ฝ่ายแค้นหักหลัง ฝ่ายค้านหักดิบ ชิง"ประธานสภา" จับตาแหกโค้ง

ฝ่ายแค้นหักหลัง ฝ่ายค้านหักดิบ  ชิง"ประธานสภา" จับตาแหกโค้ง

ทั้ง "ฝ่ายแค้น-ฝ่ายค้าน” ที่กำลังรอจังหวะ “เข้าชาร์จ”  กว่าจะได้ตัว “ประธานสภา” คนที่ 32 ก้าวไกลยังต้องเจออะไรอีกมาก 

หลังจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง รับรองผล ส.ส.ครบทั้ง 500 คน สัญญาณจากนี้ ต้องจับตาไปที่การประชุมสภานัดแรก เพื่อเลือก “ประธานสภาผู้แทนราษฎร” เพื่อทำหน้าที่ประธานรัฐสภาโดยตำแหน่ง ภายใน 15 วันตามที่กฎหมายกำหนด 

จนถึงเวลานี้ แม้จะมีการหยิบยกผลหารือของ “ทีมเจรจา” ที่อ้างว่ามีความเห็นคืบหน้า 70-80% โดยทิศทางจะไปลงล็อกตรงที่ตำแหน่งประธานสภาฯ จะเป็นคนของพรรคก้าวไกล ขณะที่รองประธานสภาจะเป็นคนของเพื่อไทยทั้ง 2 คน

ท่าทีฝั่ง “ก้าวไกล” เดินเกมรวบรัดตัดตอนปิดดีล เตรียมเสนอ 3 รายชื่อแคนดิเดตประธานสภา ทั้ง ณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคฝ่ายกฎหมาย ธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.กทม. และ ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก ต่อที่ประชุม 8 หัวหน้าพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล

ต่างจาก “พรรคเพื่อไทย” ที่แม้แกนนำคนสำคัญ อาทิ “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองหัวหน้าพรรค รวมถึงแกนนำบางส่วน จะออกมาพูดในเชิงหลักการ ตำแหน่งประธานสภาควรเป็นของพรรคลำดับ 1 ขณะที่พรรคลำดับ 2 ซึ่งมีส่วนต่าง ส.ส.ห่างกันไม่มากก็ควรเหมาทั้ง 2 รองประธาน

ฝ่ายแค้นหักหลัง ฝ่ายค้านหักดิบ  ชิง\"ประธานสภา\" จับตาแหกโค้ง

ทว่า ความเคลื่อนไหวในพรรคเพื่อไทยเองยามนี้ กลับเผชิญแรงกระเพื่อมอย่างหนัก ตอกย้ำด้วยการปล่อย “ไลน์หลุด” ของส.ส.ที่ซัดแรงถึงการให้สัมภาษณ์ของแกนนำในทำนองยกตำแหน่งประธานสภาให้ก้าวไกล  เหมือนว่า “แกนนำ” ไม่ยึดโยงกับ ส.ส. แต่ส.ส.มีหน้าที่รอฟังคำสั่งอย่างเดียว

ฉะนั้น แม้ยามนี้พรรคก้าวไกลจะพยายาม “หักดิบ” ปิดจ๊อบศึกชิง “ประธานสภา” ให้เป็นของพรรคตนเอง โดยเล็งผลลัพธ์ กลเกมการเมืองที่จะเกิดขึ้นในเบื้องหน้า 

แต่ด้วยสัญญาณที่เกิดขึ้นเวลานี้ บอกเลยว่า เกมเพิ่งเริ่มต้น ตราบใดที่เกมยังไม่โอเวอร์ โอกาสพลิกผันแพ้-ชนะก็ยังสามารถเกิดได้ทุกเมื่อ  “ด่านโหด”จริงๆ จึงอยู่ในสภา โดยเฉพาะ“วันลงมติ” 

บทเรียนในอดีต ก็มีให้เห็นกันมานักต่อนัก ส.ส.ลุกขึ้นเสนอ“หักดิบ”กันกลางสภา หรือ ส.ส.เดินออกจากห้องประชุมไปแป๊บเดียว กลับเข้ามาอีกทีผลโหวตพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ ถือเป็นภาพคุ้นชินที่เกิดขึ้นในสภานับครั้งไม่ถ้วน

 

