ถอยคนละครึ่ง“เอ็มโอยู”รัฐบาลก้าวไกล เคลียร์ 7 ปมเห็นพ้อง 6 ปมเห็นต่าง

ถอยคนละครึ่ง“เอ็มโอยู”รัฐบาลก้าวไกล เคลียร์ 7 ปมเห็นพ้อง 6 ปมเห็นต่าง

ถอยคนละครึ่ง“เอ็มโอยู”รัฐบาลก้าวไกล 8 พรรคร่วม เคลียร์ 7 ปมเห็นพ้อง 6 ปมเห็นต่าง “เพื่อไทย” ไม่เอานิรโทษ - “ก้าวไกล” แก้ ม.112 พรรคเดียว

จับตาการลงนามบันทึกข้อตกลง หรือเอ็มโอยู จัดตั้งรัฐบาลของ 8 พรรคการเมือง ประกอบด้วย พรรคก้าวไกล 152 เสียงพรรคเพื่อไทย 141 เสียง พรรคประชาชาติ 9 เสียง พรรคไทยสร้างไทย 6 เสียง พรรคเพื่อไทรวมพลัง 2 เสียง พรรคเสรีรวมไทย 1 เสียง พรรคเป็นธรรม 1 เสียง พรรคพลังสังคมใหม่ 1 เสียง รวม 313 เสียง 

ขณะการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ต้องใช้เสียงจากที่ประชุมร่วมรัฐสภา จำนวน 750 เสียง ซึ่งต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา จำนวน 376 เสียงขึ้นไป ทำให้พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลต้องหาเสียงสนับสนุนอีกอย่างน้อย 66 เสียง

ความพยายามในการจัดตั้งรัฐบาลก้าวไกล จึงอยู่ที่การลงมติของ “250 ส.ว.” ซึ่งขณะนี้กว่า 15-20 ส.ว. พร้อมที่จะยกมือโหวตให้ พิธา ลิ่มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็ยังขาดอยู่อีกอย่างน้อย 40 เสียง ซึ่งเป็นด่านหินที่ “ขุนพลก้าวไกล” ต้องฝ่าไปให้ได้

จึงไม่แปลกที่ผู้จัดการรัฐบาล ของก้าวไกลมีความพยายามเปิดดีลกับ “พรรคขั้วรัฐบาลเดิม” โดยต่อสายตรงไปยัง “สุวัจน์ ลิปตพัลลภ” ประธานพรรคชาติพัฒนากล้า เพื่อขอ 2 เสียงจากชาติพัฒนากล้าโหวต “พิธา” ทว่าเกมนี้ก้าวไกลต้องแพ้ภัยตัวเอง หลังโดนโซเชียลมีเดียกองเชียร์ แฟนคลับถล่มด้วยการติด #มีกรณ์ไม่มีกู

ปรากฎการณ์ดังกล่าว จึงปิดประตู “พิธา-ก้าวไกล” ในการเปิดดีล “พรรคขั้วรัฐบาลเดิม” มาเพิ่มเติมเสียง ทำให้ 187 เสียง ประกอบด้วย พรรคภูมิใจไทย 70 เสียง พรรคพลังประชารัฐ 41 เสียง พรรครวมไทยสร้างชาติ 36 เสียง พรรคประชาธิปัตย์ 24 เสียง พรรคชาติไทยพัฒนา 10 เสียง พรรคชาติพัฒนากล้า 2 เสียง พรรคประชาธิปไตยใหม่ 1 เสียง พรรคท้องที่ไทย 1 เสียง พรรคใหม่ 1 เสียง และพรรคครูไทยเพื่อประชาชน เสียง 1 ที่นั่ง อาจกลายไปเป็นฝ่ายค้าน

ทำให้ทางเดินของ “พิธา-ก้าวไกล” แคบลงมาก เหลือเพียงเสียงจาก “250 ส.ว.” เท่านั้นที่หวังพึ่งได้ แต่ยากเหลือเกินที่จะรวบรวมเสียง ส.ว. ให้เกิน 66 เสียง เนื่องจาก ส.ว.แต่ละกลุ่ม ล้วนมีสังกัดอยู่แล้ว

