"พิธา" ลั่นรัฐบาลหน้าต้องแก้ ม.112-นิรโทษกรรม หลัง "ตะวัน" ขอถอนประกัน

"พิธา" ลั่นรัฐบาลหน้าต้องแก้ ม.112-นิรโทษกรรม หลัง "ตะวัน" ขอถอนประกัน

"พิธา" ชี้ปม "ตะวัน" กลุ่ม "ทะลุวัง" ขอถอนประกันตัวเอง สะท้อนปัญหาการดำเนินคดีการเมือง เป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ ทำความขัดแย้งไร้ทางออก ลั่นรัฐบาลหน้าต้องยุติคดีการเมือง นิรโทษกรรมนักโทษการเมือง เลิกกฎหมายความมั่นคง แก้ ม.112

เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2566 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณี น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน อดีตสมาชิกกลุ่มทะลุวัง และ น.ส.อรวรรณ ภู่พงษ์ นักกิจกรรมเคลื่อนไหวเกี่ยวกับกฎหมายมาตรา 112 พร้อมทนายความ เดินทางไปที่ศาลอาญาเพื่อยื่นหนังสือและคำร้องขอถอนประกันตัวเอง ว่านับตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบัน มีเยาวชนและประชาชนถูกดำเนินคดีจากการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกทางการเมือง ทั้งสิ้นอย่างน้อย 1,888 ราย ในจำนวนนี้ถูกดำเนินตาม ม. 112 อย่างน้อย 225 ราย หนึ่งในนั้น ได้แก่ คุณทานตะวัน และคุณอรวรรณ ซึ่งวันนี้ทั้งคู่ได้เดินทางไปขอถอนประกันตัวเองที่ศาล เพื่อแสดงออกว่ายังมีคนอีกจำนวนมากที่ถูกกักขังอยู่อย่างไม่เป็นธรรมจากคดีการเมือง

นายพิธา กล่าวว่า เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 ทนายความได้ติดต่อให้ตนไปเป็นนายประกันของทานตะวัน ต่อมาศาลอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวตามคำร้อง และแต่งตั้งให้ตนเป็นผู้กำกับดูแลทานตะวัน มาวันนี้ อาจมีหลายคนไม่เห็นด้วยกับการขอถอนประกันตัวเองดังกล่าว แต่ในฐานะผู้กำกับดูแล ตนเคารพการตัดสินใจของทานตะวันตามเหตุผลที่ว่า พวกเราพร้อมแลกอิสรภาพจอมปลอมที่ศาลมอบให้ เพื่ออิสรภาพที่แท้จริงของเพื่อนเรา

หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า วิกฤตการเมืองไทยตลอดหลายปีที่ผ่านมา เมื่อมีประชาชนลุกขึ้นเรียกร้องประชาธิปไตยและการเปลี่ยนแปลง ผู้มีอำนาจกลับปราบปรามพวกเขาด้วยความรุนแรง จับกุมคุมขัง และดำเนินคดีโดยไม่สนใจหลักนิติรัฐและหลักสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ที่น่าเป็นห่วงต่อกระบวนการยุติธรรมและสถาบันตุลาการคือ กลไกตั้งแต่ตำรวจ อัยการ และศาล กำลังถูกมองว่าถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกดปราบการแสดงออกประชาชนเช่นกัน อาจเรียกได้ว่าเป็นความรุนแรงจากกระบวนการยุติธรรม

นายพิธา กล่าวว่า ในช่วงการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา มีนวัตกรรมใหม่ในการกดปราบประชาชน นั่นคือเมื่อมีการดำเนินคดีทางการเมือง ในหลายคดีหากผู้ต้องหาหรือจำเลยอยากได้อิสรภาพ ศาลจะอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวได้ ก็ต่อเมื่อยอมรับเงื่อนไขว่า ห้ามกระทำการในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหาหรือเข้าร่วมกิจกรรมใดๆ อันอาจก่อให้เกิดความวุ่นวาย ในบ้านเมือง และห้ามจำเลยกระทำการใดๆ ในอันที่จะก่อให้เกิดความเสื่อมเสียหรือเกิดความกระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และผู้ต้องหาหรือจำเลยหลายคนจะถูกถอนการประกันตัวเพราะเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง นั่นหมายความว่า แม้การพิจารณาคดีจะยังไม่ถึงที่สุด ศาลกลับพิพากษาไปล่วงหน้าแล้วว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยกระทำผิด รวมทั้งการพิจารณาว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยจะได้รับสิทธิในการประกันตัวหรือไม่ กลับไม่เป็นไปตามหลักกฎหมาย

