90 ปี เปลี่ยนแปลงการปกครอง “ทหาร-นักการเมือง” อุปสรรคพัฒนาประชาธิปไตยไทย

 90 ปี เปลี่ยนแปลงการปกครอง  “ทหาร-นักการเมือง” อุปสรรคพัฒนาประชาธิปไตยไทย

เข็มนาฬิกาเดินวนมาจนครบ 90 ปีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบบประชาธิปไตย เริ่มนับหนึ่งตั้งวันที่ 24 มิ.ย.2475 จนถึงปัจจุบัน แต่การเมืองไทยการปกครองของประเทศไทยยังวนลูปไม่ต่างจากเก่าก่อน

ที่สำคัญในห้วง 90 ปีที่ผ่านมา เกิดวิกฤติความขัดแย้งภายในประเทศขึ้นหลายครั้ง จนเป็นสาเหตุให้เกิดการ “รัฐประหาร” และเมื่อ “กองทัพ-ทหาร” เข้ามาถือครองอำนาจทางการเมือง ย่อมส่งผลให้ ทหารและนักการเมือง ตกเป็นคู่ขัดแย้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“กรุงเทพธุรกิจ” รวบรวมความเห็นของ “นักวิชาการ” สะท้อนบทเรียน 90 ปี การเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบบประชาธิปไตยของประเทศไทย เดินหน้า ย่ำอยู่กับที่ หรือเดินถอยหลัง

 90 ปี เปลี่ยนแปลงการปกครอง  “ทหาร-นักการเมือง” อุปสรรคพัฒนาประชาธิปไตยไทย

เริ่มกันที่  ผศ.อัครพงษ์ ค่ำคูณ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ระบุว่า ถ้าเรามองประชาธิปไตยจาก 3 มุมนี้ ถามสังคมไทยเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ต้องตอบว่ายังไม่เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ แต่อยู่กระบวนการขั้นตอนเรียนรู้ไปด้วยกัน ไม่มีใครสร้างประชาธิปไตยได้ในวันเดียว ประชาธิปไตยเป็นชีวิต ไม่ใช่คณิตศาสตร์ ไม่มีสูตรมันคือกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน แม้แต่ประเทศเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด ก็เปลี่ยนแปลงตามสถานการณ์

“ปัจจุบันมีอยู่คำเดียว ที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง หรือไม่ถูกแปลงเป็นคนอื่น คือ สภาผู้แทนราษฎร คำนี้เป็นคำว่าราษฎรคำเดียว ในรอบ 90 ปีประชาธิปไตย องค์กรที่เกิดจากคณะราษฎรอย่าง ส.ส.ทำอะไรอยู่ ไม่คิดจะฉลองที่มาของตัวเองเลยหรือ รัฐสภาทำอะไร90 ปีทำอะไรกัน” ผศ.อัครพงษ์ กล่าว

ปรากฏการณ์“ชัชชาติ”ปชต.เดินหน้า

ผศ.อัครพงษ์ มองว่า คำว่าประชาธิปไตยอยู่ในวันเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หรือ อดีต ผบ.ทบ. เทียบกับจ่าทหาร หรือพลทหารที่เข้ามาวันแรก พอถึงวันเลือกตั้งทุกคนมี 1 เสียงเท่ากัน ทุกคนเท่ากันในแง่นี้ ในกติกาที่บอกว่าทุกคนเท่ากันในตามกฎหมาย

“ถ้าประชาธิปไตยมีพอในสังคมไทย ไปได้อีกไกล ดูจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ชนะ เรายอมรับกติกา แม้เลือกตั้งท้องถิ่นแต่นั่นคือกติกาประชาธิปไตย จะเป็นใครก็ตามมีสิทธิเสนอตัวลงมา เวลาทำงานทุกคนมีสิทธิ์วิพากษ์วิจารณ์หรือชื่นชม และคุณก็มีโอกาสตอบคำถาม หรือถูกด่าอยู่แล้ว”

