ความว่างเปล่าที่รอคําตอบ | บัณฑิต นิจถาวร 

ความว่างเปล่าที่รอคําตอบ | บัณฑิต นิจถาวร 

การเลือกตั้งที่กําลังจะเกิดขึ้น ทําให้พรรคการเมืองเริ่มออกนโยบายหาเสียง เน้นเรื่องเศรษฐกิจของประชาชนซึ่งเป็นปัญหาสำคัญขณะนี้

แต่เท่าที่เห็นจากโปสเตอร์หาเสียง นโยบายพรรคการเมืองส่วนใหญ่ยังสะท้อนการเมืองแบบเดิมที่ไม่เปลี่ยน คือหาเสียงโดยสัญญาที่จะให้ แจก หรือแก้กฎระเบียบเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

 ขณะที่สิ่งที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากกว่าครึ่งรออยู่ หมายถึงคนรุ่นหนุ่มสาวที่จะลงคะแนน คือนโยบายที่จะทําให้อนาคตของพวกเขาและประเทศดีขึ้น

ความว่างเปล่าที่รอคําตอบ | บัณฑิต นิจถาวร 

นี่คือช่องว่างที่ประเทศมี เป็นความว่างเปล่าที่จะมีผลต่อการเลือกตั้งคราวนี้ คือการไม่ไปด้วยกันของสิ่งที่คนรุ่นสูงวัยที่มีอำนาจเศรษฐกิจ การเมือง และเป็นผู้กำหนดนโยบายของประเทศขณะนี้ทํา กับสิ่งที่คนรุ่นหนุ่มสาวคาดหวังและต้องการเห็นเพื่อให้อนาคตของพวกเขาดีขึ้น นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

ในการเลือกตั้งที่จะมาถึง ผู้มีสิทธิลงคะแนนทั้งประเทศจะประมาณ 52 ล้านคน กว่าร้อยละ 70 คือผู้ที่อยู่ในวัยทำงานคืออายุ 59 ปีลงมา ประกอบด้วย

คนในเจน X คืออายุตั้งแต่ 43-58 ปี ประมาณ 16.1 ล้านคน เป็นคนในเจน Y และเจน Z คืออายุตั้งแต่ 18-42 ปี 22.8 ล้านคน

ขณะที่คนในวัยเกษียณ คือ อายุ 60 ปีและมากกว่ามี 13.1 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่ประมาณ 11.2 ล้านคน คือคนรุ่น baby boomer ที่เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ความว่างเปล่าที่รอคําตอบ | บัณฑิต นิจถาวร 

คนรุ่น baby boomer เกิดระหว่างปี 2489 ถึง 2507 ขณะนี้มีอายุระหว่าง 59-77 ปี เป็นกลุ่มคนที่ปัจจุบันทรงอำนาจและมีอิทธิพลมากสุดในเศรษฐกิจและการเมืองทั่วโลก 

ประเทศไทยก็เช่นกัน นักการเมืองระดับนําของเราทั้งอดีตและปัจจุบัน อดีตข้าราชการที่ยังอยู่ในแวดวงธุรกิจและการเมือง อัครมหาเศรษฐีและนักธุรกิจระดับนําของประเทศ

ส่วนใหญ่อยู่ในเจเนอเรชันนี้ทั้งสิ้นเป็นกลุ่มคน หรือ cohort ของประชากรที่กุมอำนาจเศรษฐกิจ การเมือง และการกําหนดนโยบาย

คนรุ่น baby boomer ถือเป็นคนรุ่นเก่า ที่บุกเบิกและมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศตลอดช่วง 70 ปีที่ผ่านมา

แต่กําลังถูกวิจารณ์ว่าทำให้ประเทศเราเป็นประเทศอย่างที่เห็นทุกวันนี้คือมีปัญหามาก เป็นกลุ่มคนที่ได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงและความสำเร็จที่เกิดขึ้น

ปัจจุบันทรัพย์สิน หรือ assets ส่วนใหญ่ที่ประเทศมี ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน บ้าน ที่อยู่อาศัย ความมั่งคั่งทางการเงิน รวมถึงบำนาญหรือเงินที่จะได้ในอนาคตก็อยู่ในมือคนกลุ่มนี้ที่ปัจจุบันส่วนใหญ่เกษียณแล้ว ไม่ทํางาน เสียภาษีน้อย มีรายได้จากทรัพย์สินที่มีและการช่วยเหลือของภาครัฐ

ขณะที่คนส่วนใหญ่ของประเทศเป็นคนในวัยทำงาน ยังต้องทํางาน ต้องเก็บออม ไม่มีทรัพย์สิน และส่วนใหญ่ไม่มีพ่อแม่ที่รวยคอยช่วยเหลือ ทําให้ชีวิตความเป็นอยู่ค่อนข้างลำบาก

เพราะรายได้จากการทํางานโตช้า ขณะที่รายจ่าย เช่น ค่าเช่าบ้านเพิ่มขึ้นเร็วกว่า ที่สําคัญคือราคาบ้าน โดยเฉพาะบ้านในเมือง ราคาได้เพิ่มสูงเกินกําลังที่คนหนุ่มสาวจะซื้อหรือเป็นเจ้าของได้จากเงินเดือนที่มี