ฝ่ายแค้นหักหลัง ฝ่ายค้านหักดิบ  ชิง\"ประธานสภา\" จับตาแหกโค้ง

ยิ่งเวลานี้ บรรดา “ฝ่ายแค้น-ฝ่ายค้าน” กำลังรอจังหวะ “เข้าชาร์จ” ด้วยแล้ว  “ข่าวปล่อย-ข่าวปั่น” ที่หลุดออกมาไม่เว้นแต่ละวัน จึงเป็นการตอกย้ำว่า กว่าจะได้ตัว “ประธานสภา” คนที่ 32 ก้าวไกลยังต้องเจออะไรอีกมาก 

ล่าสุด มีการปล่อยข่าวสูตร “ประธานสภาปรองดอง”  ผสานระหว่างขั้วประชาธิปไตย และขั้วรัฐบาลเก่า สานฝัน “สุชาติ ตันเจริญ” คุมบัลลังก์นิติบัญญัติอย่างสมใจ

สอดรับกับเคลื่อนไหวภายใน "สภาหินอ่อน" ก่อนเปิดประชุม ท่ามกลางข่าวคราวการเดินเกมชิงเสียงสู้

ขณะเดียวกันต้องไม่ลืมว่า สภาชุดที่ผ่านมา ได้สะท้อนให้เห็นแล้วว่า เต็มไปด้วย “ชั้นเชิงการเมือง” และ “สารพัดกลเม็ด” ของบรรดาสมาชิก

 

ฝ่ายแค้นหักหลัง ฝ่ายค้านหักดิบ  ชิง\"ประธานสภา\" จับตาแหกโค้ง

ยกตัวอย่างที่ใกล้เคียงกันคือ การเลือกประธานสภาเมื่อปี 2562 ที่ป่วนตั้งแต่นัดแรก ท่ามกลางกระแสเกมลับ-ดีลลึกที่เกิดขึ้น  โดย “วีระกร คำประกอบ”ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ ชิงเกมเสนอญัตติ “ยื้อโหวต” ประธานสภา 

โดยมีชนวนเหตุมาจาก ดีลที่ยังไม่ลงตัวระหว่างพรรคพลังประชารัฐ ที่วางตัว “สุชาติ ตันเจริญ” และ พรรคประชาธิปัตย์ที่เสนอ “ชวน หลีกภัย” ชิงตำแหน่งเดียวกัน

  เวลานั้น “2พรรค” มีสัญญาใจว่า พลังประชารัฐจะยอมยกตำแหน่งให้ “ชวน”ภายใต้เงื่อนไขการจับมือร่วมรัฐบาล  แต่เมื่อปชป.ยังไม่ตอบตกลง พปชร.ก็กลัว ปชป.หักหลัง จึงเป็นที่มาของการเสนอยื้อโหวตออกไป

ฝ่ายแค้นหักหลัง ฝ่ายค้านหักดิบ  ชิง\"ประธานสภา\" จับตาแหกโค้ง

ทว่า เมื่อเข้าสู่ขั้นตอนการลงมติ ว่าจะ “เลื่อน-ไม่เลื่อน” วาระดังกล่าว ปรากฏว่า 248 ต่อ 246 เสียง “ไม่เห็นด้วย”ให้มีการเลื่อนวาระ เฉือนกันไปแค่ 2 คะแนน

โดยเสียง พปชร.ที่หายไปอยู่ที่ “5 ส.ส.” ที่โหวตสวนลงมติ “ไม่เห็นด้วย” กับญัตติที่พรรคตนเองเสนอ ก่อนที่ต่อมาจะอ้างเหตุผลในเรื่องการ “ลงคะแนนผิด”  แต่เมื่อการทักท้วงไม่เป็นผล ที่สุดสภาจึงเข้าสู่การลงมติเลือกประธานสภา ทำให้ “ชวน” ได้เป็นประธานสภาไปในที่สุด 

ศึกครั้งนั้น นำมาซึ่งกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการ “วางยา”กันภายในซ้ำ สะท้อน“เกมลับ-ดีลลึก”ที่เกิดขึ้นทั้ง 2 ขั้ว ครั้งนี้ก็อาจซ้ำรอย ต้องจับตาไปที่วันโหวตเลือก“ประธานสภา”โดยเฉพาะบรรดา “ฝ่ายค้าน-ฝ่ายแค้น”ที่กำลังรอจังวะเอาคืนอยู่ ณ เวลานี้