ผศ.อัครพงษ์ กล่าวต่อว่า สิ่งสำคัญที่สุดในระบอบประชาธิปไตยตอนนี้ ซึ่งจะนำพาไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ คือการเรียนรู้ร่วมกัน การให้โอกาสต่อกัน และความเห็นอกเห็นใจ หรือ Empathy ต้องให้เกียรติกัน ทำผิดต้องเตือนกัน ทำถูกชื่นชมส่งเสริมกันทำให้ดีขึ้น จะทำให้สังคมเรามองเห็นว่าจาก พ.ศ.2475 มา 90 ปีของเรา มันยังมีโอกาสพัฒนาได้อีกเยอะ

“ยิ่งชีพ”ชี้มีรัฐบาลเลือกตั้งไม่ถึงครึ่ง

“ยิ่งชีพ อัชฌานนท์” นักวิชาการไอลอว์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน

ผู้ที่ติดตามการเมือง การปกครองไทย และตามติดรัฐธรรมนูญ มองว่า ตลอด 90 ปีของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หากมองภาพจากมุมของรัฐธรรมนูญ พบว่าการเมืองไทยไม่มีเสถียรภาพ ไม่นิ่ง และมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งปกครองประเทศได้ไม่ถึงครึ่งของ 90 ปีที่ผ่านมา

ขณะที่สถาบันการเมืองอย่างรัฐสภา ยังพบมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบ โดยเฉพาะ ส.ว. ที่พบว่ามีที่มาหลากหลาย ทั้งแต่งตั้ง เลือกตั้ง และคัดสรร ขณะที่การได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญของประเทศ ส่วนใหญ่เริ่มต้นมาจากการรัฐประหาร แม้จะมีบางฉบับ

“รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ที่ประชาชนมีส่วนร่วม แต่ถูกฉีกไปโดยการรัฐประหาร หรือรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่มีกระบวนการยกร่างมาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารแม้จะผ่านการทำประชามติ แต่เป็นไปภายใต้การครอบงำของ คสช. ดังนั้นเชื่อว่ากระแสของการเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มาจากประชาชนจากนี้ไป จะมีเพิ่มมากขึ้น” ยิ่งชีพ กล่าว

ต้องรื้อ รธน.2560 ทิ้งทั้งฉบับ

เหตุผลที่ “ยิ่งชีพ “ มองว่าการเรียกร้องรัฐธรรมนูญของประชาชนจะมีแบบทวีคูณ ในจังหวะหลังจากนี้ เพราะเทรนด์ของกระแสของโลกที่เรียกร้องเกี่ยวกับสิทธิ์ ทั้งสิทธิ์ทางเพศ สิทธิ์ชุมชน สิทธิ์การอยู่ร่วมกันจะมีมากขึ้น อีกทั้งความคิดความเห็นต่างระหว่างคนที่เห็นคุณค่าแบบเก่า และคุณค่าแบบใหม่ ต้องการพื้นที่การอยู่ร่วมกันมากขึ้น 

"ต้องยอมรับว่ากติกาปกครองของประเทศปัจจุบันเอื้อให้กับกลุ่มอนุรักษนิยม โดยไม่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ ดังนั้นการร่วมกันออกแบบ ซึ่งหมายถึง คนที่เห็นคุณค่าแบบเก่า และคนที่เห็นคุณค่าแบบใหม่ มาออกแบบรัฐธรรมนูญร่วมกันเพื่อให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้ในสังคม จึงเป็นประเด็นที่สังคมเรียกร้องและให้ความสำคัญ กลไกที่จะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่รื้อ ปี2560 ทิ้งทั้งฉบับนั้นขณะนี้แม้จะเป็นไปได้ยาก แต่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ เพราะในปี 2567 ส.ว.ชุดปัจจุบันจะหมดวาระ” ยิ่งชีพ กล่าวและว่า

ขณะที่สภาฯ จากท่าทีของพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา เคยเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับพรรคพลังประชารัฐที่เคยเสนอเช่นกัน ดังนั้นหากภาคประชาชนร่วมกันผลักดันให้นักการเมืองรับประเด็นไปขับเคลื่อน เชื่อว่าจะทำได้ และส.ว.ไม่กล้าขวาง

