หัวละหมื่น...น้ำผึ้งหรือยาพิษของใคร? | ชิดตะวัน ชนะกุล 

หัวละหมื่น...น้ำผึ้งหรือยาพิษของใคร? | ชิดตะวัน ชนะกุล 

 สัปดาห์ที่ผ่านมา แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองใหญ่ ประกาศนโยบายเติมเงินในกระเป๋าดิจิทัลให้ประชาชนอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป คนละ 10,000 บาท ทำให้เกิดความแตกตื่นในหมู่ประชาชนทั้งเห็นดีและไม่เห็นด้วย ผู้เขียนในฐานะนักวิชาการ มีข้อท้วงติงบางประการ 

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เปิดเผยข้อมูลหนี้ในระบบจากบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ว่า ปี พ.ศ.2565 คนไทยประมาณ 25 ล้านคน คิดเป็น 1 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศมีหนี้ โดยมูลค่าหนี้เฉลี่ยต่อคนมากถึง 527,000 บาท

แสดงให้เห็นว่า คนจำนวนมากมีการใช้จ่ายเงินเกินตัว มิหนำซ้ำ ส่วนใหญ่ยังเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือทำให้คุณภาพชีวิตในอนาคตดีขึ้น

    บุคคลที่อาสาเข้ามาบริหารประเทศ จึงควรชูนโยบายเร่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้เป็นคนมีวินัย มีสมรรถนะความสามารถ มีความคิดสร้างสรรค์ มีความซื่อสัตย์เสียสละ เห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน เพื่อเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ

การที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีมีนโยบายเสนอเงินให้คนทั้งแผ่นดินใช้จ่าย พร้อมระบุว่า เงินนี้ควรนำไปใช้หนี้ในระบบได้ ซึ่งหากนโยบายดังกล่าวถูกนำไปใช้จริง ย่อมเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมใช้จ่ายเงินเกินตัวและก่อหนี้ โดยขาดความรับผิดชอบให้กับประชาชน นอกจากนี้ การนำภาษีของประชาชนทั้งประเทศ ไปให้คนบางจำพวกใช้หนี้ส่วนตัว ย่อมเป็นเรื่องมิสมควร 

    ในช่วงกว่าสิบปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยมีการใช้งบประมาณเกินตัวอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ มีความไม่สมดุลระหว่างการใช้จ่ายและการจัดเก็บรายได้ของรัฐ เรียกทางวิชาการว่า การขาดดุลงบประมาณ เมื่อพิจารณาพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 พบว่ามีวงเงินงบประมาณรายจ่ายจำนวน 3,185,000 ล้านบาท

ในขณะรายได้ที่จัดเก็บได้เป็นเงินเพียง 2,490,000 ล้านบาท จึงต้องมีการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณจำนวน 695,000 ล้านบาท ซึ่งรวมเป็นองค์ประกอบสำคัญของหนี้สาธารณะ 

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า ปี 2564 ประชากรอายุ 16 ปีขึ้นไปมีจำนวนประมาณ 53.71 ล้านคน ดังนั้น หากให้เงินคนเหล่านี้หัวละ 10,000 บาท จะต้องใช้งบประมาณทั้งสิ้น 537,100 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 17 ของวงเงินงบประมาณแผ่นดินปี พ.ศ.2566

ผู้แถลงนโยบายระบุว่า เงินที่นำไปใช้จ่ายในโครงการนี้ส่วนหนึ่งจะมาจากงบประมาณแผ่นดิน โดยตัดทอนสวัสดิการบางอย่างลง รวมถึงรายได้จากการจัดเก็บภาษีของรัฐที่เพิ่มขึ้นจากการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายดังกล่าว 

    อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงพบว่า รายจ่ายส่วนใหญ่ของงบประมาณแผ่นดินประมาณกว่าร้อยละ 75 เป็นรายจ่ายประจำ ซึ่งบ่งชี้ว่าเป็นการยากที่จะลดรายจ่ายดังกล่าวลงในระยะเวลาอันสั้น ส่วนกรณีที่อ้างว่า จะมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้น ก็เป็นเรื่องอนาคตที่ยังไม่มีความแน่นอน

ด้วยเหตุนี้ แหล่งที่มาของเงินก้อนมหึมาจำนวนมากกว่า 530,000 ล้านบาทจากนโยบายนี้ จึงหนีไม่พ้นการก่อหนี้โดยวิธีการต่างๆ ส่งผลให้หนี้สาธารณะของประเทศต้องทะยานสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

    การพุ่งสูงขึ้นของหนี้สาธารณะ หมายถึงค่าเสียโอกาสของการใช้งบประมาณ ในอนาคตแทนที่รัฐบาลจะสามารถนำรายได้จากการจัดเก็บภาษีไปใช้จ่ายสำหรับการพัฒนาประเทศ แต่กลับต้องนำไปใช้หนี้ที่เกิดจากการใช้จ่ายเงินเกินตัวของรัฐในเรื่องที่ไม่เหมาะสมในอดีต

กล่าวโดยเฉพาะ การก่อหนี้เพื่อมาใช้จ่ายเป็นการผลักภาระความรับผิดชอบด้านภาษี จากคนรุ่นปัจจุบันไปยังคนรุ่นอนาคต การใช้จ่ายของรัฐที่เกิดขึ้นจึงควรถูกนำไปใช้ในโครงการที่เป็นการลงทุน ซึ่งจะทำให้คนรุ่นต่อไปได้รับประโยชน์ อาทิ การสร้างสาธารณูปโภค การรักษาสิ่งแวดล้อม การศึกษา 

    อย่างไรก็ดี สำหรับโครงการนี้ ในขณะที่คนรุ่นปัจจุบันซึ่งอายุ 16 ปี ขึ้นไป ได้ประโยชน์จากเงินหมื่นบาทที่สามารถนำไปจับจ่ายใช้สอยพร้อมชำระหนี้ส่วนบุคคล

คนรุ่นหลังซึ่งไม่ได้รับประโยชน์จากโครงการแม้แต่น้อย กลับต้องแบกรับภาระหนี้ประเทศ ถูกเก็บภาษีในอัตราที่สูง เพื่อเป็นงบประมาณจ่ายคืนการกู้ยืมเงินในโครงการที่นักการเมืองใช้หาเสียงกับคนรุ่นปัจจุบัน

เปรียบดั่งนักการเมืองยื่นน้ำผึ้งที่มีรสหวานหอมให้คนรุ่นนี้ แต่อนิจจามันจะกลับกลายเป็นยาพิษที่แสนขมขื่น ทำให้คนรุ่นหลังต้องทนทุกข์ทรมานจากการกระทำของบรรพชนอย่างแสนสาหัส ขอคนไทยรวมทั้งนักการเมืองไทย ยุค พ.ศ.นี้...โปรดไตร่ตรอง