ย้อนไทม์ไลน์ปมบัตรเลือกตั้งนิวซีแลนด์ บทเรียน กกต.ก่อนจัดเลือกตั้ง 66

ย้อนไทม์ไลน์ปมบัตรเลือกตั้งนิวซีแลนด์ บทเรียน กกต.ก่อนจัดเลือกตั้ง 66

เปิดไทม์ไลน์ส่งบัตรเลือกตั้ง 62 นิวซีแลนด์ 1,542 คะแนนล่าช้า ชนวน ป.ป.ช.ฟันอดีตรองเลขาฯ กกต.ผิดวินัยอย่างร้ายแรง บทเรียนสำคัญก่อนจัดเลือกตั้ง 66

ใกล้โค้งสุดท้ายเลือกตั้ง 2566 เข้าไปทุกขณะ ก็มีบรรยากาศเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 62 มาเบรกให้หวนนึกถึง

กรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิด “ณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล” หรือที่สื่อเรียกกันติดปากว่า “รองณัฏฐ์” อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (รองเลขาฯ กกต.) ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลการเลือกตั้งเมื่อปี 2562

โดยกรณีนี้ “ณัฏฐ์” ชี้มูลความผิดวินัยอย่างร้ายแรง กรณีถูกกล่าวหาว่า ปฏิบัติหน้าที่โดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กรณีไม่ดำเนินการรับมอบและติดตามถุงเมล์การทูตที่บรรจุซองใส่บัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนอกราชอาณาจักร จากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวลลิงตัน ประเทศนิวซีแลนด์ ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ทำให้ไม่สามารถนำคะแนนดังกล่าว มานับคะแนนและคำนวณจำนวน ส.ส.ในการเลือกตั้งปี 2562 ได้ทันเวลา

ว่ากันว่า สาเหตุการไต่สวนกรณีนี้ เกิดจากอดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคการเมืองหนึ่ง ที่พ่ายแพ้ไปแค่ "ไม่กี่คะแนน" ในการเลือกตั้ง 2562 อ้างว่า ถ้าได้คะแนนจากบัตรเลือกตั้งที่นิวซีแลนด์จะชนะได้ ทำให้เกิดการร้องเรียนเกิดขึ้น

ในสำนวนการไต่สวนของ ป.ป.ช. ระบุว่า นายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล ซึ่งได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่ควบคุม ติดตาม ตรวจสอบ กำกับดูแล จัดการ ประสานงานการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อปี 2562 กำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของคณะทำงานคัดแยกซองใส่บัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส. 5/2) (นอกเขตเลือกตั้งและนอกราชอาณาจักร) 

โดยทราบตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค. 2562 ว่าการส่งถุงเมล์การทูตที่บรรจุบัตรเลือกตั้งฯ จากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวลลิงตัน กลับมาประเทศไทย เกิดปัญหาความล่าช้าและอาจไม่ทันกำหนดส่งบัตรเลือกตั้งดังกล่าวให้เขตเลือกตั้ง ภายในวันที่ 23 มี.ค. 2562 รวมทั้งยังได้รับการรายงานปัญหาดังกล่าวจากผู้ใต้บังคับบัญชา และหน่วยงานสนับสนุนการเลือกตั้งอีกหลายครั้ง แต่นายณัฏฐ์ ไม่ดำเนินการแก้ไข แนะนำ สั่งการ ประชุมปรึกษาหารือ หรือรายงานผู้บังคับบัญชาเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว

จนกระทั่งวันที่ 23 มี.ค. 2562 เวลา 20.50 น. ถุงเมล์การทูตดังกล่าวถึงสนามบินสุวรรณภูมิ และนายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล ได้รับทราบแล้ว แต่กลับไม่สั่งการหรือประสานงานเพื่อให้มีการรับถุงเมล์การทูตดังกล่าว หรือรายงานผู้บังคับบัญชาเพื่อให้มีการแก้ไขปัญหา เป็นเหตุให้บัตรเลือกตั้งฯ จากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเวลลิงตัน ไม่สามารถนำมานับเป็นคะแนนได้

