นโยบายหาเสียงกับความรับผิดชอบต่อภาคการคลังของประเทศ | พงศ์นคร โภชากรณ์

นโยบายหาเสียงกับความรับผิดชอบต่อภาคการคลังของประเทศ | พงศ์นคร โภชากรณ์

วันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ประเทศไทยกำลังจะมีการเลือกตั้งครั้งสำคัญ หลายพรรคการเมืองแข่งขันกันเสนอนโยบาย เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจเลือกเข้าไปทำหน้าที่เป็นปากเสียงให้ประชาชน

หลังจากนั้นก็คงจะได้เห็นหน้าเห็นตานายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี วันนี้ผมจะลองเอาเรื่องเศรษฐกิจมาผูกกับนโยบายหาเสียง เพื่อชี้ให้เห็นว่า อะไรที่ประชาชนควรได้ยินบ้าง

ไล่เรียงย้อนหลังไป 5 – 6 ปี เราผ่านมรสุมเศรษฐกิจติด ๆ กัน 3 ลูก ลูกที่ 1 สงครามการค้า ระหว่างสหรัฐและจีน ในปี 2561-2562 ทำให้ห่วงโซ่การผลิตและปริมาณการค้าระหว่างประเทศผันผวน เศรษฐกิจไทยย่อมได้รับผลกระทบตามไปด้วย

นโยบายหาเสียงกับความรับผิดชอบต่อภาคการคลังของประเทศ | พงศ์นคร โภชากรณ์

ลูกที่ 2 การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในปี 2563-2564 ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกหดตัว การเดินทางท่องเที่ยวปิดตาย รายได้จากการท่องเที่ยวหาย การบริโภคลดลง คนตกงานขาดรายได้ ความเชื่อมั่นตกต่ำ

รัฐบาลจึงต้องออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1.5 ล้านล้านบาท เพื่อปั๊มหัวใจให้มีเลือดไหลเวียนในระบบเศรษฐกิจ ที่สำคัญ เพื่อให้มีพื้นที่ทางการคลังเพียงพอในการกอบกู้วิกฤติ รัฐบาลจึงจำเป็นต้องขยับเพดานหนี้สาธารณะจากร้อยละ 60 ของ GDP ขึ้นไปเป็นร้อยละ 70 ของ GDP 

ลูกที่ 3 ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ในปี 2565 ที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบ ค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้มแพงขึ้น กลายเป็นเงินเฟ้อสูงถล่มเศรษฐกิจทั่วโลก กระทบผู้ผลิตและผู้บริโภค รัฐบาลต้องยอมเฉือนรายได้เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพ เช่น การตรึงราคาน้ำมันดีเซล เป็นต้น

นโยบายหาเสียงกับความรับผิดชอบต่อภาคการคลังของประเทศ | พงศ์นคร โภชากรณ์

แม้ว่ามรสุมทั้ง 3 ลูก จะเป็นปัจจัยภายนอกประเทศ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่านการส่งออกสินค้าและบริการ เมื่อรายได้ไหลเข้ามาในประเทศลดลง

กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง เศรษฐกิจก็ชะลอตัวลง จนถึงขั้นหดตัว บางช่วงเรายังกังวลว่าจะเกิดภาวะที่เรียกว่า Stagflation คือเศรษฐกิจหดตัวและมีเงินเฟ้อสูง แปลเป็นภาษาชาวบ้านว่า ข้าวยากหมากแพงก็คงไม่ผิดนัก

แน่นอนว่าเมื่อเศรษฐกิจมีปัญหา รายได้ครัวเรือนลดลง การจับจ่ายใช้สอยลดลง เงินไม่หมุนเวียน ทำมาค้าขายก็ไม่ดีไม่มีกำไร ผลที่ตามมาคือ การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลก็ลดลงไปด้วย

ทำให้รายได้รัฐบาลของรัฐบาลต่อ GDP ลดลงจากประมาณร้อยละ 17 – 18 เหลือเพียงร้อยละ 13 – 14 เท่านั้น

