กกต.เคาะส่งศาล รธน.วินิจฉัยนำคนไม่มีสัญชาติไทยคำนวณแบ่งเขตเลือกตั้ง

กกต.เคาะส่งศาล รธน.วินิจฉัยนำคนไม่มีสัญชาติไทยคำนวณแบ่งเขตเลือกตั้ง

กกต.ถกเครียด! เคาะส่งศาล รธน.วินิจฉัย ปมนำ “ราษฎร” ที่ไม่มีสัญชาติไทย มาคำนวณจำนวน ส.ส.พึงมี-แบ่งเขตเลือกตั้ง 66

เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2566 รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะมีการหารือต่อเนื่องจากเมื่อวาน (13 ก.พ.) ในประเด็นความเห็นแตกต่างกันกรณี กกต.นำจำนวนราษฎรที่ไม่มีสัญชาติไทย มาคำนวณจำนวน ส.ส.ที่แต่ละจังหวัดพึงมี รวมถึงการแบ่งเขตเลือกตั้ง 2566 ตามที่สำนักงาน กกต.เสนอ เนื่องจากเห็นว่า สังคมมีความไม่สบายใจ และมีความเห็นแตกต่างกันจากประชาชน พรรคการเมือง นักวิชาการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้มีความเคลือบแคลงใจว่า ควรจะมีแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างไร

วันเดียวกัน สำนักงาน กกต.​ เผยแพร่เอกสารแจ้งว่า กกต.ได้หารือเกี่ยวกับการกำหนดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี  ตามมาตรา 86  ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560  แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 1 ) พุทธศักราช 2564 โดยได้นำข้อคิดเห็นจากประชาชน พรรคการเมือง นักวิชาการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณา ประกอบกับมีผู้ไปยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน

 

 ดังนั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนและให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นด้วยความเรียบร้อยตามรัฐธรรมนูญ    กกต.พิจารณาแล้วเห็นว่ากรณีดังกล่าวเป็นปัญหาซึ่งเกี่ยวกับหน้าที่ และอำนาจของกกต.ที่เกิดขึ้นแล้ว    จึงมีมติให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของกกต. ในกำหนดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  ที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี ตามมาตรา 210 (2)   ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช  2560  แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 1 ) พุทธศักราช 2564   ประกอบมาตรา 7(2)   มาตรา 41 (4 )  และมาตรา 44   แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561  และข้อ  15  ของข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2562

กกต.เคาะส่งศาล รธน.วินิจฉัยนำคนไม่มีสัญชาติไทยคำนวณแบ่งเขตเลือกตั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุม กกต.เมื่อวานนี้ กกต.ได้แสดงความเห็นกันอย่างหลากหลาย เช่น ถ้าเดินหน้าทำแบบเดิมต่อจะเกิดปัญหาอะไรในอนาคตบ้าง หรือถ้ายื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความในขณะนี้จะทำได้หรือไม่ เพราะ กกต.อยากให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และผลการเลือกตั้งออกมาเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย

ทั้งนี้ ในวันที่ 14 ก.พ. 2566 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย จะยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการแบ่งเขตเลือกตั้งตามมาตรา 86 รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ.2564 ประกอบมาตรา 26 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566 ว่าการกำหนดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี และการแบ่งเขตเลือกตั้งให้ใช้จำนวนราษฎรทั้งประเทศ ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้งนั้น หมายความรวมถึงจำนวนราษฎรผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้น หรือหมายความรวมถึงราษฎรที่เป็นคนต่างด้าวด้วยหรือไม่