เช็คไทม์ไลน์ กกต.จัดเลือกตั้ง คู่มือ "นักการเมือง" ทำได้-ไม่ได้

เช็คไทม์ไลน์ กกต.จัดเลือกตั้ง คู่มือ "นักการเมือง" ทำได้-ไม่ได้

"...หาก “บิ๊กตู่” ตัดสินใจ “อยู่ยาว” จนถึงวันสุดท้ายคือ 23 มี.ค. 2566 จะกลายเป็น “นายกฯรักษาการ” โดยยังคงคุมกลไกบริหารราชการแผ่นดินอยู่ แต่ไม่สามารถใช้จ่ายงบประมาณได้อย่างเต็มที่ แถมยังต้องระมัดระวังเรื่องไม่เข้าไปยุ่มย่ามเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งด้วย..."

เปิดศักราชการเมืองปี 2566 การเมืองนับถอยหลังสู่โหมดเลือกตั้ง ตอกย้ำชัดตามไทม์ไลน์คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่หากไม่นับเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง หรือมีการ “ยุบสภา” วันเลือกตั้งจะอยู่ในช่วง 7 พ.ค. 2566 หรืออีกราว 5 เดือนนับจากนี้

ไล่เรียงไทม์ไลน์ของ กกต.แบบละเอียด โดยเริ่มนับจาก ในวันที่ 23 มี.ค. 2566 อายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง ส.ส.ทั้งหมดทั้งแบบเขต และปาร์ตี้ลิสต์ ต้องพ้นจากตำแหน่ง คงเหลือแต่ ส.ว.ที่ยังดำรงตำแหน่งได้อีก 1 ปีตามบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญปี 2560 ส่วน “นายกฯ” และ ครม.จะเปลี่ยนสถานภาพเป็น “รักษาการ”

วันที่ 30 มี.ค. 2566 จะเป็นวันสุดท้ายที่คาดว่าพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้ วันที่ 31 มี.ค. 2566 กกต.ประกาศกำหนดวันเลือกตั้ง และประกาศกำหนดวันรับสมัคร วันที่ 3-7 เม.ย. 2566 เป็นวันรับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.

วันที่ 11 เม.ย. 2566 วันสุดท้ายของการประกาศกำหนดหน่วยเลือกตั้งและที่เลือกตั้ง และเป็นวันสุดท้ายประกาศบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง วันที่ 14 เม.ย. 2566 ประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ส.ส. วันที่ 16 เม.ย. 2566 เป็นวันสุดท้ายส่งหนังสือแจ้งเจ้าบ้าน และสรรหาแต่งตั้งคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง

วันที่ 26 เม.ย. 2566 เป็นวันสุดท้ายของการเปลี่ยนแปลงหน่วยเลือกตั้งและสถานที่เลือกตั้ง รวมถึงวันสุดท้ายของการเพิ่มชื่อ-ถอนชื่อ วันที่ 30 เม.ย. 2566 เป็นวันลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตเลือกตั้ง และนอกเขตเลือกตั้ง รวมทั้งแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

ส่วนวันที่ 1-6 พ.ค. 2566 เป็นระยะเวลาแจ้งเหตุไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยวันที่ 1 พ.ค. 2566 เป็นวันสุดท้ายยื่นคำร้องเกี่ยวกับสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง วันที่ 3 พ.ค. 2566 เป็นวันสุดท้ายศาลฎีกาพิจารณาสิทธิสมัครกรณีผู้อำนวยการ การเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งไม่รับสมัคร วันที่ 6 พ.ค. 2566 เป็นวันสุดท้ายที่ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง ยื่นคำร้องศาลฎีกา กรณีผู้สมัครขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม

วันที่ 7 พ.ค. 2566 เป็นวันเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการเลือกตั้งทั่วไป และวันที่ 8-14 พ.ค. 2566 เป็นวันแจ้งเหตุไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

เช็คไทม์ไลน์ กกต.จัดเลือกตั้ง คู่มือ \"นักการเมือง\" ทำได้-ไม่ได้

ฉะนั้นหาก “บิ๊กตู่” ตัดสินใจ “อยู่ยาว” จนถึงวันสุดท้ายคือ 23 มี.ค. 2566 จะกลายเป็น “นายกฯรักษาการ” โดยยังคงคุมกลไกบริหารราชการแผ่นดินอยู่ แต่ไม่สามารถใช้จ่ายงบประมาณได้อย่างเต็มที่ รวมถึงไม่สามารถควักงบประมาณแบบผูกพันไปยังรัฐบาลหน้าได้ แถมยังต้องระมัดระวังเรื่องไม่เข้าไปยุ่มย่ามเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งด้วย

เพราะสุ่มเสี่ยงจะขัดกับกฎเหล็กของ กกต.แจ้งเตือนเกี่ยวกับระยะเวลาในการหาเสียงเลือกตั้ง โดยผู้สมัครและพรรคการเมือง รวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่น นายกฯ รัฐมนตรี ข้าราชการการเมือง ต้องปฏิบัติเกี่ยวกับการหาเสียงให้เป็นไปตาม มาตรา 68 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.)ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 และต้องมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่น ให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัคร หรือการชักชวนให้ไปลงคะแนนไม่เลือกผู้ใดเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามมาตรา 73 กฎหมายเดียวกัน มีห้วงระยะเวลาหาเสียงเลือกตั้ง โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 24 ก.ย. 2565 จนถึงวันก่อนวันเลือกตั้ง