นี่คือความแตกต่างระหว่างคนรุ่นหนุ่มสาวปัจจุบันกับคนหนุ่มสาวรุ่น baby boomer คือความสามารถที่มีไม่สามารถสร้างความมั่นคงในชีวิตได้

เรื่องนี้การศึกษาที่อังกฤษพบว่าคุณภาพชีวิตของคนรุ่นหนุ่มสาวปัจจุบันแย่กว่าสมัยที่คนรุ่น baby boomer เป็นหนุ่มเป็นสาว

จากปรากฏการณ์นี้ เราจึงได้ยินเสมอว่าคนหนุ่มสาวปัจจุบันไม่อยากแต่งงาน ไม่อยากมีลูก ไม่ใช่เพราะไม่อยาก แต่สู้ภาระทางการเงินที่จะมีตามมาไม่ไหว ถ้าไม่มีพ่อแม่คอยช่วยเหลือหรือหาเงินไว้ให้

เพราะทุกอย่างแพง เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าเล่าเรียน ค่าดูแลเด็ก ในทางประชากร การไม่มีลูกไม่มีเด็กเกิดใหม่จะมีผลอย่างสําคัญต่อโครงสร้างประชากรและอนาคตของประเทศ

กรณีประเทศเราก็ไม่แตกต่าง และอาจมีปัญหามากกว่าด้วยซ้ำเทียบกับประเทศอื่น เพราะความเหลื่อมล้ำในประเทศเรารุนแรง ทําให้ปัญหาและช่องว่างมีมาก

1.ทรัพย์สินที่ baby boomer ประเทศเรามีไม่ได้กระจายอยู่ในมือ baby boomer ด้วยกันอย่างทั่วถึงแต่กระจุกอยู่ในมือ baby boomer จำนวนน้อย

ทำให้คนรุ่น baby boomer บ้านเราส่วนใหญ่ไม่มีรายได้พอที่จะใช้จ่ายหลังเกษียณ ต้องพึ่งการเลี้ยงดูจากลูกหลานและเงินช่วยเหลือจากภาครัฐ เป็นภาระให้กับคนรุ่นหนุ่มสาวของประเทศที่ต้องดูแลคนสูงวัยเหล่านี้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

2.ความเหลื่อมล้ำสําคัญที่ประเทศเรามี คือ ความเหลื่อมล้ำในโอกาส เช่น โอกาสที่จะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ มีงานที่ดีทํา มีโอกาสในการประกอบอาชีพ การเข้าถึงสินเชื่อ เข้าถึงเทคโนโลยี โอกาสที่จะพัฒนาทักษะแรงงานให้สูงขึ้น

รวมถึงโอกาสในการแสดงความคิดเห็น การขาดโอกาสเหล่านี้ทําให้คนรุ่นหนุ่มสาว โดยเฉพาะในชนบทมองอนาคตของตนค่อนข้างจํากัด ไม่สดใส

3.นโยบายที่กําหนดโดย baby boomer ที่อยู่ในอำนาจก็ไม่ให้ความหวังว่าทุกอย่างจะดีขึ้น ตรงกันข้ามนโยบายดูจะยิ่งทําให้ช่องว่างมีมากขึ้น

เช่น ไม่นําภาษีที่ดินมาใช้จริงจังทําให้เจ้าของที่ดินได้ประโยชน์ หรือความพยายามให้คนต่างชาติซื้อที่ดินได้ ซึ่งจะทำให้ราคาบ้านยิ่งแพงมากขึ้นไปอีก

นี่คือปัญหาและความท้าทายที่ประเทศมี เป็นการไม่ไปด้วยกันของนโยบายและปัญหาที่กําลังรอคำตอบ

มีผู้รู้ท่านหนึ่งกล่าวเรื่องนี้อย่างน่าสนใจว่า หน้าที่ของคนแต่ละรุ่นคือการส่งผ่านประเทศหรือสังคมที่เข้มแข็งกว่าที่ได้รับมาให้กับคนรุ่นต่อไป เป็นหน้าที่ที่ต้องทําเพื่อให้สังคมและประเทศไปต่อได้

ผมคิดว่าคนรุ่น baby boomer บ้านเราซึ่งผมก็เป็นคนหนึ่ง ต้องตระหนักว่าแม้เราจะทำงานหนักมาทั้งชีวิตและมีบทบาทสำคัญในการสร้างประเทศ

แต่เราก็ทำได้เพียงแค่นี้ และทำได้ไม่ดีเท่า baby boomer ประเทศอื่น เช่น สิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ ที่สําคัญ ยังไม่สามารถส่งผ่านประเทศและสังคมที่เข้มแข็งให้กับคนรุ่นต่อไปได้

ที่ต้องย้ำเรื่องนี้ก็เพื่อไม่ให้ตกใจหรือแปลกใจถ้าผลการเลือกตั้งออกมาไม่เหมือนอย่างที่คิด.

ความว่างเปล่าที่รอคําตอบ | บัณฑิต นิจถาวร 

ทัศนะ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต 

ดร.บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

[email protected]