ท้ายที่สุดจึงถูกชี้มูลความผิดดังกล่าว อย่างไรก็ดีกระบวนการจาก ป.ป.ช.เป็นแค่ขั้นต้นเท่านั้น นายณัฏฐ์ ยังมีสิทธิ์อุทธรณ์โต้แย้งมติของ ป.ป.ช.ต่อผู้บังคับบัญชา และมีสิทธิฟ้องต่อศาลปกครองเพิกถอนมติของ ป.ป.ช.ต่อไป

อ่านข่าว: ฟันผิดวินัยร้ายแรง “อดีตรองเลขาฯ กกต.” ไม่ติดตามถุงบัตรเลือกตั้งปี 62

ล่าสุด “ณัฏฐ์” ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนี้ เล่าเบื้องหลังเหตุการณ์ดังกล่าวว่า เป็นเรื่องของระบบ และเป็นเหตุสุดวิสัย ทุกคนก็ตั้งใจทำงานดีอยู่แล้ว แต่เรื่องนี้เป็นธรรมชาติของการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ที่จะมีบัตรเลือกตั้งส่งมาไม่ทันเป็นเรื่องปกติ โดยกรณีดังกล่าวเป็นการช่วยกันหลายฝ่าย มีคณะกรรมการที่ได้รับมอบมาย ทั้งกระทรวงต่างประเทศ กรมการกงสุล ไปรษณีย์ไทย กรมศุลกากร ไม่มีใครละเลย และปัญหาลักษณะนี้เกิดขึ้นทุกครั้งที่มีการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร เป็นเหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถเอาบัตรเข้ามาในระบบได้เพราะเป็นเรื่องหน่วยงานต่างประเทศ

เมื่อถามว่าหลังจากนี้จะมีการดำเนินการอย่าไรต่อไป นายณัฏฐ์ กล่าวว่า ต้องรอดูว่าจะมีหนังสือแจ้งเป็นทางการเมื่อไหร่ และขั้นตอนจะเป็นอย่างไรต่อไป หลังจากนี้คงจะต้องไปศึกษากฎหมายก่อน เพราะเพิ่งทราบข่าว และขอทำใจก่อน

อ่านข่าว: ขอทำใจก่อน! อดีตรองเลขาฯ กกต.แจงปมถูก ป.ป.ช.ฟันผิดอย่างวินัยร้ายแรง

กรุงเทพธุรกิจ ย้อนรอยเหตุการณ์ดังกล่าว โดยอ้างอิงจากคำชี้แจงของกระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงาน กกต. สรุปข้อเท็จจริงได้ ดังนี้

เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2562 สถานเอกอัครราชทูต กรุงเวลลิงตัน นิวซีแลนด์ ดำเนินการจัดการเลือกตั้ง โดยมีผู้ที่ลงทะเบียนทั้งหมด 1,862 คน และมีผู้ที่ใช้สิทธิเลือกตั้งรวม 1,542 คน หรือเท่ากับร้อยละ 82.81

เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2562 สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้คัดแยกซองบัตรเลือกตั้งทั้งหมดจนเสร็จ

เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2562 

  • เวลา 17.45 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตฯ จัดส่งถุงเมล์การทูตพิเศษ บรรจุบัตรเลือกตั้งที่ลงคะแนนแล้ว ออกจากกรุงเวลลิงตัน ด้วยสายการบิน Air New Zealand
  • เวลา 18.44 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) ถุงเมล์การทูตพิเศษดังกล่าว มาถึงนครโอ๊คแลนด์ นิวซีแลนด์ โดยมีกำหนดการให้ถึงไทยในวันที่ 19 มี.ค. 2562

เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2562 เวลา 6.37 น. ถุงเมล์ดังกล่าวถูกส่งต่อให้กับแผนกคลังสินค้าของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่นครโอ๊คแลนด์

เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2562 เวลา 15.00 น. ถุงเมล์ได้ถูกจัดส่งออกมายังประเทศไทย ด้วยเที่ยวบินที่ TG 492 มีกำหนดถึงไทยในเวลา 20.50 น.ของวันเดียวกัน

เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2562 เวลา 20.50 น. กระทรวงการต่างประเทศ ออกเอกสารชี้แจงภายหลังได้รับแจ้งจาก กกต. และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ว่า ซองใส่บัตรเลือกตั้งจากกรุงเวลลิงตัน เพิ่งเดินทางมาถึงไทย โดยล่าช้าไป 4 วัน ทำให้เวลาดำเนินการไม่เพียงพอต่อการจัดส่งบัตรไปยังสถานที่นับคะแนนเลือกตั้ง ตามเวลาที่กำหนดร่วมกันไว้

เมื่อวันที่ 24. มี.ค. 2562 (ตรงกับวันเลือกตั้งทั่วในไทย) เวลา 19.30 น. กระทรวงการต่างประเทศ ได้รับถุงเมล์ที่คลังสินค้าของการบินไทย 

เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2562 กระทวงการต่างประเทศ ส่งมอบถุงเมล์ให้กับสำนักงาน กกต.

เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2562 กกต.ได้ประชุมวินิจฉัยกรณีดังกล่าว โดยมีมติเอกฉันท์ให้บัตรเลือกตั้งจากนิวซีแลนด์ จำนวน 1,542 ใบดังกล่าวเป็น “บัตรเสีย” ทั้งหมด เนื่องจากจัดส่งไม่ทันเวลานับคะแนน เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 โดยอ้างตามมาตรา 114 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 (บังคับใช้ขณะนั้น) โดยระบุว่า กรณีที่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการออกเสียงลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้ง หรือการออกเสียงลงคะแนนนอกราชอาณาจักรที่ใด มิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือมีการส่งบัตรเลือกตั้งมาถึงสถานที่นับคะแนนของเขตเลือกตั้งใดหลังจากเริ่มนับคะแนนแล้ว หรือหีบห่อที่ส่งบัตรเลือกตั้งมีลักษณะถูกเปิดมาก่อน มีเหตุอันสมควรเชื่อได้ว่าเกิดจากการกระทำที่ไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือมีบัตรเลือกตั้งจากที่ใดสูญหาย ให้ กกต.มีอำนาจสั่งมิให้นับคะแนนนั้น โดยให้ถือว่าเป็นบัตรเสีย

ทั้งหมดคือ “ไทม์ไลน์” บัตรเลือกตั้งจำนวน 1,542 เสียงที่กลายเป็น “บัตรเสีย” ไป เนื่องจากจัดส่งไม่ทันเวลา อย่างไรก็ดีเงื่อนปมสำคัญคือ ช่วงรอยต่อระหว่างวันที่ 18 มี.ค.-21 มี.ค. 2562 ที่กระทรวงการต่างประเทศระบุว่า ทำการจัดส่งถุงเมล์การทูตพิเศษ ที่บรรจุบัตรเลือกตั้งมาให้การบินไทยนั้น ไฉนถึงใช้เวลาเกือบ 3 วันดำเนินการเรื่องนี้

เรื่องนี้กลายเป็นอีกหนึ่ง “บทเรียน” สำหรับการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 จนกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันทั่วประเทศ ไม่ต่างอะไรกับประเด็น “บัตรเขย่ง” จนสุดท้ายมีคนต้อง "รับบาป" กับกรณีนี้ แม้ว่าเวลาจะผ่านมานานเกือบ 4 ปีแล้วก็ตาม

สำหรับการเลือกตั้ง 2566 ที่กำลังจะมาถึงอีกไม่นาน กกต.จะมีมาตรการป้องกันปัญหาเหล่านี้หรือไม่ ต้องติดตามกัน