การเมืองเป็นเรื่องต่อรอง ประเทศชาติคือประชาชน

การเมืองเป็นเรื่องต่อรอง ประเทศชาติคือประชาชน

ประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยได้แสดงเจตจำนงของตนผ่านการเลือกตั้งไปแล้ว ขั้นตอนต่อไปนี้อยู่ในส่วนของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ทั้งที่มาจากการเลือกตั้งและไม่ผ่านการเลือกตั้ง ต้องสานต่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของประชาชน ความเห็นต่างมีได้แต่สุดท้ายต้องคุยกัน

นับถึงวันนี้การเมืองไทยคืบหน้ามาอีกระดับหนึ่งเมื่อ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ควงแกนนำ 7 พรรคการเมือง  แถลงข่าวประกาศจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยของประชาชน จากผลการเลือกตั้งที่ไม่เป็นทางการ มีจำนวน ส.ส.รวมกันทั้งสิ้น 313 คน

การจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้เป็นไปด้วยความเคารพในฉันทามติของประชาชน ที่เห็นชอบให้พิธาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย โดยทุกพรรคจะร่วมกันจัดทำข้อตกลงร่วม (MOU) เพื่อแสดงถึงแนวทางการทำงานร่วมกัน และวาระร่วมของทุกพรรคจะแถลงต่อสาธารณะในวันที่ 22 พ.ค.นี้ เพื่อแก้ไขวิกฤติการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ

จะว่าไปแล้วเดือน พ.ค.เป็นเดือนแห่งประวัติศาสตร์การเมืองของไทย มีเรื่องให้ชวนรำลึกไม่แพ้เดือน ต.ค.ไล่ตั้งแต่

การปราบปรามประชาชนเมื่อวันที่ 17 พ.ค.2535 โดยรัฐบาลพล.อ.สุจินดา คราประยูร ที่มีรากเหง้าแห่งอำนาจมาจากการรัฐประหาร, วันที่ 19 พ.ค.2553 การสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงโดยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และวันที่ 22 พ.ค.2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนรักษาการของนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ให้ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" พ้นเก้าอี้นายกฯ เมื่อวันที่ 7 พ.ค.

การเลือกแถลงวาระการทำงานของรัฐบาลประชาชนในวันครบรอบ 9 ปีของรัฐประหารจึงนับว่ามีความหมาย 

ความหมายที่ว่าคือการรัฐประหารไม่ใช่หนทางแก้ปัญหา ประชาธิปไตยคือระบอบการเมืองที่ถูกออกแบบมาให้มีการเปลี่ยนผู้นำโดยสันติวิธีและคาดการณ์ได้ บัดนี้ประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยได้แสดงเจตจำนงของตนผ่านการเลือกตั้งไปเรียบร้อยแล้ว

ขั้นตอนต่อไปนี้อยู่ในส่วนของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ทั้งที่มาจากการเลือกตั้งและไม่ผ่านการเลือกตั้งต้องสานต่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของประชาชน ความเห็นต่างมีได้แต่สุดท้ายต้องคุยกัน

ยกตัวอย่าง สหรัฐที่หลายปีหลังถูกกล่าวขานว่าการเมืองแตกแยกมาก เกิดการงัดข้อกันในสภาหลายครั้งระหว่างเดโมแครตและรีพับลิกัน 

ทางตันการเมืองสหรัฐตอนนี้อยู่ที่การขยายเพดานหนี้ที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนต้องคุยกับเควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรจากพรรครีพับลิกันหลายรอบ ส.ส.รีพับลิกันขอให้ลดงบประมาณแลกกับการยอมขยายเพดานหนี้ แต่ไบเดนแย้งว่านี่ไม่ใช่เรื่องที่จะมาต่อรองกัน

สุดท้าย ทั้งสองฝ่ายส่งสัญญาณว่าคงต้องยอมเพราะไม่มีทางเลือกอื่น และนี่ไม่ใช่ครั้งแรก สหรัฐเคยขยายเพดานหนี้มาแล้ว 78 ครั้ง

ถ้าสังเกตให้ดีไม่ว่าสองพรรคการเมืองสหรัฐจะขัดแย้งกันอย่างไรในสภา สุดท้ายก็หาทางออกจนได้ เพราะการเมืองเป็นเรื่องของการต่อรอง คนนั้นยอมนิด คนนี้ยอมหน่อย ไม่มีใครได้ดังใจไปเสียทั้งหมด สำหรับ การเมืองไทยก็ได้แต่หวังว่าคงมีคำตอบในเร็ววันโดยมองไปที่ประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก เพราะชาติคือประชาชน