ทว่า กลไกแก้รัฐธรรมนูญ อำนาจ ส.ว.อาจไม่น่ากลัวเท่า “คนเบื้องหลัง” ที่ออกคำสั่ง ดังนั้นแม้จะเปลี่ยน ส.ว. แต่หากยังมีชุดคำสั่งเดิม อาจทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ประชาสังคมคาดหวังไม่เป็นจริง  โดย “ยิ่งชีพ” ยอมรับว่ามีส่วนที่กังวล แต่ยังเชื่อว่าหากส.ส.เกินครึ่งพร้อมใจกับรับข้อเสนอไปผลักดัน คงไม่มี ส.ว.กล้าขวาง

ส่วนประเด็นของรัฐธรรมนูญ ในมุมสิทธิและเสรีภาพ “ยิ่งชีพ” บอกเล่าว่า ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ดูเหมือนให้สิทธิ เสรีภาพกับประชาชนดีขึ้น แต่เมื่อเทียบกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 และ 2550 พบว่าลดลง เพราะทั้ง 2 ฉบับก่อนหน้าให้สิทธิประชาชนในแง่การเข้าชื่อถอดถอนองค์กรอิสระ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้

“แต่ฉบับปัจจุบัน ถอดสิทธิ์ดังกล่าวออกไป แม้สิทธิ์การเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนยังคงอยู่ แต่การใช่สิทธิ์ดังว่านั้น อยู่ภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัด เช่น การเข้าชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ภาคประชาชนกว่าแสนคนเข้าชื่อเสนอ แต่ไม่ผ่านชั้นรับหลักการ เพราะมีเงื่อนไขของส.ว. จำนวน 1 ใน 3 ต้องร่วมเห็นชอบด้วย”

มั่นใจไร้ 250 ส.ว.การเมืองเปลี่ยน

อย่างไรก็ดี ในความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญปัจจุบัน พบว่ามี พรรคการเมือง อย่างเพื่อไทย และ ภาคประชาชนที่เสนอร่างแก้ไขมาแล้ว โดย “ยิ่งชีพ” เป็น 1 ในผู้จุดประเด็นการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญของภาคประชาชนฉบับที่รัฐสภาเตรียมพิจารณาเนื้อหาสำคัญคือ แก้ไขมาตรา 272 ตัดอำนาจส.ว.ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี และในวาระที่รัฐสภาจะพิจารณา ช่วงต้นเดือนกรกฎาคม

“ยิ่งชีพ” มองว่า หากส.ว.ไม่ขวางและร่วมรับหลักการ เชื่อว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญต่อการเมืองไทย หลังเลือกตั้ง เพราะไม่มี 250 เสียงของส.ว.ร่วมกำหนดตัวว่าใครจะเป็นนายกฯ หลังเลือกตั้ง แต่หากถึงวาระนี้แล้ว ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ของประชาชนยังถูกคว่ำ อาจเกิดภาพที่ไม่อยากให้เกิด ซึ่งมาจากความโกรธแค้นของประชาชน ปะทุขึ้นได้

รธน.เครื่องมือทหาร-นักการเมือง

รศ.ตระกูล มีชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า นับตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 เป็นต้นมา รัฐธรรมนูญเป็นเพียงเครื่องมือในการเข้าสู่อำนาจ ฉะนั้นที่ผ่านมาจึงมีความพยายามในการที่จะสร้างเครื่องมือขึ้นมาเพื่อที่จะคุมไว้ซึ่งอำนาจของตนเอง

“แต่คราใดที่เครื่องมือตรงนี้ไม่ตอบสนองในการใช้เพื่อที่จะมีอำนาจหรือคงไว้ซึ่งอำนาจก็จะมีการฉีกหรือทำลายเครื่องมือนั้นเพื่อจะสร้างเครื่องมือขึ้นมาใหม่เพื่อเป็นเครื่องมือที่เหมาะกับตัวเอง ฉะนั้นหลักการเหล่านี้จึงเป็นหลักการที่ขัดต่อการคงไว้ซึ่งความเป็นสถาบันทางกฎหมายเพื่อให้ทุกคนยึดถือและปฏิบัติ”

