หาก “เศรษฐา” รอดด่านนี้ ต่อไปก็ไม่มีอะไรต้องกลัว?

หาก “เศรษฐา” รอดด่านนี้ ต่อไปก็ไม่มีอะไรต้องกลัว?

ดูเหมือนเรื่องที่เกิดขึ้นจะเกี่ยวข้องกับ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ นายพิชิต ชื่นบาน ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เท่านั้น

แต่หลายคนกลับเชื่อว่า ไม่แค่ “เศรษฐา” เท่านั้นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแต่งตั้ง “พิชิต” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่นายพิชิต เป็น “ทนายความ” ของ “ตระกูลชินวัตร” และเคยเป็น “ทนายคู่บุญ” ของ นายทักษิณ ชินวัตร มาตลอด   

ทำให้ กรณีศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 6 ต่อ 3 รับเรื่อง นายเศรษฐา แต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ขัดรัฐธรรมนูญเอาไว้วินิจฉัย และ มติ 5 ต่อ 4 จะไม่ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ตามคำร้อง โดยยกคำร้องกรณี “พิชิต” ต้องพ้นจากตำแหน่ง เพราะเจ้าตัวชิงลาออกเสียก่อน

ถูกจับตามองเป็นพิเศษ และทำให้กระแสวิเคราะห์ออกมาทั้งสองด้าน คือ ทั้งมีโอกาส “รอด” และ “ไม่รอด” เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน 

ทั้งนี้ เนื่องมาจากประธานวุฒิสภา ส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่ กรณีสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 40 คน ยื่นคำร้องต่อประธานวุฒิสภา (ผู้ร้อง) ว่านายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี (ผู้ถูกร้องที่ 1) ได้นำความกราบบังคมทูลฯ เพื่อโปรดเกล้าแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ผู้ถูกร้องที่ 2) เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้ง ๆ ที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่า ผู้ถูกร้องที่ 2 ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากผู้ถูกร้องที่ 2เคยถูกศาลฎีกามีคำสั่งจำคุกเป็นเวลาหกเดือน ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เป็นบุคคลที่กระทำการอันไม่ซื่อสัตย์สุจริตและมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) และ (5) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องทั้งสองสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่ ผู้ร้องจึงส่งคำร้องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82

ประเด็นที่ถือว่า เป็น “จุดตาย” ของฝ่ายรัฐบาลเศรษฐา ก็คือ การดูเบาปัญหา ไม่ซื่อสัตย์สุจริตและมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ซึ่งเข้าลักษณะต้องห้ามเป็นรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ 2560นั่นเอง 

เห็นได้ชัด เมื่อย้อนกลับไปดู หนังสือที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ขอคำปรึกษาจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ปรากฏว่า ไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้หรือไม่? เพราะไม่ได้ถามความเห็นแต่อย่างใด

หรือยึดมั่นความคิดตัวเอง เชื่อว่า ไม่ผิด หรือผิดก็เล็กน้อยไม่ร้ายแรง เชื่อว่าบิดพลิ้ว แก้ตัวได้หรือไม่

สำหรับหนังสือ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ส่งตอบกลับข้อหารือของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรื่องขอหารือเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรี ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยสอบถามไปเมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2566 และทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ทำหนังสือตอบกลับเมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2566 

เนื้อหาในหนังสือตอบกลับ ลงชื่อนายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ระบุว่า ตามหนังสือที่อ้างถึง สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีขอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรี เฉพาะตามมาตรา 16 (6) ประกอบกับมาตรา 98 (7) และมาตรา 160 (7) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ความละเอียดทราบแล้ว นั้น

คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้พิจารณาข้อหารือดังกล่าว โดยมีผู้แทนสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และผู้แทนสำนักงานศาลยุติธรรม เป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริง และมีความเห็นในแต่ละประเด็น ดังนี้

ประเด็นที่หนึ่ง เห็นว่า มาตรา 160 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเป็นบทบัญญัติที่กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลซึ่งจะมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี โดยใน (6) ของมาตราดังกล่าวบัญญัติว่า รัฐมนตรีต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 ซึ่งมาตรา 98 (3) กำหนดลักษณะต้องห้ามไว้ว่า “เคยได้รับโทษจำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงสิบปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ” 

ดังนั้นการได้รับโทษจำคุกไม่ว่าโดยคำพิพากษา หรือคำสั่งใดจึงเป็นลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี บุคคลซึ่งเคยได้รับโทษจำคุกในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล จึงเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามดังกล่าว เว้นแต่บุคคลนั้นได้พันโทษเกินสิบปีแล้ว หรือได้รับโทษจำคุกในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ อันเป็นข้อยกเว้นที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้

ประเด็นที่สอง เห็นว่า มาตรา 160 (7) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติไว้ชัดเจนว่า รัฐมนตรีต้องไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวไม่รวมถึงคำสั่งให้จำคุก ดังนั้นผู้ซึ่งจะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี และผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี จึงต้องไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก

ทั้งนี้การให้ความเห็นในกรณีนี้เป็นการตอบข้อหารือตามที่ผู้แทนสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ขี้แจงต่อกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ว่าประสงค์จะขอหารือเฉพาะกรณีมาตรา 16 (6) ประกอบกับมาตรา 98 (7) และมาตรา 160 (4) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเท่านั้น

อนึ่งข้อหารือนี้เกี่ยวข้องกับการพิจารณาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยอันเป็นหน้าที่ และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัย การวินิจฉัยชี้ขาดเป็นที่สุดย่อมเป็นหน้าที่ และอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ การให้ความเห็นในกรณีนี้ จึงเป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการในการบริหารราชการแผ่นดินเท่านั้น

