ผู้บริหารรุ่น Baby Boomer | ประเสริฐ เอี่ยมรุ่งโรจน์

ผู้บริหารรุ่น Baby Boomer | ประเสริฐ เอี่ยมรุ่งโรจน์

ผมมีความเห็นว่าอันตรายที่ร้ายแรงสุดคือ ผู้บริหารสูงสุดที่มีอายุในรุ่น baby boomer ยึดติดกับตำแหน่ง ไม่เปลี่ยนตัวเอง

การยึดติดกับตำแหน่งของผู้บริหารรุ่น  Baby Boomer (BB) นี้ ค้านกับสภาพความเป็นจริงที่ทุกวันนี้โลกใบนี้หมุนรอบตัวเองใช้เวลาน้อยกว่า 24 ชั่วโมง ซ้ำร้ายทิศทางในการหมุนเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตลอดเวลา 
    ผมเห็นมาเยอะที่ผู้บริหารอายุ 70+ ยังเกาะเก้าอี้เสมือนหนึ่งติดกาวไว้ที่ก้น แล้วมีความมั่นใจว่าประสบการณ์ของตนเองจะสามารถพาเรือลำเดิมแล่นเข้าไปในน่านน้ำใหม่ได้ 

ที่ร้ายที่สุดคือผู้บริหารปิดหูปิดตา ไม่รับรู้ว่า ณ วินาทีนี้ new landscape ของการทำธุรกิจเป็นอย่างไร ไม่รับรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นทุกเสี้ยววินาที ใครพูดอะไร ก็ไม่ฟัง เพราะมีความเชี่อมั่นตัวเองสูง เชื่อมั่นสูงคือเชื่อประสบการณ์ในอดีต
    ผมมีความเห็นว่าประสบการณ์เก่า ๆ มันใช้ได้ไม่ถึง 10% เพราะเราอยู่บนโลกใบใหม่ที่ไม่ได้กลมเหมือนเดิม ประสบการณ์อดีตชาตินำมาใช้ซ้ำซากแล้วหวังว่าจะส่งผลต่อความสำเร็จของธุรกิจ นี่เป็นตรรกะที่ผิดอย่างมหันต์

จะเป็นเรื่องที่ไม่เกินเลย ถ้าผมจะเปรียบเทียบผู้บริหารที่มีคุณสมบัติดังกล่าวกับรูปลิงสามตัว ที่ปิดหู ปิดตา ปิดปาก สร้างความอึดอัดกับคนในองค์กร ไม่ว่าคนเหล่านั้นเป็นลูกหลาน เป็นหุ้นส่วนที่เป็นคนรุ่นใหม่ หรือพนักงานที่มองเห็นถึงอนาคตว่าอันริบหรี่ 
    อีกเรื่องหนึ่งที่ผมเห็นมาเยอะคือผู้บริหาร baby boomer ส่งไม้ต่อให้กับลูกหลาน โดยแต่งตั้งคนรุ่นใหม่ขึ้นมาเป็น CEO แต่ได้แค่ตำแหน่งครับ อำนาจการตัดสินใจยังอยู่ในมือของ baby boomer นี่เป็นประสบการณ์ตรงที่ผมเคยคุยกับคนรุ่นใหม่ที่เป็น “CEO ลม” พูดคุยและถามอะไร CEO ลมก็จะตอบไม่ได้ ด้วยความที่ CEO ลมรู้ตัวดีว่า CEO ตัวจริงคือ baby boomer 
    วิธีการส่งไม้ต่อแบบนี้มันเท่ากับทำลายคุณค่าของคนรุ่นใหม่ เพราะเขาเป็นเพียง CEO ตุ๊กตาล้มลุกที่ผู้บริหารตัวจริงจะโยกเขาไปทางไหนก็ได้ คนเราถ้าเสียความมั่นใจ เมื่อเขาขึ้นมารับตำแหน่งจริง มันคือฝันร้าย ความที่ความมั่นใจของเขาถูกบั่นทอนในช่วงที่เป็นตุ๊กตาล้มลุก
    ผมเรียกผู้บริหาร baby boomer ที่มีคุณสมบัติอย่างนี้ว่าเป็นพวก "เผด็จการทางความคิด" คำถามอะไรคือผลที่มีต่อองค์กร ข้อที่หนึ่งไฟไหม้บ้านอย่างแน่นอน เพียงแต่เราไม่รู้ว่าจะเป็นวันไหนเท่านั้นเอง เพราะ baby boomer เล่นจุดไฟเผาบ้าน แล้วยังเอาน้ำมันราดกองไฟทุกวัน 