หนุนแก้รัฐธรรมนูญทุกหมวด

ขณะเดียวกันทั้ง “ส.ส. - ส.ว.” ต่างรอติดตามเงื่อนไขในบันทึกข้อตกลง หรือเอ็มโอยู ที่ 8 พรรคการเมือง จะลงนามร่วมกันในวันนี้ 22 พ.ค. โดยเบื้องต้น “ก้าวไกล” สรุป 13 หัวข้อสำคัญในร่างเอ็มโอยูเรียบร้อยแล้ว โดยมีเนื้อหาดังนี้

1. แก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้ง 8 พรรคการเมืองเห็นพ้องต้องกัน แต่อาจจะแตกต่างกันในรายละเอียด เงื่อนไขของ “ก้าวไกล” ต้องการรื้อรัฐธรรมนูญ ทุกหมวด ทุกมาตรา เปิดทางให้มีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. เข้ามายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่อาจมีบางพรรคไม่เห็นด้วย เพราะเกมแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ จะโดนคัดค้านจาก “ขั้วตรงข้าม” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากจะกระทบต่อหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ซึ่งจะเป็นเงื่อนไขทำให้เกิดความขัดแย้งอย่างแน่นอน

2. คืนความยุติธรรมผู้ได้รับผลกระทบจากการรัฐประหาร ยังมีหลายพรรคมีความเห็นไม่ตรงกัน โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย ที่มองว่าจะกระทบต่อบุคคลหลายกลุ่ม และเหมารวมถึงการออกกฎหมายของ “คณะรัฐประหาร” ที่กระทบกับกลุ่มอาชีพ ซึ่งการคืนความยุติธรรมโดยไม่มีหลักเกณฑ์ที่ครอบคลุมมากพอ จะส่งผลกระทบในหลากหลายมิติ

ถอยคนละครึ่ง“เอ็มโอยู”รัฐบาลก้าวไกล เคลียร์ 7 ปมเห็นพ้อง 6 ปมเห็นต่าง

3. กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ทุกพรรคการเมืองค่อนข้างเห็นพ้องต้องกัน โดยเฉพาะการจัดให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในทุกจังหวัด รวมถึงการปฏิรูปการบริหารท้องถิ่นในหลายด้าน เพื่อกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่นอย่างแท้จริง จึงอยู่ที่รูปแบบการดำเนินการจะนำไปสู่เป้าหมายได้อย่างไร

4. ปฏิรูปกองทัพ เกือบทุกพรรคการเมืองเห็นด้วย แต่อาจต้องปรับวิธีการ ไม่หักดิบ ไม่หักด้ามพร้าด้วยเข่า เพราะอาจจะจุดชนวนความขัดแย้งขึ้นมาได้ ประเด็นนี้ “อาจารย์วันนอร์” นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ ยังมีความกังวลกับแนวทางของพรรคก้าวไกล

“ประชาชาติ”ติงสุราเสรี-สมรสเท่าเทียม

5. ยกเลิกผูกขาดอุตสาหกรรมสุรา เกือบทุกพรรคการเมืองเห็นด้วย เพราะต้องการทำให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรี ไม่ผูกขาดเพียงแค่บางเจ้าเท่านั้น โดยมีโมเดลของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีผู้ผลิตสุราจำนวนมาก จนมีการแข่งขันด้านคุณภาพ อย่างไรก็ตาม พรรคประชาชาติ ยังไม่เห็นด้วย เพราะจะขัดหลักศาสนาอิสลาม ดังนั้นจึงต้องออกแบบให้มีมาตรการควบคุม เกี่ยวกับหลักปฏิบัติทางศาสนาด้วย

6. สมรสเท่าเทียม พรรคประชาชาติออกตัวไม่เห็นด้วย เนื่องจากขัดต่อหลักศาสนาอิสลาม ซึ่งเป็นฐานเสียงหลักของพรรค โดยมีข้อกังวลเกี่ยวกับหลักปฏิบัติจำนวนมาก ส่วนพรรคการเมืองอื่นไม่ติดขัดในหลักการ

