"ประวิตร" โพสต์ เปลี่ยนเกม ปรับแผน ร่วมรัฐบาล

"ประวิตร" โพสต์ เปลี่ยนเกม ปรับแผน ร่วมรัฐบาล

"ประวิตร" โพสต์ สูตรจัดตั้งรัฐบาล เริ่มจากผลเลือกตั้ง พรรคที่ได้ส.ส.มากสุด ต้องมีสิทธิเป็นแกนฟอร์มรัฐบาล รับ ทุกครั้งมีปัจจัยแปรเปลี่ยน หลายคนต้องพลิกลิ้น ขึ้นกับเงื่อนไขเฉพาะหน้า ยัน พปชร. จะตั้งรัฐบาลความหวังของประเทศอย่างดีที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจเฟซบุ๊คพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งเป็นเพจทางการของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความระบุว่า จะ”จัดตั้งรัฐบาล”อย่างไร ดูจะยังเป็นประเด็นสับสน เกิดการพูดต่อๆกันไปมากว่าพลังประชารัฐคิดอย่างไรกับการ จัดตั้งรัฐบาล การเมืองไทยตอนนี้มีความซับซ้อน ผมจะค่อยๆอธิบายให้ฟังว่าเกิดอะไรขึ้น และผมคิดว่า การจัดตั้งรัฐบาล ควรจะทำอย่างไร

พล.อ.ประวิตร ระบุว่า ที่ว่า “การเมืองไทยขณะนี้ซับซ้อน” เพราะมีหลายปัจจัยที่นำมาใช้กำหนดความเป็นไปของอำนาจทางการเมืองในทุกเรื่อง ตรงนี้มาพูดกันเฉพาะเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล จะจัดตั้งกันอย่างไร ต้องเริ่มจากผลการเลือกตั้ง มาดูกันว่าประชาชนเลือกพรรคไหนมาเท่าไรแต่ละพรรคมี ส.ส.ได้รับเลือกเข้ามากี่คน เห็นตัวเลขแต่ละพรรคแล้ววางไว้ก่อน มาสู่ขั้นตอนเปิดประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี คนที่เป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อจากพรรคการเมืองที่มี ส.ส.ไม่น้อยกว่า 25 คน และได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภา อันหมายถึง ส.ส.และ สว.รวมกันไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง คือประมาณ 376 คน 

ขั้นตอนการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นขั้นตอนที่เป็นทางการขั้นตอนแรก หลังจากนั้นจึงมีการจัดตั้งรัฐบาล เป็นการหาความตกลงร่วมกันว่าพรรคไหนจะร่วมกับพรรคไหน ในวิถีที่ควรจะเป็นคือจะต้องรวมกันแล้วมีเสียงส.ส.อย่างน้อยมมากกว่ากึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร คือเกินกว่า250 เสียง ต้องพยายามหาทางให้เป็นรัฐบาลที่มีเสถียรภาพมากที่สุด คือเสียง ส.ส.ร่วมสนับสนุนมากเท่าไรยิ่งดีเท่านั้น หากได้รับโหวตเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว จะจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยก็ได้ แต่คงไม่มีนายกรัฐมนตรีคนไหนอยากให้เป็นรัฐบาลแบบนี้

ขั้นตอนอย่างเป็นทางการเริ่มต้นอย่างนั้น ต้องเข้าใจตรงนี้ก่อน แต่ในทางปฏิบัติจริง มีประเด็นที่ต้องมาพิจารณาซับซ้อนกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นความชอบธรรมของพรรคการเมืองที่ได้ ส.ส.มากที่สุด ต้องมีสิทธิเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก่อน พรรคการเมืองต่างๆ จะแบ่งขั้วแบ่งฝ่ายกันอย่างไร ร่วมกับใครแล้วได้รับการตอบสนองข้อเสนอดีกว่า ใครคือผู้กุมอำนาจที่แท้จริง ระหว่างอำนาจของ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง กับอำนาจที่ซ่อนอยู่ในกลไกตามรัฐธรรมนูญ อันไหนมีอิทธิพล หรือสามารถกำหนดการจัดตั้งรัฐบาลได้มากกว่า และอื่นๆ อีกมากมาย หลายเรื่องที่มีความสำคัญต่อการตัดสินใจ เป็นเงื่อนไขที่ยังไม่เกิดขึ้นเสียด้วยซํ้า คนที่มีประสบการณ์การเมืองจะรู้ว่า ในการจัดตั้งรัฐบาลทุกครั้งที่ผ่านมา ล้วนมีเรื่องราวที่แปรเปลี่ยนไป ไม่เคยเป็นไปอย่างที่ประกาศไว้ในช่วงหาเสียงทั้งนั้น มีข้อมูลที่จะพูดถึงการปรับเปลี่ยนของพรรคเพื่อเป็นประโยชน์กับประเทศชาติ และประชาชนมากที่สุดเสมอ ตัวอย่างล่าสุดที่เห็นในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ปี 2562 ผู้นำพรรคการเมืองหลายพรรคประกาศตัวไว้อย่างหนึ่ง แต่พอถึงการจัดตั้งรัฐบาลจริง ต้องเข้าร่วมด้วยเหตุผลอีกอย่างหนึ่ง เช่นพรรคประชาธิปัตย์ หัวหน้าพรรคนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศไม่ยอมให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ แต่พอถึงเวลาจัดตั้งรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมโดยหัวหน้าพรรคคนใหม่ แค่ให้นายอภิสิทธิ์ลาออกไป โดยมีประโยชน์ของประชาชนมากมายมาใช้อ้าง เช่นเดียวกับ นายอนุทิน ชาญวีรกูลให้สัมภาษณ์ในข่าวลงวันที่ 8 มีนาคม 2562 ใจความสำคัญกล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่ให้ ส.ว.เลือกนายกฯ ลั่นอยู่คนละขั้วกับทหาร-พปชร. และได้ให้สัมภาษณ์อีกครั้ง ในเนื้อหาข่าวเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2565 ว่าเฉลยแล้วปี 62 จับมือ พปชร.ตั้งรัฐบาล เพราะผมไม่อยากอยู่กับระบบ คสช. ไม่เว้นแม้แต่พรรคพลังประชารัฐ ที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เคยประกาศเอาไว้ว่าจะไม่รับตำแหน่ง หากได้เป็นรัฐบาล แต่สุดท้ายก็รับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม 

