คลื่นการเมืองหลังฉาก ปชป. สมการ 52 เดิมพัน“อภิสิทธิ์”คัมแบ็ก

คลื่นการเมืองหลังฉาก ปชป.  สมการ 52 เดิมพัน“อภิสิทธิ์”คัมแบ็ก

ต่อจากนี้ไป ต้องจับตากลยุทธ์ของ “จุรินทร์-แกนนำ ปชป.”จะมีแผนฟื้นกระแส กู้คะแนน ปชป.อย่างไร โดยเฉพาะพื้นที่ฐานเสียงหลัก ภาคใต้ กทม. ภาคกลางบางส่วน เมื่อตัวเลข 52 +- เป็นเดิมพันอนาคตการเมืองของทั้งหัวหน้าและเลขาฯพรรคอย่างเลี่ยงไม่ได้  

ค่ำวันที่ 20 มี.ค. ภายหลังมีราชกิจจานุเบกษาประกาศ “ยุบสภา” 3 อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ประกอบด้วย ชวน หลีกภัย บัญญัติ บรรทัดฐาน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นัดหมาย จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคปัจจุบัน จับเข่าคุยถึงปมปัญหา สถานะอภิสิทธิ์ในพรรค ทั้งการลงเลือกตั้งรอบนี้  และโผแคนดิเดตนายกฯ 

เป็นที่รู้กันว่า จุดมุ่งหมายของ “จุรินทร์” และผู้ใหญ่ในพรรค ต้องการให้ “อภิสิทธิ์” มาช่วยหาเสียงให้กับพรรคอีกครั้ง เนื่องจากมี “บางกลุ่ม” มองว่ากระแสของ ปชป.ยังพอจะช่วยพยุงให้ “ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.” ได้คะแนนเสียงอยู่บ้าง ขณะที่กระแสของ “จุรินทร์” ในพื้นที่เป้าหมาย อาทิ ภาคใต้ กทม. และภาคกลางบางส่วน มีน้อยมากจนไม่สามารถเปลี่ยนมาเป็นแต้มการเมืองได้

ทว่า “อภิสิทธิ์” ชัดเจนในจุดยืน เหมือนกับคำให้สัมภาษณ์ที่ระบุว่า “แนวคิดของผมหลายๆ เรื่องในระยะที่ผ่านมามันก็ไม่ได้ตรงหรือสอดคล้องกับการดำเนินการของพรรคมากนัก ตั้งแต่การเข้าไปร่วมรัฐบาล ฉะนั้น ถ้าผมลงสมัครรับเลือกตั้ง มันจะเกิดความสับสนได้ และจะเกิดความไม่เป็นเอกภาพขึ้น ซึ่งผมคิดว่าไม่น่าจะเป็นผลดีกับพรรค”

หากย้อนไปในช่วงต้นปี มีกระแสต่อเนื่องว่า “แกนนำพรรค ปชป.” พยายามเปิดทางให้ “อภิสิทธิ์” กลับเข้ามาอยู่ในลิสต์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยมีการจัดวางให้ “จุรินทร์” ลำดับหนึ่ง “ชวน” ลำดับสอง “บัญญัติ” ลำดับสาม และ “อภิสิทธิ์” ลำดับสี่ โดยให้เกียรติอดีตหัวหน้าพรรคมาก่อนแกนนำคนอื่น

ที่สำคัญ กระแสยังแรงขึ้นอีกว่า มีโอกาสที่ “อภิสิทธิ์” จะถูกเสนอชื่อเป็นหนึ่งในแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค แต่ ปรากฎว่า “แกนนำ” บางรายไม่เห็นด้วย เพราะเกรงว่าจะมีการ "แย่งชิงอำนาจกัน" หลังการเลือกตั้ง จึงตัดตอน ตัดชื่อ “อภิสิทธิ์”ออกจากสมการนี้เสียก่อน

โดยในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2566 เมื่อวันที่ 23 ก.พ.66 ที่ผ่านมา จึงมีการเสนอให้ส่งชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว จบลงด้วยชื่อ “จุรินทร์” ทำให้กลุ่มที่พยายามดีลให้ “อภิสิทธิ์” กลับมาช่วยกอบกู้สถานการณ์ภายในพรรค ต้องหยุดชะงัก เก็บอาการเอาไว้

ขณะที่ความพยายามที่จะเปิดดีลให้ “อภิสิทธิ์” กลับมาช่วยกอบกู้คะแนนการเมืองของพรรค ก็ยังมีอย่างต่อเนื่อง แต่ท้ายที่สุด เป็น “อภิสิทธิ์” เองที่ออกมาโชว์หล่อ ขอเว้นวรรคทางการเมือง ไม่ขอลงชิงตำแหน่งใดๆ ในการเลือกตั้งครั้งนี้

แหล่งข่าวจาก ปชป. วิเคราะห์ว่า อภิสิทธิ์มองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ ยากมากที่ ปชป.จะได้ ส.ส.จำนวนมาก เนื่องจากในพื้นที่ภาคใต้กระแสของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงมาแรง ซึ่งประเมินจากผลโพลหลายสำนักที่ออกมา

“อย่างไรก็ตาม นายอภิสิทธิ์ยังเชื่อมั่นว่า จุรินทร์และแกนนำพรรคจะสามารถกอบกู้ ส.ส.ในหลายพื้นที่กลับคืนมาได้ แม้จะต้องขับเคี่ยวกับพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งดึงคนจาก ปชป.ไปร่วมงานจำนวนมากก็ตาม”

แหล่งข่าวระบุว่า "ดีลของอภิสิทธิ์ที่เจรจากัน จบที่เก้าอี้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ไม่มีการพูดคุยถึงตำแหน่งแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จึงมีการตั้งข้อสังเกตภายในพรรคว่า แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่ไร้ชื่อของเขา อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อภิสิทธิ์ขอเว้นวรรคทางการเมืองหรือไม่" 

“เดิมพันในการเลือกตั้งครั้งนี้ ของจุรินทร์ และแกนนำพรรคค่อนข้างสูง เพราะเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรค ได้ประกาศว่า หากได้น้อยกว่า 52 ที่นั่ง จะเลิกเล่นการเมือง ซึ่งหาก ปชป.ได้น้อยกว่า 52 ที่นั่ง อาจเป็นจังหวะเหมาะสม ที่อภิสิทธิ์จะกลับเข้ามามีบทบาทภายในพรรคมากกว่า” แหล่งข่าวระบุ

 อย่างไรก็ตาม นักสังเกตการณ์ในพรรค มองว่า การออกตัวของ “อภิสิทธิ์” ที่จะเลือกช่วยในการหาเสียงให้ผู้สมัคร ส.ส. อาจไม่ได้หมายถึงช่วยได้ทุกคน แต่อาจจำกัดอยู่ในขั้วของเขาเอง อย่างเช่น สาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรค ในพื้นที่จ.ระยอง สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ตรัง เป็นต้น ส่วนพื้นที่อื่นอาจจะต้องประเมินกันช็อตต่อช็อตว่า กระแสในพื้นที่เป็นอย่างไร

ต่อจากนี้ไป ต้องจับตากลยุทธ์ของ “จุรินทร์-แกนนำ ปชป.”จะมีแผนฟื้นกระแส กู้คะแนน ปชป.อย่างไร โดยเฉพาะพื้นที่ฐานเสียงหลัก ภาคใต้ กทม. ภาคกลางบางส่วน เมื่อตัวเลข 52 +- เป็นเดิมพันอนาคตการเมืองของทั้งหัวหน้าและเลขาฯพรรคอย่างเลี่ยงไม่ได้