7 . ยกเลิกเกณฑ์ทหาร เกือบทุกพรรคการเมืองเห็นด้วย แต่ติดขัดในแนวทางปฏิบัติ เพราะหากยกเลิกเกณฑ์ทหารในทันที จะทำให้เกิดความเสียหายต่อกองทัพ และจะโดนแรงต้านพอสมควร ดังนั้นจึงอาจจะต้องหารือแนวทางปฏิบัติให้รัดกุมมากที่สุด

ถอยคนละครึ่ง“เอ็มโอยู”รัฐบาลก้าวไกล เคลียร์ 7 ปมเห็นพ้อง 6 ปมเห็นต่าง

“เพื่อไทย”ไม่เอานิรโทษกรรม

8. ปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ ทุกพรรคการเมืองเห็นด้วย เพื่อจัดสรรที่ดินด้วยการอนุญาตให้ “ประชาชน” ที่เข้าข่ายตามหลักเกณฑ์ที่จะกำหนดขึ้นมาเข้าไปใช้ประโยชน์ที่ดิน ทั้งที่ดิน ส.ป.ก.4-01 และที่ดิน ภ.บ.ท.5 อย่างไรก็ตาม พรรคร่วมมีความกังวลเล็กน้อยว่าก้าวไกลจะทะลุเป้าไปไกลถึงที่ดินราชพัสดุอื่นหรือไม่

9. นิรโทษกรรม (ยกเว้นคอร์รัปชัน - อันตรายถึงชีวิต) พรรคเพื่อไทยออกตัวไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม เพราะแผลเก่าที่เป็นชนวนการรัฐประหาร 2557 มาจากการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง โดยกังวลว่า ชื่อ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี จะถูกนำมาโจมตีจากฝั่งตรงข้ามได้ ทำให้ “เพื่อไทย” คัดค้านเอ็มโอยูในข้อนี้

ลุยลดค่าครองชีพ-ปรับโครงสร้างค่าไฟ

10. แก้ปัญหาค่าครองชีพ (ไฟฟ้า) ทุกพรรคการเมืองเห็นพ้องต้องกัน จึงขึ้นอยู่กับวิธีการจะดำเนินการอย่างไร โดย “ก้าวไกล” ต้องการเปลี่ยนนโยบายจัดสรรก๊าซธรรมชาติ โดยใช้กลไกคณะกรรมการกำกับดูแลนโยบายพลังงาน (กกพ.) กำหนดนโยบาย พร้อมทั้งเปิดเสรีธุรกิจไฟฟ้า ให้ผู้ใช้ไฟฟ้าเลือกซื้อไฟฟ้าได้เอง อีกทั้งยังต้องการเจรจาสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและสัมปทานกับกลุ่มทุนพลังงานใหม่

11. จัดงบประมาณแบบใหม่ (ฐานศูนย์) ทุกพรรคการเมืองเห็นด้วย จึงอยู่ที่แนวทางปฏิบัติว่าจะออกแบบมาอย่างไร โดยต้องทำความเข้าใจกับหน่วยงานราชการให้ชัดเจนก่อน ไม่เช่นนั้นอาจจะมีปัญหาในการลงมือปฏิบัติ

12. เพิ่มสวัสดิการเด็ก-ผู้สูงอายุ ถือเป็นนโยบายของหลายพรรคการเมืองอยู่แล้ว อาทิ พรรคก้าวไกล พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย ซึ่งต้องการเพิ่มเบี้ยยังชีพคนชราเป็น 3,000 บาทต่อเดือนเหมือนกัน จึงไม่มีปัญหา

13. สร้างรัฐโปร่งใส ทุกพรรคเห็นพ้องต้องกัน ในการวางกลไกควบคุมการใช้งบประมาณของรัฐ การใช้อำนาจของรัฐ ให้เกิดความโปร่งใส เพื่อควบคุมไม่ให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน พร้อมทั้งลดขั้นตอนการออกใบอนุญาต เพื่ออำนวยความสะดวกให้เอกชนเกิดความคล่องตัว เป็นต้น