 ซ้ำร้ายวิกฤต covid คือตัวเพิ่มอัตราเร่งของการเสื่อมสลายขององค์กร ซึ่ง baby boomer เหล่านี้ทำตัวเสมือนหนึ่งหูหนวก ตาบอด คิดว่าวิกฤตครั้งนี้ผ่านมา แล้วจะผ่านไป ทุกอย่างจะกลับมาเหมือนเดิม ประการที่สองสร้างความเสียหายต่อผู้คนในองค์กรที่สุดท้ายจะจมพร้อมเรือที่มีผู้นำที่เป็นคนดื้อรั้น
    ผู้อ่านอาจจะถามว่าผู้นำอย่างนี้มีจริงหรือ มีครับ และมีเยอะด้วย ความที่ผมเคยพบผู้คนมาพอควร ต้องบอกว่า baby boomer เหล่านี้มีมากกว่าผู้อ่านคาดคิด โดยเฉพาะในองค์กรที่เป็น SME ข้อเสียของคนเหล่านี้คือไม่เคยประเมินตัวเอง ยึดติดกับหัวโขน ชอบพูดถึงความสำเร็จในอดีตที่ตัวเองมั่นใจว่าจะนำประสบการณ์เหล่านี้พาองค์กรสู่อนาคต

มันเป็นวิธีคิดที่เป็นไปไม่ได้ อดีตจะพาคุณไปสู่อนาคตได้อย่างไร ในเมื่ออนาคตโลกเปลี่ยนทิศหมุน องค์กรไหนที่มีผู้นำคุณลักษณะอย่างนี้ แล้วไม่ยอมวางมือ สุดท้ายถ้าเป็นหนังจะเป็นหนังเศร้าตอนจบครับ
    ในอีกด้านหนึ่งของเหรียญผมมีโอกาสพบกับผู้บริหารที่เป็น BB แต่มีที่ยืนของตัวเองในโลกใหม่อย่างมั่นคง คำถามคนเหล่านี้มีคุณสมบัติพิเศษในลักษณะใด ถึงสามารถเชื่อมต่อกับคนรุ่นใหม่และโลกใหม่ได้อย่างแนบสนิท คุณสมบัติเหล่านี้คือ
    1.คนคนนั้นต้องมี growth & open mindset อายุเป็นเพียงตัวเลข สิ่งสำคัญที่ BB พวกนี้แตกต่างจาก BB ทั่วไปคือพวกเขามี mindset ที่เปิดกว้าง ยอมรับสิ่งใหม่ ๆ สำคัญคือ mindset ของพวกเขาไม่หยุดนิ่ง มีวิธีคิดที่เป็น growth thinking มองอนาคตออกว่า โลกกำลังหันไปทิศไหน และตัวเองหมุนไปตามโลกด้วยความเร็วที่เท่ากันหรือเร็วกว่า ผมเคยได้ยินว่ามีเบอร์หนึ่งขององค์กรระดับ Top 3 ของประเทศท่านหนึ่งมีพฤติกรรมชอบคุยกับคนรุ่นใหม่เพื่อเปิดโลกทรรศน์ใหม่ตลอดเวลา
    2. มีทัศนคติที่ผมขอใช้ภาษาอังกฤษว่า receptive to change การเปลี่ยนแปลงคือสิ่งจำเป็น และตัวเขาเองก็ยินดีเปลี่ยนตัวเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เขาเป็นส่วนหนึ่งของ eco system ขององค์กรที่ปรับตัวเองไปสู่น่านน้ำใหม่