ตัวเลขนี้สะท้อนนัยที่สำคัญ คือ การที่เศรษฐกิจมีขนาดใหญ่ขึ้นทุกปี แต่รัฐบาลกลับจัดเก็บรายได้ได้น้อยลง ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงการจัดเก็บรายได้รัฐบาลควรแปรผันไปในทิศทางเดียวกันกับการเติบโตของเศรษฐกิจ   

มองไปข้างหลังแล้ว ทีนี้มองไปข้างหน้าบ้าง หลายคนอาจจะยังไม่สังเกตใช่ไหมครับว่า จำนวนประชากรไทยเราลดลงมาต่อเนื่อง 2 ปีแล้ว เร็วกว่าที่องค์การสหประชาชาติทำนายไว้ถึง 9 ปี เด็กเกิดใหม่ลดลงเหลือ 500,000 คน ในปีล่าสุด ต่ำสุดในรอบ 70 ปี

ถ้าคิดในช่วง 5 ปีนี้ ลดลงถึงร้อยละ 25 และแนวโน้มจะลดลงต่อเนื่อง ฉะนั้น อีก 15 ปีข้างหน้า เด็กที่เกิดในวันนี้ จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน จำนวนแรงงานในระบบเศรษฐกิจจะลดลงจากวันนี้มาก

ในขณะที่จำนวนผู้สูงอายุก็เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 400,000 คน คาดว่าปลายปี 2567 จะเข้าสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์

นั้นหมายถึง ภาระรายจ่ายของรัฐบาลจะตามมาอีกมหาศาล ในขณะที่ฐานรายได้ของรัฐบาลที่มาจากมิติจำนวนคนทำงานจะลดลง กระทบแนวโน้มการจัดเก็บรายได้ในอนาคต

จะเห็นว่า ปัญหาของเศรษฐกิจนอกจากจะผูกโยงกับความเจริญเติบโตของประเทศและปากท้องประชาชนแล้ว ยังผูกโยงกับการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลด้วย

เมื่อตัดภาพกลับมา 2 ข้างทาง ระหว่างที่ผมขับรถไปทำงาน พบว่า ร้อยละ 90 ของป้ายหาเสียง มุ่งไปในทางนโยบายด้านการใช้จ่ายหรือให้เงินในรูปแบบต่าง ๆ มากกว่าการโชว์นโยบายการหาเงิน

จริงอยู่ที่ว่า ถ้าเราเติมเงินเข้าประเป๋าพี่น้องประชาชน ก็จะช่วยเพิ่มรายได้ เกิดการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เม็ดเงินหมุนเวียน 2 รอบ 3 รอบ ผันกลับมาเป็น GDP และรายได้รัฐบาลบนฐานการบริโภค ฐานการผลิต และฐานรายได้

แต่ในอีกด้านหนึ่ง นโยบายการเติมเงินเข้ากระเป๋าพี่น้องประชาชนที่พรรคการเมืองโชว์บนป้ายหาเสียง จะเป็นต้นทุนที่รัฐบาลต้องหามาจ่าย

ฉะนั้น งบประมาณที่จะนำมาใช้จ่ายตามนโยบายบนแผ่นป้ายหาเสียงแต่ละนโยบาย ใช้เงินเท่าไร หามาจากไหน เงินที่ใส่ลงไปหมุนกลับมาคุ้มค่ากับที่จ่ายออกไปเพียงใด

เม็ดเงินมีการกระจายตัวอย่างไร ไปถึงท้องถิ่นยากจนหรือไม่ ถึงคนยากจนจริงหรือไม่ และความยั่งยืนทางการเงินการคลังจะเบ้ไปมากน้อยเพียงใดจากนโยบายนั้น ๆ พื้นที่ทางการคลังที่สำรองไว้ใช้ยามเกิดวิกฤติเศรษฐกิจจะเพียงพอหรือลดลงไปเพียงใด

นี่เป็นคำถามที่ผมและนักวิชาการที่สนใจอยากได้ยินคำอธิบายเพิ่มเติม ผมว่านี่ต่างหากที่เป็นการ “โชว์กึ๋น” ของพรรคการเมือง ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นเรื่องที่กฎหมายกำหนดให้ต้องแสดงด้วยน่ะ

