ป.ป.ช.ผนึกกำลัง กกต.ถกเลือกตั้ง 66 จับตาพรรค ป้อง “ทุจริตเชิงนโยบาย”

ป.ป.ช.ผนึกกำลัง กกต.ถกเลือกตั้ง 66 จับตาพรรค ป้อง “ทุจริตเชิงนโยบาย”

ป.ป.ช.ผนึกกำลัง กกต.จัดประชุมปฏิบัติการ เผยแพร่-สร้างการตระหนักรู้แก่ประชาชน ในการเลือกตั้ง 66 จับตานโยบายพรรคการเมือง อุดช่องโหว่ ป้องกันเกิด “ทุจริตเชิงนโยบาย”

เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2566 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ รณรงค์เผยแพร่และสร้างการตระหนักรู้ในการเลือกตั้งพรรคการเมืองนโยบายโปร่งใส เพื่อรองรับการเลือกตั้ง 2566 ในวันที่ 23 ก.พ. 2566
        
สำหรับการจัดประชุมดังกล่าว สืบเนื่องจากในปี พ.ศ. 2566 สภาผู้แทนราษฎรจะครบวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี และจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประมาณเดือนพฤษภาคม 2566 โดยสำนักงาน ป.ป.ช. เห็นว่าการทุจริตเชิงนโยบาย (Policy Corruption) เป็นปัญหาที่พบมากขึ้นในปัจจุบัน ก่อให้เกิดผลเสียต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างมหาศาล ซึ่งพบว่าการทุจริตเชิงนโยบายมักเกิดจากการใช้ช่องว่างทางกฎหมาย เพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตน โดยพบตั้งแต่ในขั้นตอนการกำหนดนโยบายของพรรคการเมือง ไปจนถึงขั้นตอนการนำนโยบายสู่การปฏิบัติ สำนักงาน ป.ป.ช. จึงได้ทบทวน ปรับปรุงเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยง การทุจริตเชิงนโยบาย ในขั้นตอนพัฒนานโยบาย (Policy formation) ซึ่งพัฒนามาจากเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยง เพื่อสกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบายในโครงการของรัฐ ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบเมื่อ เดือนมิถุนายน 2562 เพื่อเตรียมความพร้อมในการนำเครื่องมือดังกล่าว ไปปรับใช้เพื่อทันต่อการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งถัดไป ทั้งนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการประชุมครั้งที่ 14/2566 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 ได้ให้ความเห็นชอบเกณฑ์ชี้วัดดังกล่าว และได้นำส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป

ดังนั้น สำนักงาน ป.ป.ช. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (สำนักงาน กกต.) ในการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “รณรงค์เผยแพร่และสร้างการตระหนักรู้ในการเลือกตั้งพรรคการเมืองนโยบายโปร่งใสเพื่อรองรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ปี 2566” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ และสร้างการตระหนักรู้ ในการเลือกตั้งพรรคการเมืองที่มีนโยบายโปร่งใส เพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกตั้ง รวมถึงเป็นการขับเคลื่อนเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย ในขั้นตอนการพัฒนานโยบาย (Policy Formation) ไปใช้เป็นเครื่องมือในการตรวจสอบการพัฒนานโยบายของพรรคการเมือง ซึ่งเป็นกระบวนการสรรหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และรัฐบาล ที่เหมาะสมและมีความโปร่งใส ตลอดจนเป็นการเตรียมความพร้อม รณรงค์ เผยแพร่กระบวนการและขั้นตอนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างมีคุณภาพ 

ทั้งนี้ กำหนดจัดประชุมเชิงปฏิบัติการดังกล่าว ในวันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566  เวลา 08.30 - 16.00 น. ณ โรงแรมที.เค. พาเลซ & คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ โดยมีรายละเอียดกิจกรรม   ภายในงาน โดยภาคเช้า มีการเสวนา หัวข้อ “ความโปร่งใสน่าเชื่อถือของนโยบายพรรคการเมือง:การส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง” วิทยากร โดย ศาสตราจารย์ภักดี  โพธิศิริ อดีตกรรมการ ป.ป.ช. นายอุทิศ บัวศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. พันตำรวจตรี ณัฐวัฒน์ เสงี่ยมศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ดร. มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และรองศาสตราจารย์ธัชเฉลิม สุทธิพงษ์ประชา อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ป.ป.ช.ผนึกกำลัง กกต.ถกเลือกตั้ง 66 จับตาพรรค ป้อง “ทุจริตเชิงนโยบาย”

ส่วนภาคบ่าย  มีการเสวนา หัวข้อ “ความพร้อมของสำนักงาน กกต. และการรณรงค์เผยแพร่กระบวนการและขั้นตอนการเลือกตั้ง ส.ส. เพื่อการเลือกตั้งอย่างมีคุณภาพ” วิทยากร โดย ว่าที่ร้อยตรี ภาสกร สิริภคยาพร ผู้อำนวยการสำนักบริหารการเลือกตั้งและการออกเสียงประชามติ 1 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง

สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้าร่วมประชุมฯ ในครั้งนี้ ประกอบด้วย พรรคการเมือง สื่อมวลชน สำนักงาน กกต. ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และภาคประชาสังคม ในการนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. มุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อ “รณรงค์เผยแพร่และสร้างการตระหนักรู้ในการเลือกตั้งพรรคการเมืองนโยบายโปร่งใส เพื่อรองรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ปี 2566” ในครั้งนี้ จะเป็นเวทีให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนได้แสดงความคิดเห็น ปัญหา อุปสรรค ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ในการนำเกณฑ์ ชี้วัดความเสี่ยงการทุจริตเชิงนโยบาย ในขั้นตอนการพัฒนานโยบาย (Policy formation) ไปใช้เป็นเครื่องมือการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งถัดไป ในปี พ.ศ. ๒๕๖6 และเกิดกลไกในการตรวจสอบ ป้องกัน ยับยั้ง การเข้าแสวงหาประโยชน์ส่วนตน และเกิดการพัฒนานโยบายของพรรคการเมืองที่เหมาะสม โปร่งใส รวมถึงเป็นการสร้างการตระหนักรู้ และเผยแพร่กระบวนการและขั้นตอนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างมีคุณภาพต่อไป