“ก้าวไกล” อัด กกต.ใกล้เลือกตั้งแต่ไร้ความพร้อม ไม่มีรายงานผลเรียลไทม์

“ปดิพัทธิ์ ก้าวไกล” ออกโรงอัด กกต. ยิ่งใกล้เลือกตั้งแต่ยังไร้ความพร้อม ข้องใจอ้างรายงานผลเรียลไทม์ไม่ได้ เพราะขาดเทคโนโลยี ชี้ภาคประชาสังคมใช้กันมานานแล้วจะไม่มีได้ไง ดักคออย่าเอารัฐบาลเป็นข้ออ้าง เผย กมธ.พัฒนาการเมืองฯ เตรียมถก 18 ม.ค.

เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2566 นายปดิพัทธิ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล และรองประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยถึงกรณีที่วันที่ 18 ม.ค. 2566 กมธ. ได้เชิญคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เข้าชี้แจงและหารือถึงความพร้อมในการจัดการเลือกตั้งของ กกต. ซึ่งที่ผ่านมามีข้อวิพากษ์วิจารณ์และข้อข้องใจจากสังคมหลายเรื่อง ว่า ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ ที่ยิ่งใกล้ครบกำหนดวาระของรัฐบาล ก็ยิ่งปรากฏกระแสข่าวเกี่ยวกับการยุบสภามากขึ้น หรือหากไม่มีการยุบสภาก็มีกำหนดที่ชัดเจนอยู่แล้วว่าการเลือกตั้งจะต้องจัดขึ้นไม่เกินวันที่ 7 พ.ค. 2566 แต่สิ่งที่น่ากังวล คือ กกต. กลับไม่ได้แสดงท่าทีว่ามีความพร้อมที่มากขึ้น ในทางกลับกัน ยิ่งแสดงตนถึงความไม่พร้อมในการจัดการเลือกตั้งมากขึ้นเรื่อย ๆ

นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ในการนี้ กมธ.พัฒนาการเมืองฯ จึงได้เชิญ กกต.ให้มาชี้แจงในประเด็นข้อสงสัยต่างๆ ของสังคม ในวันที่ 18 ม.ค. 2566 ซึ่งโดยส่วนตัว ก็มีข้อสงสัยหลายด้านที่เห็นตรงกับ กมธ. หลายคน ไม่ว่าจะเป็นการอัปเดตฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ซึ่งจะนำพาไปสู่การแบ่งเขตเลือกตั้ง ทั้งที่เป็นเรื่องที่ไม่ควรใช้เวลานาน แต่ขณะนี้กลับยังอยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็น เป็นเรื่องที่ กกต. ควรทำได้อย่างรวดเร็วและเปิดเผยมากกว่านี้ รวมทั้งเรื่องการกำหนดค่าใช้จ่ายในการหาเสียงของผู้สมัคร ที่ กกต. เคยออกมาเปิดเผยก่อนหน้านี้ว่าจะแบ่งออกเป็นสองกรณี คือกรณีที่มีการยุบสภาและกรณีที่ไม่มีการยุบสภา ซึ่งปรากฏว่าตัวเลขวงเงินมีความแตกต่างกันมากถึง 5 เท่า ทั้งในระดับ ส.ส.แบบแบ่งเขตและในระดับพรรคการเมือง นำไปสู่คำถามว่าการกำหนดให้แตกต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญเช่นนี้ เพื่อจงใจทำให้เกิดความสับสนและความได้เปรียบเสียเปรียบอย่างไรหรือไม่

นายปดิพัทธ์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ กมธ.พัฒนาการเมืองฯ ตั้งคำถามอย่างมาก คือเรื่องของเทคโนโลยี ที่ กกต. เพิ่งออกมาระบุว่าตัวเองไม่มีความพร้อมในการจัดทำแอปพลิเคชันรายงานผลการเลือกตั้งแบบเรียลไทม์ ที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากในการลดข้อผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้นในการเลือกตั้งปี 2562 เช่น การใช้เวลาที่ยาวนานเกินควรมาก กว่าที่จะมีการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ การไม่มีการรายงานผลแบบเรียลไทม์ และการไม่มีผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งจากต่างประเทศเข้ามาร่วมสังเกตการณ์ด้วย โดย กกต. ได้อ้างถึงการไม่มีเแอปพลิเคชันและเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง ซึ่งไม่สมเหตุสมผล เนื่องจากที่ผ่านมาภาคประชาสังคม โดยเฉพาะในด้านการมีส่วนร่วมของพลเมือง (civic tech) หรือองค์กรสังเกตการณ์การเลือกตั้งอื่นๆ ต่างก็มีแพลตฟอร์มรายงานผลการเลือกตั้งอยู่แล้วเป็นจำนวนมาก ดังนั้น จะบอกว่าไม่มีเทคโนโลยีนี้ไม่ได้ 

นายปดิพัทธ์ กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกัน กกต. ก็มีแอปพลิเคชันมากมายที่ยังใช้งานได้ไม่เต็มฟังก์ชั่น สิ่งที่ กกต. ควรทำจึงเป็นการย้อนกลับไปมองถึงแอปพลิเคชันที่ตัวเองมีอยู่ ซึ่งในอนาคตควรพัฒนาให้เหลือเพียงแอปพลิเคชันเดียวที่สามารถทำทุกเรื่องได้อย่างครบวงจร ทั้งในเรื่องการให้ความรู้เรื่องการเลือกตั้ง รายงานผลการเลือกตั้ง จับทุจริต ฯลฯ แทนที่จะเป็นแอปพลิเคชันย่อยๆ หลายชิ้นที่ทำงานแยกกันแบบปัจจุบันนี้ นอกจากนี้ แพลตฟอร์มที่ใช้ในการรายงานผลการเลือกตั้ง จะใช้รูปแบบเว็บไซต์ หรือ Google Form ก็ยังได้

“ถ้ามีความมุ่งมั่นที่จะรายผลแบบเรียลไทม์ เรื่องของเทคนิคและเครื่องมือก็ไม่ควรมาเป็นประเด็น ความพร้อมหรือไม่พร้อมในการจัดการเลือกตั้งของ กกต. ไม่ควรผูกกับความพร้อมของรัฐบาล กกต. ควรต้องจัดการเลือกตั้งได้ไม่ว่าเสถียรภาพของรัฐบาลจะเป็นอย่างไร” นายปดิพัทธ์ กล่าว

นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า สิ่งที่เป็นข้อกังวลอีกประการหนึ่งที่มีการหยิบยกขึ้นมาในที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ ก็คือเรื่องของกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ที่ในการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา มีหลายกรณีมากที่กรรมการมีสายสัมพันธ์กับหัวคะแนนในระดับท้องถิ่นต่างๆ หรือกระทั่งเป็นหัวคะแนนให้กับบางพรรคการเมืองเสียเอง ทำให้เกิดข้อสงสัยขึ้นมา ว่าเหตุใดจึงไม่มีการเปิดรับกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งให้กว้างขวาง ได้สัดส่วนกรรมการที่เป็นคนหน้าใหม่มากขึ้น และมีความสัมพันธ์กับหัวคะแนนและผู้มีอิทธิพลในระดับท้องถิ่นน้อยลง ซึ่งตนเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าขอเพียงอบรมเรื่องกฎหมายและมอบเครื่องมือที่จำเป็นให้ คนไทยหลายล้านคนก็พร้อมที่จะเป็นกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งได้ แทนที่จะปล่อยให้กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งอยู่ในวงแคบๆ ของคนที่รู้จักกัน จนอาจนำไปสู่การทุจริตการเลือกตั้งได้ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในการเลือกตั้งปี 2562