นายพิธา กล่าวอีกว่า นอกจากนั้น การตั้งเงื่อนไขให้ต้องใส่กำไลข้อเท้า (EM) หรือแม้แต่การห้ามออกจากบ้านนั้น ก็เป็นการ ลงโทษ มากกว่าการให้อิสรภาพหรือคืนความเป็นธรรมแก่จำเลย ตนอาจใช้คำเดียวกับทานตะวันว่าเป็นอิสรภาพจอมปลอม โดยเฉพาะกับผู้ต้องหาหรือจำเลย ม.112

“ผมเห็นว่า การดำเนินคดีการเมืองอย่างที่เป็นอยู่กำลังจะเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ที่จะทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองไม่มีทางออก และผมไม่เชื่อว่าการใช้ ม.112 อย่างนี้จะเป็นผลดีต่อสถาบันกษัตริย์เลยแม้แต่น้อย ในทางกลับกัน การใช้ ม.112 จะยิ่งสร้างความแตกร้าวระหว่างประชาชนกับสถาบันกษัตริย์มากขึ้นไปอีก” นายพิธา กล่าว

นายพิธา กล่าวด้วยว่า นี่คือปัญหาแรกๆ ที่รัฐบาลสมัยหน้าต้องแก้ คือ หนึ่ง ยุติการดำเนินคดีการเมือง และสอง นิรโทษกรรมนักโทษคดีการเมือง เพื่อคืนความยุติธรรม ลดความขัดแย้งทางการเมือง และเปิดทางให้ใช้กระบวนการทางประชาธิปไตยแก้ปัญหาการเมืองที่สะสมมานับตั้งแต่การรัฐประหารปี 2549 นอกจากนั้น สภาผู้แทนราษฎรสมัยหน้าควรต้องแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายความมั่นคงหลายฉบับ รวมทั้ง ม.112 ที่อย่างน้อยต้องมีการแก้ไขบทบัญญัติไม่ให้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง และมีความสมดุลกันระหว่างการคุ้มครองประมุขของรัฐกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน

“ผมยังยืนยันในสิ่งที่เคยอภิปรายไว้ในสภาว่า ถึงเวลาแล้วที่เราควรหยุดแสร้งทำเป็นมองไม่เห็นสิ่งที่ไม่อยากเห็น เราต้องยอมรับความเป็นจริงว่าในการชุมนุมหลายครั้งที่ผ่านมา รวมทั้งการแสดงออกในโลกออนไลน์ ยังมีเยาวชนและประชาชนอีกมากมาย ที่ได้แสดงออกถึงประเด็นที่เป็น ‘Inconvenient Truth’ หรือ ‘ความจริงอันน่ากระอักกระอ่วนใจ’ ถ้าพวกเราพร้อมและต้องการที่จะรับฟังเสียงของคนรุ่นใหม่จริงๆ ผมขอเชิญชวนให้ตั้งสติเสียใหม่ เปิดใจ ปรับมุมมอง แล้วลงมือหาทางออกของประเทศไปด้วยกัน แต่ถ้าเราไม่พร้อม เราก็จะมองเห็นเพียงแค่ว่า ผู้เป็นอนาคตของชาติเหล่านั้น เป็นภัยต่อความมั่นคง เป็นภัยคุกคามต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่นนั้น ประเทศก็จะไม่มีทางออก ไม่มีอนาคต เพราะพวกเราช่วยกันฆ่าอนาคตของประเทศด้วยมือของพวกเราเองแล้ว” นายพิธา กล่าว