กกต.เปิด 3 รูปแบบชงพรรคเคาะงบหาเสียงเลือกตั้ง 66 ครบวาระ-ยุบสภาต่างเยอะ

กกต.เปิด 3 รูปแบบชงพรรคเคาะงบหาเสียงเลือกตั้ง 66 ครบวาระ-ยุบสภาต่างเยอะ

กกต.เปิด 3 รูปแบบงบหาเสียงเลือกตั้ง 66 ให้ “พรรคการเมือง” เลือก เคาะสูตรเบื้องต้น ครบวาระ ผู้สมัคร ส.ส.เขตคนละ 6.5 ล้านบาท พรรค 152 ล้านบาท หากยุบสภา ส.ส.เขตเหลือคนละ 1.74 ล้านบาท พรรคได้แค่ 40.6 ล้านบาท อีก 2 แบบให้ “คลัง-ธปท.-พาณิชย์” คำนวณ อาจรวมอัตรา “เงินเฟ้อ” ด้วย

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 8 ก.พ. 2566 ที่โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ประธาน กกต.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมหารือกับพรรคการเมืองเพื่อกำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายของผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และแบบบัญชีรายชื่อ รวมทั้งหารือเรื่องของการติดป้ายประกาศ ติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง และวิธีการสรรหาผู้สมัครลงรับเลือกตั้งของพรรคการเมือง (ไพรมารีโหวต) เพื่อเตรียมความพร้อมการเลือกตั้ง ส.ส. ว่า ค่าใช้จ่ายของผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง กกต.ได้กำหนดไว้ 3 รูปแบบ คือ

รูปแบบแรก กกต.คิดเอง โดยคำนวณกับปัจจัย 7 ประการ ได้แก่ 

  1. อัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ
  2. ดัชนีราคาผู้บริโภค 
  3. น้ำมันดีเซล 
  4. ราคาไม้อัดราคาไม้อัดขนาด 4X8 ฟุต หนา 4 มิลลิเมตร 
  5. กระดาษโปสเตอร์ขนาด 15.5X21.5 (บาทต่อแผ่น) 
  6. ค่าไวนิลขนาด 1X3 เมตร (บาทต่อผืน) 
  7. ฟิวเจอร์บอร์ด 130 เซนติเมตร X 3 มิลลิเมตร (บาทต่อแผ่น) 
  • หากสภาอยู่ครบวาระ ผู้สมัคร ส.สแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ใช้จ่ายได้คนละ 6.5 ล้านบาท และพรรคการเมืองใช้จ่ายได้ 152 ล้านบาท
  • ส่วนกรณีมีการยุบสภาผู้สมัคร ส.สแบบแบ่งเขตเลือกตั้งใช้จ่ายได้คนละ 1.74 ล้านบาท และพรรคการเมืองใช้จ่ายได้ 40.6 ล้านบาท

รูปแบบที่ 2 เป็นการนำปัจจัย 7 ประการไปหารือกับ 3 หน่วยงานทางเศรษฐกิจ ได้แก่กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงพาณิชย์ ทำให้จำนวนค่าใช่จ่ายของผู้สมัครเพิ่มขึ้นกว่าที่ กกต.ตั้งตุ๊กตาไว้ 

รูปแบบที่ 3 เป็นข้อเสนอของ 3 หน่วยงาน ที่เห็นว่าควรคำนวณอัตราเงินเฟ้อรวมเข้าไปด้วย 

นายอิทธิพร กล่าวอีกว่า การเสนอทั้ง 3 รูปแบบ ได้เสนอให้ผู้แทนพรรคการเมืองได้พิจารณา ที่พรรคการเมืองได้แสดงความเห็นอย่างหลากหลาย มีทั้งเห็นว่าเหมาะสมแล้ว มากเกินไป หรือน้อยเกินไป โดย กกต.มีแบบสอบถามความเห็นให้พรรคการเมืองได้แสดงความเห็นว่าพึงพอใจรูปแบบใด จากนั้นทำสำนักงาน กกต.ก็จะนำความเห็นมาประมวล และส่งให้ที่ประชุม กกต. พิจารณาว่าเท่าใดจึงจะเหมาะสมก่อนที่จะออกประกาศ

นายอิทธิพร กล่าวด้วยว่า สำหรับการติดป้ายหาเสียงประเด็นที่พรรคการเมืองสอบถามคือต้องการทราบว่าสามารถติดป้ายไว้ที่ใดบ้าง ส่วนขนาดมีทั้งที่มองว่าที่ กกต. กำหนดใหญ่หรือเล็กเกินไป แทนที่จะให้พรรคเป็นผู้ดำเนินการ กกต.ควรเป็นคนกำหนด และมีข้อเสนอในเรื่องของสถานที่ติดป้ายประกาศว่า กกต.ควรจะเป็นผู้กำหนด