ฉะนั้น ถ้าเปรียบเทียบประเทศเป็นครัวเรือน รัฐบาลเป็นหัวหน้าครัวเรือน ประชาชนเป็นสมาชิกในครัวเรือน จากข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ จะพบว่า หัวหน้าครัวเรือนหาเงินเข้าบ้านได้ในสัดส่วนที่ลดลงเมื่อเทียบกับในอดีต แถมในอนาคตยังมีภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลสมาชิกสูงอายุในครัวเรือนเพิ่มขึ้น

สิ่งที่สมาชิกในบ้านอยากได้ยินจากหัวหน้าครัวเรือน ก็คือ เราจะมีวิธีในการหารายได้เข้าบ้านให้เพิ่มขึ้นได้อย่างไร ได้เงินเท่าใด และจะเอาเงินไปทำอะไรบ้าง

เพราะถ้าปล่อยให้รายได้ไม่พอค่าใช้จ่ายในบ้าน ก็ต้องเอาเงินออมของครัวเรือนมาใช้ พอเงินออมหมดก็ต้องกู้ กลายเป็นหนี้ครัวเรือน ถ้าเป็นมิติประเทศก็จะเป็นหนี้สาธารณะ และต้องใช้เวลานานเพียงใดที่เราจะกลับมามีรายได้มากกว่ารายจ่าย

เฉกเช่นเดียวกัน สิ่งเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่เราอยากได้ยินจากพรรคการเมืองด้วย

ผมขอยกตัวอย่างนโยบายด้านการใช้จ่ายอันหนึ่ง ซึ่งต้องใช้เงินราว ๆ 4.5 แสนล้านบาท ภายใน 1 ปีงบประมาณ (แค่ 1 นโยบายเท่านั้น) คิดเป็นไปร้อยละ 60 ของงบประมาณในด้านการคุ้มครองทางสังคมประมาณ 7.5 แสนล้านบาทต่อปี แล้วโครงการมาตรการที่เหลือจะใช้เงินจากไหน

ดังนั้น การแสดงวิธีการหาเงินมาเพื่อใช้ในโครงการมาตรการใหญ่ ๆ จึงเป็นสิ่งที่ควรจะบอกกับประชาชน เพื่อดูว่าหลักคิดคืออะไร ทำได้จริงหรือไม่ สมเหตุสมผลหรือไม่เพื่อประกอบการตัดสินใจ หรือเป็นแค่การโฆษณาชวนเชื่อเท่านั้น

หรือแบ่งทีมกันไปคิดแล้วมารวมเลขกันโดยไม่คำนึงถึงงบประมาณรวมที่จะใช้ ท้ายที่สุดก็ต้องไปกู้มาเพื่อชดเชยการขาดดุล กลายเป็นหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น วนลูปไม่จบสิ้น

ที่สำคัญจะช่วยป้องกันการเสนอแนะนโยบายที่ไร้เพดานและไร้ความรับผิดชอบต่อภาคการคลังของประเทศไปในตัว   

สุดท้ายนี้ ผมจึงอยากเห็นพัฒนาการของการหาเสียงยุคใหม่ ที่ไม่จำเป็นต้องแข่งกันที่จำนวนว่า ใครให้มากกว่าก็จะได้คะแนน แต่อยากเห็นการแข่งขันกันเสนอแนะนโยบายด้านการหารายได้มากกว่านโยบายด้านการใช้จ่าย (ใช้เงินคิดง่าย หาเงินคิดยาก)

อยากเห็นนโยบายที่สร้างความมั่นคงของภาคการคลังในระยะยาวมากกว่านโยบายที่กัดกร่อนความมั่นคงและความยั่งยืนของประเทศในอนาคต ... หน้าที่ของท่านยิ่งใหญ่ แต่ความรับผิดชอบต่อภาคการคลังของประเทศยิ่งใหญ่กว่าครับ   

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน มิได้ผูกพันเป็นความเห็นขององค์กรที่สังกัด

คอลัมน์ ตีโจทย์เศรษฐกิจ 
พงศ์นคร โภชากรณ์
ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค
สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)  
[email protected]