ดังนี้ เราจึงเห็นได้ว่าไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะถูกเขียนไว้ดีอย่างไร แต่เมื่อเป็นอุปสรรคต่อการเข้าสู่อำนาจของกลุ่มบุคคลที่ไม่ได้มีแต่แค่ทหาร เพราะ ในช่วง 4-5 ทศวรรษที่ผ่านมา เราจะพบว่านักการเมืองก็ใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือในการเข้าสู่อำนาจ และการรักษาอำนาจของตัวเอง ฉะนั้น ที่ผ่านมารัฐธรรมนูญจึงเป็นคล้ายๆ กับของเล่นของผู้มีอำนาจ อยากจะใช้ก็ใช้ ไม่อยากใช้ก็เปลี่ยนแปลง หรือแก้ไขหรือทำลาย

ซัดไม่สนใจปัญหาประชาชน

รศ.ตระกูล มองอีกว่าตั้งแต่ปี 2517 เป็นต้นมา แม้รัฐธรรมนูญจะมีการระบุบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการรักษาอำนาจอธิปไตยความเป็นอยู่ของประชาชน แต่กลับพบว่ามีการบิดเบือนโดยผู้มีอำนาจทั้งฝ่ายทหารและฝ่ายการเมืองโดยไม่ให้ความสนใจกับประเด็นเหล่านี้

แม้กระทั่งร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่มีการมองว่าเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด ยังมีความวิตกกังวลและเกรงกลัวว่าจะให้อำนาจประชาชนมากเกินไป ฉะนั้นหากเราคิดแค่ว่ารัฐธรรมนูญคือเครื่องมือในการที่จะเข้าสู่อำนาจ ก็ไม่ต้องคิดว่าจะได้แล้วธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย

ตอกย้ำชัดจากช่วงที่ผ่านมา ซึ่งมีการเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน แต่กลับพบว่าไม่ได้รับความใส่ใจ หรือมีการคว่ำในท้ายที่สุด ก็เกิดจากการที่ผู้ร่างไม่ไว้ใจประชาชนแต่มองว่าประชาชนจะต้องทำตามในสิ่งที่ตัวเองกำหนดไว้เท่านั้น แต่ไม่ให้อำนาจประชาชนในการเสนอร่างแก้ไข หรือให้อำนาจในการออกเสียงประชามติ ให้ความเห็นชอบของรัฐธรรมนูญที่พวกเขาเสนอ โดยอ้างแต่เพียงว่า ประชาชนไม่มีความรู้เพียงพอ

“รัฐธรรมนูญของเราที่ผ่านมาทุกฉบับ จึงกลายเป็นรัฐธรรมนูญของชนชั้นนำทางการเมืองชนชั้นนำทางราชการชนชั้นนำทางปัญญาชน อย่าอ้างว่ารัฐธรรมนูญมาจากการออกเสียงประชามติ เพราะการออกเสียงประชามติที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งไม่ใช่การออกเสียงตามหลักการที่ถูกต้องตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย”

โดยเรามักจะอ้างว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2540 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนซึ่งเรายอมรับในระดับหนึ่งว่า กระบวนการร่างที่ให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญมีที่มาจากประชาชน บทบัญญัติต่างๆ ก็ถือว่าเป็นบทบัญญัติที่อยู่ระดับที่พอยอมรับได้ แต่หลังจากนั้นแล้ว บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญถูกบิดเบือนไปจากเจตนารมณ์ โดยนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง

ขณะเดียวกัน เรามีการสร้างกลไกคือ กระบวนการศาลรัฐธรรมนูญ แต่ก็ไม่ได้เป็นกระบวนที่เป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิ และเสรีภาพของประชาชนตอกย้ำจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญหลายครั้งที่ออกมา ที่ไม่ได้สะท้อนไม่ได้สะท้อนการคงไว้ซึ่งเจตนารมณ์ของประชาชนแต่อย่างใด หน่วยงานรัฐที่ได้อำนาจมาแล้วก็มีการใช้อำนาจเพียงเพื่ออาณัติของตนเองโดยไม่ได้สนใจประชาชนต่างๆเหล่านี้จึงเป็นปัญหาใหญ่ของแล้วธรรมนูญไทยทั้งหมด

