ส.ว.สถิตย์ แน ปปง. เชื่อมโยงข้อมูลฟอกเงิน บังคับใช้กฎหมายเท่าทันอาชญากร

ส.ว.สถิตย์ แน ปปง. เชื่อมโยงข้อมูลฟอกเงิน บังคับใช้กฎหมายเท่าทันอาชญากร

ส.ว.สถิตย์ แนะ 3ข้อ ปปง. เชื่อมโยงข้อมูลฟอกเงิน เพื่อบังคับใช้กฎหมายเท่าทันอาชญากร

 ในการประชุมวุฒิสภา เมื่อวันที่14ก.พ.ที่ผ่านมา นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ สมาชิกวุฒิสภา อภิปรายในวาระการรายงานผลการปฏิบัติงานของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ว่า สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเป็นสำนักงานฯ ที่สำคัญ ที่มีเครื่องมือทางกฎหมายในการติดตามธุรกรรมทางด้านการเงิน แม้ว่าโดยทั่วไปจะมองว่าสำนักงานฯ มีบทบาทหลักในการตรวจสอบ ติดตาม ดำเนินการกับผู้กระทำความผิดในเรื่องของการฟอกเงิน แต่แท้ที่จริงแล้วการมีกฎหมายและมีกระบวนการในการทำงานเพื่อตรวจสอบการฟอกเงินดังกล่าว

มองในอีกมุมหนึ่ง เป็นกระบวนการที่นำไปสู่การป้องกันการเกิดขึ้นของอาชญากรรม เป็นกระบวนการที่นำไปสู่การปราบปรามการกระทำความผิด ซึ่งเป็นต้นเหตุของการนำมาฟอกเงินในภายหลัง ดังนั้นถ้ามองอีกมุมหนึ่งก็สามารถช่วยในการยับยั้งการกระทำความผิดที่เป็นมูลเหตุของการใช้กฎหมายฟอกเงิน และจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีหน้าที่ในการปราบปรามการกระทำความผิดเหล่านั้นได้รับทราบข้อมูลจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

ด้วยเหตุนี้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินจึงไม่ใช่เพียงแต่มีบทบาทสำคัญในการปราบปรามการฟอกเงินเท่านั้น แต่ยังควรมีบทบาทสำคัญในการป้องกันและเชื่อมโยงให้ข้อมูลกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่มีหน้าที่ในการปราบปรามการกระทำความผิดที่เป็นมูลเหตุในการต้องใช้กฎหมายการฟอกเงินนี้

นายสถิตย์ ยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า ในโลกของการกระทำความผิด รวมถึงโลกของการฟอกเงินปัจจุบัน ได้ใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีสารสนเทศมากขึ้นทุกที ด้วยเหตุนี้ถ้าหากว่าสำนักงานจึงควรพิจารณา 1.ควรจัดทำข้อมูลขนาดใหญ่ หรือที่เรียกว่าบิ๊กดาตา (Big Data) เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมทางการเงิน วิเคราะห์ข้อมูลและติดตามสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้อง จะทำให้การวิเคราะห์มีความครอบคลุม และมีความแม่นยำมากขึ้น 

2.หากมีข้อมูลขนาดใหญ่หรือบิ๊กดาตา (Big Data) แล้ว ก็ควรให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลดังกล่าวกับข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง เพื่อเชื่อมโยง และแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันได้ ก็จะทำให้ข้อมูลครบถ้วน และการวิเคราะห์ก็จะมีความแม่นยำ และมีความครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้หน่วยงานของรัฐหลายหน่วยงานต่างก็มีบิ๊กดาตา (Big Data) ของตัวเอง  แต่ยังไม่ได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลซึ่งกันและกัน จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องหาทางเชื่อมโยงเพื่อที่จะใช้ประโยชน์ของข้อมูลซึ่งกันและกัน นำไปสู่การสนับสนุนภารกิจที่แตกต่างกันออกไป 
 

3.สำนักงานฯ ควรจัดตั้งคณะทำงานพิเศษ หรือตั้งศูนย์พิเศษขึ้นมาในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำบิ๊กดาตา (Big Data) การเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานอื่น ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องก็จะเป็นผลดี ยิ่งเชื่อมโยงมากก็ยิ่งมีข้อมูลมาก ยิ่งวิเคราะห์ได้ครอบคลุมและเชื่อมโยงมากขึ้น และที่สำคัญ คือ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำแมชชีนเลิร์นนิ่ง (Machine Learning) หรือปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) เข้ามาประกอบในการวิเคราะห์ ซึ่งก็จะทำให้สำนักงานฯ เป็นสำนักงานที่เป็นหลักในการวิเคราะห์ต้นทางจากธุรกรรมการเงิน จากข้อมูลสินทรัพย์ที่มีอยู่ว่า มีแนวโน้มในการที่จะเกิดอาชญากรรมมากน้อยเพียงใด

เพราะฉะนั้น ไม่เพียงแต่ว่ามีฐานข้อมูลความผิดแล้วมาดูว่าฟอกเงินอะไรบ้าง ตรงกันข้ามถ้ามีระบบเหล่านี้ก็สามารถรู้ได้ว่าเริ่มมีการเคลื่อนไหวทางการเงิน เริ่มมีการเคลื่อนไหวทางสินทรัพย์ที่อาจจะนำไปสู่อาชญากรรมต่าง ๆ ได้ การเชื่อมโยงข้อมูลของสำนักงานฯ กับหน่วยงานอื่น ๆ จะส่งผลให้หน่วยงานอื่น ๆ สามารถติดตามการกระทำความผิด หรือป้องกันการกระทำความผิดเหล่านั้นตั้งแต่ต้นได้อย่างทันท่วงที 

นายสถิตย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า โดยสรุป คือ อยากสนับสนุนให้สำนักงานให้ความสำคัญกับเรื่องของเทคโนโลยีสารสนเทศในระดับที่สูงขึ้น และนอกเหนือจากทำงานปลายทางเรื่องการฟอกเงินแล้ว ควรจะนำข้อมูลเหล่านี้กลับทางไปต้นทางในการชี้เบาะแสให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ในการยับยั้งป้องกันการกระทำความผิดตั้งแต่ต้น หรือสามารถนำข้อมูลติดตามและปรามปราบการกระทำความผิดได้เป็นอย่างดี