ทั้งนี้ ข้อเสนอ 13 ประเด็นของ “ก้าวไกล” ได้เสนอต่อพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว ซึ่งมีคณะกรรมการร่วมกัน พิจารณาปรับแก้ หรือเพิ่มเติมข้อเสนอจากทุกพรรค เพื่อหาจุดร่วม

ถอยคนละครึ่ง“เอ็มโอยู”รัฐบาลก้าวไกล เคลียร์ 7 ปมเห็นพ้อง 6 ปมเห็นต่าง

“ม.112” จุดอ่อนรัฐบาล “ก้าวไกล”

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่า ในร่างเอ็มโอยูดังกล่าว ไม่มีประเด็นเกี่ยวกับการแก้ไข หรือยกเลิก ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขสำคัญที่พรรคร่วมรัฐบาลใหม่กังวล พร้อมทั้งเปิดช่องให้ ส.ว. ได้โหวตสนับสนุน “พิธา” นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตาม “มาตรา 112” เป็นจุดอ่อนของก้าวไกล จะถอยสุดซอยก็ไม่ได้ จะเดินหน้าต่อก็เกรงว่าจะไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ก้าวไกลจึงยอมถอยออกมาหนึ่งก้าว โดยไม่ระบุเงื่อนไขแก้ “มาตรา 112” ไว้ในเอ็มโอยู โดยอธิบายว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นนโยบายพรรค จึงจะเสนอแก้ไขในนามพรรคเอง โดยจะยื่นร่างแก้ไขให้สภาฯ พิจารณา

แม้ก้าวไกลพยายามจะยื้อการแก้ไข “มาตรา 112” ออกไปก่อน แต่เจตนาของพรรค ต้องดำเนินการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะภายหลังข่าวไม่มีการแก้ไข “มาตรา 112” ในเอ็มโอยู ทำให้เริ่มมีกระแสตีกลับจากโลกโซเชียล มีการติดแฮชแท็ก #112 ไม่แก้ไม่มีกู

แรงเสียดทานที่เกิดเป็นระยะ “ก้าวไกล”ซึ่งประกาศจุดยืนไว้ว่า พรรคใหญ่กว่าคน ประชาชนใหญ่กว่าพรรค จึงน่าจับตาว่าแกนนำพรรคก้าวไกลจะมีคำอธิบายอย่างไร ในวันที่ 22 พ.ค.2566 ซึ่งเป็นวันเซ็นเอ็มโอยูกับพรรคร่วมรัฐบาล ถึงแนวทางดำเนินการแก้ “มาตรา 112” อย่างละเอียด ท่ามกลางกระแสที่ “นักรบโซเชียล” จุดแข็งของ “ก้าวไกล” อาจกลายเป็นจุดอ่อน หันมาโจมตีพรรคเสียเอง

หากก้าวไกล มีแผนจะเสนอร่างแก้ไขมาตรา 112 เข้าสภาในนามพรรค หลังจัดตั้งรัฐบาลได้แล้ว ก็ใช่ว่าจะไร้อุปสรรค เพราะยังสุ่มเสี่ยงต่อเสถียรภาพรัฐบาลเช่นกัน เนื่องจาก 152 เสียงของก้าวไกล จะโดนพรรอันดับสอง 141 เสียงของ“เพื่อไทย” ช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมืองทันที

ข้อตกลงใน “เอ็มโอยู” 13 ข้อที่พรรคร่วมรัฐบาลใหม่ ร่วมกันกำหนดเป็นแนวปฏิบัติ และเป็นสัญญาประชาคมตามที่ประกาศนโยบายหาเสียงเอาไว้ น่าจับตาว่า จะเป็นจุดแข็ง หรือจุดอ่อนของรัฐบาลก้าวไกล และทั้ง 7 พรรคร่วมฯ จะอยู่ข้างเดียวกับก้าวไกลไปตลอดรอดฝั่งหรือไม่ คงต้องวัดกันชอตต่อชอต

ถอยคนละครึ่ง“เอ็มโอยู”รัฐบาลก้าวไกล เคลียร์ 7 ปมเห็นพ้อง 6 ปมเห็นต่าง