    3. มี deep listening skill นี่คือประเด็นสำคัญ BB พวกนี้มีความพิเศษคือมีทักษะในการฟังสูง และแปลความหมายในภาษาของโลกใหม่ได้ตรงประเด็น ทำให้พวกเขาพูดคุยกับคนรุ่นใหม่และบริหารธุรกิจยุคดิจิตัลอย่างไร้รอยต่อ
    4. ความพิเศษอีกประการหนึ่งคือคนกลุ่มนี้มี life time learning habit ไม่กินบุญเก่า เรียนรู้ตลอดชีวิต คำว่าเรียนรู้ตลอดชีวิต คนเหล่านี้จะเรียนรู้ในสิ่งที่เป็น best quality ของตัวเอง เพื่อเติมให้พวกเขามี best quality ที่ complement กับคนรุ่นใหม่ ตัวอย่างเช่นคนเหล่านี้จะไม่ไปเรียนรู้เรื่อง digital literacy ให้มีความเป็นเลิศ เพราะนั่นเป็นความเก่งของคนรุ่นใหม่ คำว่า complementary ความหมายคือ BB เหล่านี้มีความเป็นเลิศที่คนรุ่นใหม่ขาด ในขณะเดียวกับคนรุ่นใหม่จะมีความเก่งที่พวก BB กลุ่มนี้ขาด
    ผมรู้จักผู้บริหารระดับสูงท่านหนึ่งอายุ 70+ best quality คือเขาเป็น turnaround specialist สามารถเก็บเศษเหรียญเก่า ๆ แล้วมาขัดเป็นทอง ความที่ผมเคยร่วมงานกับผู้บริหารท่านนี้ เขาเป็นผู้นำในการ turnaround องค์กรที่มียอดขาย 3,000 ล้านบาทเป็น 10,000 ล้านบาทภายในเวลาเจ็ดปี เคล็ดลับที่เขาเปลี่ยนผ้าข้ีริ้วให้กลายเป็นทองได้คือ “การพัฒนาคน” 
    องค์กรไหนที่มี BB คุณลักษณะเช่นนี้ จะทำให้องค์กรนั้นกลายเป็น best hybrid organization ที่มีความเป็นเลิศจากสองมุม นี่ทำให้ผมนึกถึงเรื่องราวของเพื่อนผมคนหนึ่งที่ทำงานอยู่ในองค์กรข้ามชาติ แล้ว CEO เรียกเพื่อนผมไปปรึกษาแบบตรงไปตรงมา CEO ให้ความเห็นว่าเขามีประสบการณ์ แต่พลังของเขาลดน้อยถอยลงไปแล้วตามอายุ ส่วนเพื่อนผมเปรียบเสมือน “ม้าศึก” ที่ล้นไปด้วยพลัง
    ประเด็นคือทำไมเราไม่รวมพลังด้วยการนำสิ่งดี ๆ สองสิ่งมาเสริมกัน คือ “เจได” ทำงานและสนับสนุนคนรุ่นใหม่สร้างอนาคตใหม่ให้กับองค์กร เพื่อนผมเมื่อได้รับข้อเสนออย่างนี้ตอบรับข้อเสนอ และทำงานแบบลืมเหนื่อย ผลลัพธ์คือการเติบโตขององค์กรแบบก้าวกระโดด
    5. ประการสุดท้าย BB กลุ่มหายากนี้มี world view vision เป็นคำสั้น ๆ แต่มีความหมายมากต่อการบริหารธุรกิจ ณ วินาทีนี้
    นี่คือ survival module ของใครก็แล้วแต่ที่เป็น BB ระดับเทพ แล้วคุณจะมีที่ยืนในโลกใหม่อย่างมั่นคง.