ศาล รธน.รับคำร้อง กกต.ชี้ขาดอำนาจจัดเลือกตั้งท้องถิ่น

ศาล รธน.รับคำร้อง กกต.ชี้ขาดอำนาจจัดเลือกตั้งท้องถิ่น

“ศาลรัฐธรรมนูญ” รับวินิจฉัยคำร้อง กกต. อำนาจหน้าที่จัดการ “เลือกตั้งท้องถิ่น” ทั้งประเด็นรับสมัคร-นับคะแนน-แบ่งเขตเลือกตั้ง สั่งเลขาสภาผู้แทนฯ-วุฒิสภา-กฤษฎีกา จัดส่งข้อมูลภายใน 15 วัน

เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2566 ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณากรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้วินิจฉัยปัญหาหน้าที่และอำนาจของ กกต.ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง ประเด็นการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2561 ดังนี้

  1. กรณีการวินิจฉัยสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นฯ มาตร 55 วรรคหนึ่ง
  2. กรณีการสั่งให้นับคะแนนเลือกตั้งใหม่และการสั่งให้ออกเสียงลงคะแนนใหม่ตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นฯ มาตรา 105 และ 106
  3. กรณีการแบ่งเขตเลือกตั้งตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นฯ มาตรา 20

โดยศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบแล้ว เห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอำนาจพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ ซึ่งการยื่นคำร้องดังกล่าวต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) และ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 44 ประกอบมาตรา 7 (2) คือ ต้องเป็นปัญหาซึ่งเกี่ยวกับหน้าและอำนาจที่เกิดขึ้นแล้ว และกรณีที่มีปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นหน่วยงานใดให้หน่วยงานนั้นเป็นผู้มีสิทธิยื่นหนังสือต่อศาลรัฐธรรมนูญ

ศาล รธน.รับคำร้อง กกต.ชี้ขาดอำนาจจัดเลือกตั้งท้องถิ่น

เมื่อข้อเท็จจริงตามคำร้องปรากฏว่า กกต. ที่เป็นองค์กรอิสระ ส่งปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) กรณีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ประกอบ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญฯ จึงสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย

เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณา อาศัยอำนาจตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 27 วรรคสาม ให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เลขาธิการวุฒิสภา และเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา จัดส่งข้อมูล พร้อมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องตามที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนด โดยให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