แบ่งเขตใหม่“ขั้วฝ่ายค้าน” เสียฐาน “ขั้วรัฐบาล” 3 เขตลุ้นเบียด

แบ่งเขตใหม่“ขั้วฝ่ายค้าน” เสียฐาน “ขั้วรัฐบาล” 3 เขตลุ้นเบียด

บทสรุปไม่นำ “ต่างด้าว” มาคำนวณค่าเฉลี่ย ส.ส. ดูเหมือนจะเข้าทาง “ขั้วรัฐบาล” มากกว่า “ขั้วฝ่ายค้าน” เสี่ยงเสียเก้าอี้ ส.ส.ในฐานที่มั่น จึงต้องติดตามว่าจะส่งผลกระทบต่อมากน้อยเพียงใด เพราะ 1 เสียงในสภาฯย่อมมีผลต่อการโหวต แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คำว่า "ราษฎร" ไม่หมายความรวมถึงผู้ไม่ได้สัญชาติไทย (ต่างด้าว) ทำให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ เนื่องจากจำนวนราษฎรรวมลดลงเมื่อตัดราษฎรผู้ไม่มีสัญชาติไทยออก เพื่อใช้ในการเลือกตั้ง 2566

เดิมที กกต.คำนวณจากจำนวนราษฎรทั้งประเทศ นับรวมราษฎรผู้ไม่มีสัญชาติไทย 66,090,475 คน เฉลี่ยประมาณ 165,226 คน ต่อจำนวน ส.ส. 1 คน เมื่อไม่นับรวมราษฎรผู้ไม่มีสัญชาติไทย จะเหลือราษฎรทั้งประเทศ  65,106,481 คน เฉลี่ยประมาณ 162,766 คน ต่อ ส.ส. 1 คน

ทำให้มี 4 จังหวัด มีจำนวน ส.ส. ลดลง ประกอบด้วย

  • เชียงราย จะมี ส.ส. 7 คน จากเดิม 8 คน
  • เชียงใหม่ จะมี ส.ส. 10 คน จากเดิม 11 คน
  • ตาก จะมี ส.ส. 3 คน จากเดิม 4 คน
  • สมุทรสาคร จะมี ส.ส. 3 คน จากเดิม 4 คน

ส่วนอีก 4 จังหวัด มีจำนวน ส.ส. เพิ่มขึ้น ประกอบด้วย

  • อุดรธานี จะมี ส.ส. 10 คน จากเดิม 9 คน
  • ลพบุรี จะมี ส.ส. 5 คน จากเดิม 4 คน
  • นครศรีธรรมราช จะมี ส.ส. 10 คน จากเดิม 9 คน
  • ปัตตานี จะมี ส.ส. 5 คน จากเดิม 4 คน

เมื่อแบ่งจำนวน ส.ส. เป็นรายภาคจะมีจำนวนดังนี้

  • ภาคกลาง-กทม. มีจำนวน ส.ส. 122 คน เท่าเดิม
  • ภาคอีสาน มีจำนวน ส.ส. 133 คน เพิ่มขึ้น 1 คน
  • ภาคเหนือ มีจำนวน ส.ส. 36 คน จากเดิม 39 คน
  • ภาคตะวันตก มีจำนวน ส.ส. 20 คน เท่าเดิม
  • ภาคตะวันออก มีจำนวน ส.ส. 29 คน เท่าเดิม
  • ภาคใต้ มีจำนวน ส.ส. 60 คน จากเดิม 58 คน

เมื่อดูจากจำนวน ส.ส. ลดลงเพิ่มขึ้น ส่งผลในเชิงยุทธศาสตร์อยู่พอสมควร เนื่องจาก จ.เชียงราย เชียงใหม่ เป็นฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย (พท.) พรรคก้าวไกล (ก.ก.) พรรคเพื่อชาติ (พช.) ซึ่งอยู่ในขั้วประชาธิปไตย 
 

 

ในการเลือกตั้งปี 2562 พรรคเพื่อไทยกวาดเรียบ 9 คน ก่อนจะมาเสียเก้าอี้ให้ “ศรีนวล บุญลือ” จากอดีตพรรคอนาคตใหม่ ในการเลือกตั้งซ่อม ก่อนที่ “ศรีนวล” จะย้ายไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย ดังนั้นสนาม จ.เชียงใหม่ ย่อมส่งผลกระทบต่อพรรคเพื่อไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เช่นเดียวกับ จ.เชียงราย พรรคเพื่อไทยกวาดไป 5 คน อดีตพรรคอนาคตใหม่ 2 คน ซึ่งยากที่ “ขั้วรัฐบาล” จะเข้ามาเบียดชิงในพื้นที่ได้

สำหรับ จ.สมุทรสาคร ลดลง 1 คน อาจส่งผลเสียงต่อพรรคก้าวไกล เนื่องจากปี 2562 อดีตพรรคอนาคตใหม่ เข้าวินมา 2 คน พรรคพลังประชารัฐ 1 คน ด้วยสภาพจังหวัดใกล้ กทม.อาจจะทำให้แฟนคลับ “คนรุ่นใหม่” ของพรรคก้าวไกลมีจำนวนมากขึ้นก็อาจเป็นได้