ห่วงค่านิยมการเมืองตะวันตก

ด้าน รศ.ดร.ปกรณ์ ปรียากรณ์ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านการเมือง มองว่า การพัฒนาทางการเมืองเติบโตไปมาก ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์อะไร ที่ทำให้การเมืองออกนอกลู่นอกทาง ประชาชนก็มักจะออกมาตีกรอบ มีส่วนร่วม ไม่ว่าฝ่ายไหนก็แล้วแต่ในเชิงเนื้อหาทุกคนมีภาวะเติบโตทางความคิด แต่ปัญหาอยู่ที่สถาบันทางการเมือง เราไม่มีพรรคการเมืองที่เป็นสถาบันการเมือง เพราะไม่สามารถไปสู้กับพรรคที่มีนายทุนเป็นเจ้าของได้ ทำให้ทิศทางทางการเมืองที่ควรจะเดินไปไกล ก็มีอุปสรรค ชาวบ้านจะเข้าใจใครเป็นเจ้าของพรรคการเมือง

สิ่งที่ห่วงมี 3 ประเด็น 1.เราต้องยอมรับประเทศไทย เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข จุดนี้ที่ทำให้การเมืองบ้านเราเข้มแข็งอยู่ได้ ถ้าใครก็แล้วเสนอรูปแบบทางการเมืองที่แตกต่างไปจากนี้ จะมีความยากในการดำเนินการทางการเมือง อันนี้เห็นได้ชัดเจน

2.การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองบางครั้ง เราไม่ได้ดำเนินโดยฐานพรรคการเมืองเป็นส่วนใหญ่ แต่อาศัยฐานของบุคคลเป็นเจ้าของพรรค ไม่ว่าฝ่ายรัฐบาล หรือฝ่ายค้านรวมถึงพรรคเล็ก ไม่ได้เป็นฐานประชาชนจริงๆ สังเกตว่าเราพยายามที่จะนำเอาหลักการพรรคการเมืองในตะวันตกมาใช้ มันก็ใช้ไม่ค่อยได้ เลยทำให้เกิดภาวะชะงักงัน

3.การปฏิรูปการเมืองมันยากตรงที่ เราไม่สามารถที่จะทำให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันที่เข้ามาช่วยเราได้จริงๆ ในเชิงการปฏิรูปการเมือง ความขัดแย้งทางการเมือง มาจากความขัดแย้งส่วนบุคคล

“ทุนการเมือง”ปัญหาใหญ่ปชต.

รศ.ดร.ปกรณ์ ระบุว่า ทุนเป็นใหญ่ทางการเมืองไม่สำคัญ การเมืองในระบอบประชาธิปไตยเอื้อต่อการใช้ทุนอยู่แล้ว แต่อยู่ที่ว่าเราใช้เพื่อประโยชน์ของใคร พูดตรงๆ ถ้าจะเล่นการเมืองแล้วไม่มีทุน ไม่มีทางเลย เพียงแต่ว่าทุนมาอย่างไรเท่านั้นเองเราไม่ได้รังเกียจนายทุน ในทางธุรกิจทำให้ประเทศเจริญได้ แต่ทำไมนายทุนส่วนใหญ่ถึงไม่ลงมาทำการเมือง

“คนที่ลงมาก็ต้องการผลตอบแทน เราไม่สามารถตรวจสอบการทำงานในลักษณะนี้ได้เต็มที่ ผมยืนยันว่าปัญหาการเลือกตั้งอยู่ที่ปาร์ตี้ลิสต์ ลองกลับไปใช้แบบเดิม ผมคิดว่าจะแก้ปัญหาได้เยอะ คนดีๆ มีโอกาสเข้ามาได้มาก" ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านการเมือง ทิ้งท้าย