรอด ทางออกของประเทศ เราถอยกันคนละก้าว ทั้งคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ ถอยมายืนในจุดเดียวกันก็คือ ช่วยกันแก้ปัญหาของประเทศ” ดร.ฐิติ กล่าว

ดร.ฐิติ ยกตัวอย่างมี 4 ดวง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ประชาชนคือการปกครอง เรามาหาทางออกด้านการปกครองกันก่อนดีกว่า ดังนั้นถอยคนละก้าว แต่มายืนในจุดเดียวกันคือผลประโยชน์ชาติและประชาชน แล้วก็พัฒนากระบวนการประชาธิปไตยให้เดินหน้าไปทีละขั้นตอน 

เมื่อถามว่า ความวุ่นวาย จะทำให้มีรัฐประหารใช่หรือไม่ ดร.ฐิติ กล่าวว่า ถ้าใครบอกว่ารัฐประหารจะไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย จะไม่มีใครกล้าพูดอย่างนี้ ผมเชื่อว่า พี่ๆ ทั้ง 4 เหล่าทัพ ไม่ได้อยากจะลงมาทำ เพราะการลงมา ผลสะท้อนของสังคมโลกเกิดปัญหามากมายเลย แต่ว่าด้วยเหตุสุดวิสัยเท่านั้นกองทัพถึงจะต้องลง เพราะฉะนั้นประเด็นอยู่ที่ว่าเราจะต้องถอยคนละก้าวเพื่อมาหาทางออกร่วมกันมากกว่า ผมเชื่อว่า ทหารยุคใหม่นี้มีความเป็นประชาธิปไตยสูง แล้วก็ไม่มีใครอยากจะลงมือทำรัฐประหาร เพราะการทำรัฐประหารผลกระทบเยอะ ผลกระทบทางเศรษฐกิจ

"มีข้อดีประการเดียวคือ รักษาเอกภาพและความมั่นคง แต่มีผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม เพราะฉะนั้นรัฐประหารเป็นทางเลือกสุดท้ายของการตอบโจทย์ด้านการปกครอง" ดร.ฐิติ กล่าว