โดยกรณีที่สามารถทำได้ เช่น สามารถร่วมงานประเพณีต่าง ๆ เช่น งานบวช งานแต่ง งานศพ และมอบพวงหรีดได้, จัดพิธีงานต่าง ๆ ได้ เช่น งานศพ งานแต่ง งานบวช แต่ต้องไม่มีลักษณะเป็นงานใหญ่, กรณีปิดประกาศและแผ่นป้ายหาเสียงสามารถกระทำได้ โดยต้องเป็นไปตามประกาศที่ กกต.กำหนด และข้อความในแผ่นป้ายต้องไม่เป็นเท็จ ใส่ร้ายป้ายสี หรือสัญญาว่าจะให้ ส่วนแผ่นป้ายหาเสียงที่ติดตั้งไว้ก่อนมี พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง ต้องดำเนินการและแก้ไขให้เป็นไปตามระเบียบที่ กกต.กำหนด, การติดตั้งป้ายหาเสียงบนรถยนต์ทำได้ไม่จำกัดขนาด แต่ต้องไม่ฝ่าฝืนกฎจราจร โดยการดำเนินการเกี่ยวกับประกาศและแผ่นป้าย ผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมืองต้องเก็บรักษาเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องไว้ประกอบการยื่นบัญชีรายรับและรายจ่ายในการเลือกตั้ง

ส่วนกรณีที่ไม่สามารถทำได้ เช่น การมอบพวงหรีดที่เป็นสิ่งของ เช่น พัดลม ช้อนส้อม ผ้าขนหนู เป็นต้น, การช่วยเหลือเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ให้แก่ผู้ใดตามประเพณีต่าง ๆ, การจัดคนหรือนำคนที่ไม่ได้เป็นผู้ช่วยหาเสียง ไปช่วยหาเสียงโดยให้ค่าตอบแทน เป็นต้น

แต่หากการณ์ไม่เป็นไปตามนั้น เกิดเหตุไม่คาดฝัน “บิ๊กตู่” ตัดสินใจ “ยุบสภา” เกิดขึ้น ไทม์ไลน์ต่าง ๆ จะต้องเปลี่ยนไปทั้งหมดแบบยกกระบิ โดย กกต.กำหนดแผนการเลือกตั้งกรณีเกิดการยุบสภา จะต้องกำหนดวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 45 วันแต่ไม่เกิน 60 วัน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 103 กำหนด ทั้งนี้ภายใน 5 วันนับแต่วันมีพระราชกฤษฎีกายุบสภา กกต.จะต้องประกาศกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไป และวันสมัครรับเลือกตั้งในราชกิจจานุเบกษา

ขณะเดียวกันยังกำหนด ห้วงวันสุดท้ายของการประกาศกำหนดหน่วยเลือกตั้ง สถานที่เลือกตั้ง วันสุดท้ายประกาศบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งว่าจะเกิดขึ้นก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 25 วัน การประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ส.ส. ภายใน 7 วัน นับแต่วันปิดรับสมัคร วันสุดท้ายส่งหนังสือแจ้งเจ้าบ้าน สรรหา และคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 20 วัน

รวมถึงวันสุดท้ายเปลี่ยนแปลงหน่วยเลือกตั้ง ที่เลือกตั้ง และ วันสุดท้ายเพิ่มชื่อ-ถอนชื่อ ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10 วัน แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง 7 วันก่อนวันเลือกตั้ง วันสุดท้ายยื่นคำร้องเกี่ยวกับสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ภายใน 7 วันนับแต่วันประกาศรายชื่อ

วันสุดท้ายศาลฎีกาพิจารณาสิทธิสมัคร กรณี ผอ.การเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งไม่รับสมัคร ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 3 วัน วันสุดท้าย ผอ.ประจำเขตเลือกตั้งยื่นคำร้องศาลฎีกากรณีผู้สมัครขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามก่อนวันเลือกตั้ง รวมทั้งวันที่คาดว่าเป็นวันเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการเลือกตั้งทั่วไป ไม่เกิน 60 วันนับแต่วันยุบสภา และการแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง 7 วันนับแต่วันเลือกตั้ง

ทั้งหมดคือความพร้อมของ กกต.ในการจัดการเลือกตั้งทั้งในรูปแบบ “ปกติ” และสถานการณ์หากเกิด “ยุบสภา” อย่างไรก็ดีคงต้องรอ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ประกาศมีผลบังคับใช้ในราชกิจจานุเบกษาก่อน จึงจะเริ่มดำเนินการอื่น ๆ ได้อย่างเต็มที่

โดยเฉพาะการแบ่งเขตที่ “นักเลือกตั้ง” เฝ้ารออย่างจดจ่อว่า จะเป็นคุณ-เป็นโทษกับฐานเสียงตัวเองอีกหรือไม่