ส่วน จ.ตาก ลดลง 1 คน ส่งผลกระทบต่อ “ขั้วรัฐบาล” เนื่องจากปี 2562 พรรคพลังประชารัฐ เข้าวิน 2 คน พรรคประชาธิปัตย์ 1 คน   
 

 

สำหรับจำนวน ส.ส. ที่เพิ่มขึ้น อาจจะเข้าทาง “ขั้วรัฐบาล” เนื่องจากไปจะเพิ่ม ส.ส. ภาคใต้จาก 58 คน เป็น 60 คน โดยเฉพาะ จ.นครศรีธรรมราช เป็นพื้นที่แย่งชิงซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ แชมป์เก่า กวาดไป 5 คน (ลดลงเหลือ 4 เลือกตั้งซ่อมแพ้พรรคพลังประชารัฐ) พรรคพลังประชารัฐ 3 คน (เพิ่มเป็น 4 คน เลือกตั้งซ่อมชนะพรรคประชาธิปัตย์) และพรรครวมไทยสร้างชาติ

ต้องยอมรับว่าปี 2562 พรรคพลังประชารัฐ เข้าวินแบบเหนือความคาดหมาย โดยได้รับอานิสงส์จากกระแส “ประยุทธ์” ฟีเวอร์ แต่มาครั้งนี้ “ประยุทธ์” ไปร่วมงานกับพรรครวมไทยสร้างชาติ อาจจะส่งผลลบต่อพรรคพลังประชารัฐ 

ด้านพรรคประชาธิปัตย์ การเสียพื้นที่ให้พรรคพลังประชารัฐ เสียหน้าไม่น้อย เมื่อมีจำนวน ส.ส.เพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องตั้งเป้ากวาด ส.ส.ให้ได้มากที่สุด

จ.ปัตตานี ปี 2562 พรรคประชาชาติ คว้ามา 2 คน พรรคประชาธิปัตย์ 2 คน โดย “อันวาร์ สาและ” ย้ายไปพรรคพลังประชารัฐในภายหลัง ดังนั้นเมื่อมี ส.ส.เพิ่มขึ้นมา 1 คน การแย่งชิงย่อมเข้มข้นมากขึ้น

จ.ลพบุรี ปี 2562 แย่งกันหลายพรรค โดยพรรคประชาธิปัตย์คว้าไป 2 คน แบ่งให้พรรคเพื่อไทย 1 คน พรรคพลังประชารัฐ 1 คน เมื่อมี ส.ส. เพิ่มขึ้นทุกพรรคย่อมมีโอกาสแข่งขันกัน เพราะในเชิงพื้นที่แล้วไม่มีเจ้าถิ่นการันตีเก้าอี้

ด้าน จ.อุดรธานี มี ส.ส. เพิ่ม 1 คน ย่อมส่งผลดีกับพรรคเพื่อไทยเช่นกัน เนื่องจาก “อุดรธานี” เป็นถิ่นฐานของ “คนเสื้อแดง” มีแฟนคลับที่เหนียวแน่น ปี 2562 พรรคเพื่อไทยกวาด ส.ส. ยกจังหวัดมาแล้ว

เมื่อดูผลบวก-ผลลบของแต่ละขั้วแล้ว พบว่า “ขั้วรัฐบาล” มีโอกาสได้เพิ่ม 1 เก้าอี้ ที่จ.นครศรีธรรมราช ส่วนจ.ปัตตานี “ขั้วรัฐบาล” จะเบียดสู้กับ “พรรคประชาชาติ” ส่วน จ.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย มีโอกาสสูงลิบ ขณะที่จ.ลพบุรี “ขั้วรัฐบาล” แข่งขันกันเอง

ขณะเดียวกัน “ขั้วฝ่ายค้าน” เสีย 2 เก้าอี้ ที่จ.เชียงใหม่ เชียงราย แต่ได้ 1 เก้าอี้ ที่จ.อุดรธานี ส่วนจ.สมุทรสาคร สวิงไปมา แต่ “ขั้วฝ่ายค้าน” อาจได้เปรียบ ด้าน “ขั้วรัฐบาล” จะเสียเปรียบที่ จ.ตาก เพียง 1 เก้าอี้

บทสรุปไม่นำ “ต่างด้าว” มาคำนวณค่าเฉลี่ย ส.ส. เสมือนจะเข้าทาง “ขั้วรัฐบาล” มากกว่า “ขั้วฝ่ายค้าน” ซึ่งเสียเก้าอี้ ส.ส. ในพื้นที่ฐานที่มั่น จึงต้องติดตามว่า จะส่งผลกระทบมากน้อยเพียงใด เพราะ 1 เสียงในสภาฯ ย่อมมีผลต่อการโหวตแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี