ปักชนัก “ศักดิ์สยาม” ปมหุ้นลาม ยื่นศาลสอย

ปักชนัก “ศักดิ์สยาม” ปมหุ้นลาม ยื่นศาลสอย

"...ทั้งหมดคือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเงื่อนปมดังกล่าว ที่ยังถูกสังคมกังขาอยู่ กระทั่งถูกพรรคร่วมฝ่ายค้านยื่นเรื่องถึง “นายหัวชวน” ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เกิดความกระจ่างชัดอยู่ในตอนนี้..."

ประเด็นการถือครองหุ้นของ “เสี่ยโอ๋ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย น้องชายหัวแก้วหัวแหวน “ครูใหญ่ค่ายเซาะกราว” กลับมาได้รับความสนใจจากสาธารณชนอีกครั้ง

พลันที่พรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ร่วมกันเข้าชื่อยื่นหนังสือร้องเรียนถึง “ชวน หลีกภัย” ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ส่งไปเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีและสมาชิกภาพ ส.ส.ของ “ศักดิ์สยาม” และขอให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง

มีการกล่าวหาสืบเนื่องจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ผ่านมาว่า “ศักดิ์สยาม” อาจเข้าข่ายใช้ “นอมินี” ถือหุ้นใน หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น เอกชนรับเหมาก่อสร้างยักษ์ใหญ่ในพื้นที่ “อีสานใต้” รวมถึง หจก.แห่งนี้ ยังเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคม ในช่วงที่ “เสี่ยโอ๋” นั่ง รมว.คมนาคม ด้วย อาจเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่

แม้บางฝ่ายอาจมองว่า การยื่นเรื่องร้องเรียนของพรรคร่วมฝ่ายค้านดังกล่าว คือการเทคแอ็คชั่นทางการเมือง หวังดิสเครดิตพรรคคู่แข่ง อย่างไรก็ดี หากมองให้ลึกในข้อเท็จจริงแล้ว มีหลายประเด็นที่ “เสี่ยโอ๋” ยังตอบไม่ชัดเจนเช่นกัน

“ศักดิ์สยาม” ชี้แจงข้อเท็จจริงหลายครั้งยืนยันว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใน หจก.บุรีเจริญฯ อีกต่อไปแล้ว เช่นเดียวกับผู้บริหาร หจก.แห่งนี้ ยืนยันว่า “เสี่ยโอ๋” ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการบริหารธุรกิจ และการซื้อขายหุ้นดังกล่าวซื้อขายกันด้วยราคารพาร์ ไม่มีใครได้กำไร จึงไม่ต้องมีการเสียภาษี เป็นไปตามประมวลรัษฎากร 

ส่วนประเด็นที่ตั้งของ หจก.บุรีเจริญฯ ที่ยังใช้บ้านของศักดิ์สยามอยู่นั้น มีการชี้แจงว่า เพราะคู่ค้ารู้จักที่ตั้งตรงนี้ดี มีความสะดวกในการติดต่อทำธุรกิจ และเนื่องจากงานส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคอีสาน การให้บริษัทอยู่ที่เดิม ทำงานได้ง่ายกว่าย้ายไปที่อื่น

สำหรับที่มาที่ไปของ หจก.บุรีเจริญฯ จากการตรวจสอบกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า

เมื่อปี 2539 ศักดิ์สยาม และ พ.ต.ต.เพิ่มพูน ชิดชอบ (ยศขณะนั้น) คือผู้ร่วมก่อตั้ง และร่วมลงหุ้น หลังจากนั้นศักดิ์สยามได้ลาออกจากการเป็นหุ้นส่วนเมื่อปี 2540 กระทั่งปี 2558 ได้กลับมาเป็นหุ้นส่วนใหญ่อีกครั้ง ต่อมาในปี 2560 มี เอกราช ชิดชอบ เข้ามาร่วมเป็นหุ้นส่วน หลังจากเมื่อปี 2561 ศักดิ์สยาม ได้โอนหุ้นให้แก่ศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ มูลค่าหุ้น 119 ล้านบาทเศษ

ต่อมาในช่วงปี 2558 ที่ศักดิ์สยาม กลับมาเป็นหุ้นส่วนใหญ่ใน หจก.บุรีเจริญฯ ได้มีการเปลี่ยนที่ตั้งมาเป็น เลขที่ 30/2 ม.15 ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งตรงกับที่อยู่ของศักดิ์สยาม ที่แจ้งในบัตรประจำตัวประชาชน และแจ้งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยระหว่างปี 2558-2562 หรือราว 4 ปี หจก.บุรีเจริญฯ ใช้ที่ตั้งดังกล่าว ซึ่งเป็นที่อยู่เดียวกับศักดิ์สยามมาโดยตลอด

หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2562 มีการเปลี่ยนที่ตั้ง หจก. มาเป็นเลขที่ 30/17 ม.15 ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ โดยเกิดขึ้นก่อนหน้าที่นายศักดิ์สยามจะได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง รมว.คมนาคม ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 2/1 เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2562 ราว 23 วัน

แต่เงื่อนปมสำคัญที่ยังตอบไม่ชัดเจน คือ

1.ศักดิ์สยาม ระบุว่า มีการขายหุ้นให้กับศุภวัฒน์ โดยแบ่งเป็นการโอนเงิน 3 ครั้ง ตามเอกสารสลิปการโอนเงินผ่านธนาคารธนชาต 3 ฉบับ ได้แก่ ส.ค. 2560 จำนวน 35 ล้านบาท ก.ย. 2560 จำนวน 35 ล้านบาท และ ม.ค. 2561 จำนวน 49.5 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 119.5 ล้านบาท

โดยในสัญญาซื้อขายหุ้นที่แจ้งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า มีการระบุว่าทำสัญญาเมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2561 ที่ หจก.บุรีเจริญฯ ซึ่งคือที่ตั้งเดียวกับบ้านศักดิ์สยาม ณ บ้านเลขที่ 30/2 ม.15 ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ เท่ากับว่าการชำระเงินลอตแรก เกิดขึ้นก่อนทำสัญญาราว 6 เดือน

ประเด็นนี้ ศักดิ์สยาม เคยชี้แจงแล้วว่า การซื้อขายหุ้นไม่จำเป็นต้องชำระและโอนเงินทันที โดยตนและศุภวัฒน์เป็นเพื่อนกัน การซื้อขายหุ้นมีการพูดคุยตั้งแต่ปี 2560 เพราะเมื่อรัฐธรรมนูญปี 2560 มีผลบังคับใช้ ตนเป็นนักการเมืองจึงต้องเคลียร์คุณสมบัติเหล่านี้ให้หมด และได้ดำเนินการก่อน

2.ระหว่างปี 2558-2561 ศักดิ์สยามได้กลับมาถือหุ้นใหญ่ใน หจก.บุรีเจริญฯ มีการเปลี่ยนแปลงทุนจดทะเบียนครั้งใหญ่ 3 ครั้ง

3.สินทรัพย์ของ หจก.บุรีเจริญฯ ระหว่างปี 2560 ในช่วงที่ศักดิ์สยาม ระบุว่า ได้มีการหารือพูดคุยกับศุภวัฒน์ เพื่อทำสัญญาซื้อขายหุ้นดังกล่าว พบว่า หจก.บุรีเจริญฯ เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ อย่างน้อย 36 โครงการ รวมวงเงิน 319.99 ล้านบาท

หากนับช่วง “ศักดิ์สยาม” เป็น รมว.คมนาคมแล้ว (ปี 2562-ปัจจุบัน) พบว่า ระหว่างปี 2562-2565 หจก.บุรีเจริญฯ เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐอย่างน้อย 114 โครงการ รวมวงเงิน 1,748 ล้านบาท ถ้าโฟกัสเฉพาะหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคม พบว่า เป็นคู่สัญญาอย่างน้อย 48 โครงการ รวมวงเงิน 888.44 ล้านบาท

หากพิจารณาจาก หจก.แห่งนี้ ศักดิ์สยาม และคนตระกูลชิดชอบเป็นผู้ก่อตั้ง ต่อมาศักดิ์สยามกลับเข้ามาถือหุ้นใหญ่อีก รวมถึงมีการเพิ่มทุนจดทะเบียนอีก 3 ครั้ง โดยเป็นเงินของนายศักดิ์สยาม จึงอาจเปรียบได้ว่า หจก.บุรีเจริญฯ เสมือน “เส้นเลือดใหญ่” ของตระกูล “ชิดชอบ”

ไฉน “ศักดิ์สยาม” จึงนำหุ้นใหญ่ใน หจก.แห่งนี้ มาขายให้กับ “เพื่อนสนิท” ด้วยราคาปกติ (ราคาพาร์) ไม่คิดกำไรใด ๆ ทั้งสิ้น ทั้งที่ในปี 2560 หจก.แห่งนี้มีสินทรัพย์ถึง 205 ล้านบาท มีรายได้ถึง 340 ล้านบาท กำไรกว่า 10 ล้านบาท แถมยังเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐวงเงินไม่ต่ำกว่า 319 ล้านบาท (ในช่วงปี 2560)

นอกจากนี้ ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายอ้างว่า ข้อมูลจากกรมสรรพากร และประกันสังคม พบว่า ศุภวัฒน์ มีรายได้ระหว่างปี 2558-2563 มีรายได้ตกปีละ 100,000 บาท หรือเฉลี่ยเดือนละ 9,000 บาท โดยมาจากเงินเดือนจากบริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (๑๙๙๑) จำกัด เพียงแหล่งเดียว

ส่วนธุรกิจของนายศุภวัฒน์ 5 แห่ง ถูกนายทะเบียนขีดชื่อว่า “ร้าง” 3 แห่ง เหลือเพียง 2 แห่ง คือ หจก.บุรีเจริญฯ ที่เพิ่งซื้อหุ้นจากนายศักดิ์สยามเมื่อต้นปี 2561 อีกแห่งคือ บริษัท สวนกุหลาบ เซอรารี่ซีล จำกัด ทุนปัจจุบัน 15 ล้านบาท บริษัทแห่งนี้ไม่มีรายได้ในช่วง 3 ปีหลังสุด โดยย้อนกลับไปมีรายได้เมื่อปี 2561 แค่ 3 ล้านบาทเศษ ขาดทุนสุทธิกว่า 1.9 ล้านบาท ย้อนไปมีกำไรล่าสุดเมื่อปี 2560 แค่ 2 ล้านบาทเศษ 

แล้วศุภวัฒน์ นำเงินจากไหนมาเป็นค่าจ่ายหุ้นแก่นายศักดิ์สยาม แบ่งเป็น 3 ช่วงคือ ก้อนแรก 35 ล้านบาท ก้อนสอง 35 ล้านบาท และก้อนสาม 49.5 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 119.5 ล้านบาท

ทั้งหมดคือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเงื่อนปมดังกล่าว ที่ยังถูกสังคมกังขาอยู่ กระทั่งถูกพรรคร่วมฝ่ายค้านยื่นเรื่องถึง “นายหัวชวน” ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เกิดความกระจ่างชัดอยู่ในตอนนี้

นี่ยังไม่นับกรณี “ศักดิ์สยาม” ถูกร้องเรียนอีกหลายประเด็นในชั้นการตรวจสอบของสำนักงาน ป.ป.ช. ไม่ว่าจะเป็นกรณีล่าสุดอย่าง “เปลี่ยนป้าย 33 ล้านบาท” ของสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ แม้กระทรวงคมนาคมจะสรุปผลมาว่า ไม่มีอะไรผิดปกติ แต่ค้านสายตาประชาชนเป็นอย่างมาก รวมถึงกรณีการประมูลโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่ถูกกล่าวหาว่าอาจมีการฮั้วประมูลเกิดขึ้น เป็นต้น

อย่างไรก็ดี กรณีนี้ยังถือว่าเป็นกระบวนการชั้นต้น ที่ผ่านมา หจก.บุรีเจริญฯ และศักดิ์สยามยังไม่มีปัญหาการร้องเรียนเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างแต่อย่างใด และยังไม่มีคำพิพากษาอันถึงที่สุดของศาล ดังนั้นจึงยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่