พล.อ.ประวิตร ระบุว่า ไม่ใช่เรื่องผิดหรือแปลกประหลาดอะไร อย่างที่บอกว่า หากมีประสบการณ์การเมืองมายาวนานเพียงพอจะรู้ว่า นี่คือความปกติของการเมืองไทย แม้ว่าสื่อและสังคมไทยจะไม่ยอมรับก็ตาม การเมืองไทยทุกเรื่องจึงขึ้นอยู่กับการเจรจาตามเงื่อนไขเฉพาะหน้า โดยเฉพาะเรื่องสำคัญระดับ จะจัดตั้งรัฐบาลอย่างไร จะร่วมรัฐบาลกับใคร จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรอขั้นตอนที่เหมาะสม การตัดสินใจประกาศว่าจะต้องอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นที่รู้กันว่านั่นเป็นแค่การหาเสียง ที่เป็นจริงคือการเจรจาด้วยเหตุผลเฉพาะหน้า ทุกคนในพรรคต้องร่วมกันประเมินอย่างรอบคอบ แล้วดำเนินการตามที่เรียกว่ามติพรรค การบริหารการตัดสินใจของพรรคการเมือง ต้องเป็นในนามมติพรรค ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่งจะมาทุบโต๊ะว่าพรรคต้องจัดการอย่างนั้นอย่างนี้ ดังตัวอย่างที่ยกให้เห็นว่า ขนาดพรรคที่สะสมความน่าเชื่อถือมามากมายที่สุดแล้ว แม้แต่หัวหน้ายังต้องลาออก หากไปประกาศอะไรที่เกินเลยจากมติพรรคความจริงทางการเมืองเป็นอย่างนี้ ทุกขั้นตอนต้องอาศัยการเจรจาในเงื่อนไขเฉพาะหน้าที่เป็นปัจจุบันที่สุด จะแตกต่างกันที่เป็นพรรคที่ตัดสินเงื่อนไขเฉพาะหน้านั้นด้วยผลประโยชน์ของใคร 

ดังนั้นคำถามตอบว่า พรรคพลังประชารัฐจะจัดตั้งรัฐบาลแบบไหน อย่างไร จะร่วมกับใคร พรรคไหน จึงเป็นเรื่องที่ต้องรอให้ตามขั้นตอนที่เหมาะสม ด้วยเงื่อนไขเฉพาะหน้า ซึ่งขึ้นอยู่กับการเจรจาอย่างรอบคอบ และต้องเป็นไปในนามมติพรรค ไม่ใช่เรื่องที่ใครคนใดคนหนึ่งจะมาประกาศตัดสิน จะไม่เป็นเช่นนั้น หากจะมีความเด็ดขาดแน่นอนก็คือ พลังประชารัฐ จะตัดสินใจทุกเรื่อง ทุกอย่างด้วยเหตุผลต้องร่วมกัน ก้าวข้ามความขัดแย้ง ด้วยความเชื่อว่าเป็นหนทางเดียวที่จะพาประเทศสู่การพัฒนา ที่สร้างโอกาสแห่งความสุขให้ประชาชนอย่างเท่าเทียมได้ ขอให้เชื่อมั่นว่า เราจะตั้งรัฐบาลที่เป็นความหวังของประเทศอย่างดีที่สุดได้