ท้ายหนังสือตอบกลับ ตอกย้ำความผิดพลาดอย่างมหันต์ของรัฐบาล ที่มองข้าม ประเด็น “ไม่ซื่อสัตย์สุจริตและมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง”

ส่วนการแต่งตั้ง “พิชิต” เป็นรัฐมนตรี รัฐบาลอาจยึดตามที่หารือคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ได้คำตอบชัดว่า พ้นโทษเกิน 10 ปี ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่ง “พิชิต” ไม่ติดปัญหาเรื่องนี้แล้ว 

ประเด็นที่น่าวิเคราะห์ตามมา ไม่ว่าคำวินิจฉัยของ ศาลรัฐธรรมนูญ จะออกมาอย่างไรก็น่าสนใจ

เพราะถ้า “เศรษฐา” ไม่รอดเงื้อมมือศาลรัฐธรรมนูญ ถูกวินิจฉัยพ้นสภาพนายกรัฐมนตรี ก็จะทำให้คณะรัฐมนตรี พ้นจากตำแหน่งตามไปด้วย

จากนั้น นำไปสู่การเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่อีกครั้ง จะเป็นใคร เบอร์สอง อย่าง “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร จะถูกผลักดันโดยไม่ต้องรอให้สุกงอมไปกว่านี้อีกแล้ว หรือจนกว่าจะพร้อม หรือไม่ หรือจะเลือก “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” จากพรรคอื่น ด้วยเหตุใด ซึ่งถ้าไม่มีอะไรเหลือบ่ากว่าแรง เชื่อว่า “ทักษิณ” และพรรคเพื่อไทยคงไม่ยอม รวมถึงการพลิกขั้ว กลับมาจับมือกับพรรคก้าวไกล จัดตั้งรัฐบาล จะเป็นไปได้หรือไม่ ด้วยเงื่อนไขอะไร

ดูเหมือนกว่าจะฟอร์มรัฐบาล และเลือกนายกรัฐมนตรีได้ กระแสเหล่านี้ก็คงจะร้อนแรงไม่แพ้ครั้งก่อน แต่ก็คงไม่ใช่ปัญหา ถ้าทุกอย่างยังเป็นไปตามครรลองของรัฐธรรมนูญ

ที่สำคัญ นอกจากความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญจะถูกบันทึกแล้ว ยังสร้าง “บรรทัดฐาน” การแต่งตั้ง “รัฐมนตรี” ของ “นายกรัฐมนตรี” ด้วย ว่า ต้องยึดคุณสมบัติซื่อสัตย์สุจริต มีมาตรฐานทางจริยธรรมสูงเป็นที่ประจักษ์อย่างเคร่งครัด ไม่ใช่ตั้งใครก็ได้ ที่เป็นการตอบแทนความดีความชอบส่วนตัว ต่อให้มีปูมหลังไม่ซื่อสัตย์สุจริต ก็ยอม  

ความจริง ต้องยอมรับว่า นี่คือ ข้อเด่นของรัฐธรรมนูญ 2560 อีกข้อหนึ่ง ที่กำหนดคุณสมบัติการเป็น “รัฐมนตรี” เอาไว้อย่างเคร่งครัด หลังจากก่อนหน้านี้ การแต่งตั้งรัฐมนตรี มีการเล่นเส้นเล่นสาย เล่นพรรคเล่นพวก มีคนที่ต้องตอบแทนบุญคุณ มีนายทุนที่ต้องยกเก้าอี้ให้ รวมทั้งซื้อ-ขายตำแหน่ง เป็นว่าเล่น จนแทบไม่มีใครสนใจเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตมากนัก จนกว่าจะมีการขุดคุ้ยขึ้นมาตีแผ่ แต่ถ้าไม่ถูกตีแผ่ ก็ไม่มีใครทำอะไรได้ หรือ แม้แต่ถูกตีแผ่ ก็ปกป้องกันจนถึงที่สุด นี่คือ สิ่งที่คนไทยรับรู้กันมาตลอด 

กรณี ถ้า “รอด” เงื้อมมือศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าเหตุผลใด สิ่งแรกที่จะเกิดขึ้นก็คือ ข้อห้ามในเรื่องไม่ซื่อสัตย์สุจริต เคยทำผิดมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงมาก่อน ก็จะถูกตีความแบบไม่เคร่งครัด หรือ อนุโลมแก่กันได้ หรือไม่ 

ประการต่อมา จะทำให้คนบางคนย่ามใจ ในสิ่งที่ตัวเองมีอำนาจบารมี สามารถจัดการปัญหาระดับขัดรัฐธรรมนูญให้พ้นผิดได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ ส่วนตัวต้องโทษจำคุกถึง 8 ปี ก็ยังทำให้ไม่ติดคุกแม้แต่วันเดียวได้ น่าคิดว่าความหลงเหลิงอำนาจเหมือนในอดีตจะกลับมาหรือไม่   

ประการสุดท้าย หากด่านที่ถือว่า ขัดรัฐธรรมนูญชัดเจนขนาดนี้ ยังไม่ผิด กรณีที่ยังเป็นแค่เข้าข่ายผิดกฎหมาย อย่าง กรณีกู้เงิน ธ.ก.ส. มาใช้ในโครงการ แจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ซึ่งเป็นนโยบาย “เรือธง” ของพรรคเพื่อไทย และนโยบายอื่นๆ ดูเล็กน้อยไปเลย ถ้าเทียบข้อกฎหมายที่จะนำมาเอาผิด  

เหนืออื่นใด อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ จะทำให้ความน่าจะเป็นเหล่านี้ เป็นไปได้หรือไม่ หรือ จบลง แบบให้ไปลุ้นรัฐบาลใหม่กันอีกรอบ?