รองเลขาฯ ปชป.เชื่อปี 66 มีเลือกตั้ง จี้ กกต.แบ่งเขตให้ชัด ป้องบางพรรคหวังผล

รองเลขาฯ ปชป.เชื่อปี 66 มีเลือกตั้ง จี้ กกต.แบ่งเขตให้ชัด ป้องบางพรรคหวังผล

รองเลขาฯ ปชป.เชื่อปี 66 มีเลือกตั้ง จี้ กกต.เร่งกำหนดเขตให้ชัด หนุนรัฐบาลทำงานครบวาระ ป้องบางพรรคหวังผลใช้หาเสียง จับตาการเมืองหลังเลือกตั้ง เชื่อทุกค่ายติดปัญหา “เดดล็อค” แนะควรตั้งรัฐบาลใหม่ให้จบภายใน ก.ค.

เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2566 นายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช และรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวอวยพรปีใหม่ 2566 แด่ประชาชนชาวไทยทั้งประเทศว่า เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ พ.ศ. 2566 นี้ ตนขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ประชาชนคนไทยนับถือ ดลบันดาลให้ประชาชนชาวไทยมีความสุข สุขภาพแข็งแรง คิดหวังสิ่งใดขอให้สมปรารถนา และขอให้ผ่านพ้นทุกอุปสรรคที่จะเกิดขึ้นในปี 2566 นี้ด้วย

นายชัยชนะยังวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองในปี 2566 ว่าเป็นที่ทราบโดยทั่วไปแล้วว่าปีนี้จะเกิดมีการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไป แต่ในส่วนการเตรียมการของแต่ละฝ่ายในเวลานี้ ก็ตั้งอยู่บนความไม่ชัดเจน เนื่องจากว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุว่าจะต้องรอความชัดเจนเรื่องจำนวนประชากรเมื่อสิ้นปี 2565 ที่จะส่งมายัง กกต.ภายในวันที่ 10 มกราคม เสียก่อน ซึ่งคาดว่าจะมีผลอย่างยิ่งต่อการคิดคำนวณจำนวนเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด ขณะเดียวกัน เมื่อมี ส.ส.และนักการเมืองต่างเข้าออกพรรคต่างๆ เป็นจำนวนมาก ในสถานการณ์ที่ยังไม่รู้ว่าจะออกมาในแนวทางไหน

จึงขอให้ กกต.มีการประกาศอย่างชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องเขตเลือกตั้ง และถ้ามีการมอบให้ กกต.แต่ละจังหวัดดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งภายในพื้นที่แล้ว ก็ขอให้ดำเนินกระบวนการทั้งหมด ซึ่งต้องรวมถึงการให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรูปแบบของการแบ่งเขตด้วย ภายใน 1 เดือน นับจากการประกาศของ กกต.ที่ระบุว่าแต่ละจังหวัดได้ ส.ส.เท่าใด เพราะจะเป็นแนวทางสำคัญ ที่จะทำให้แต่ละพรรคการเมือง ได้ดำเนินการคัดสรรสมาชิกพรรคที่มีศักยภาพและความพร้อมในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นต่อไป

นายชัยชนะ กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องการยุบสภานั้น หากทุกฝ่ายมีความพร้อมในการเตรียมการเลือกตั้ง นายกรัฐมนตรีก็สามารถยุบสภาได้ทันที แต่ถ้าให้ตนวิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่ยุบสภาก่อนครบวาระ จะเป็นประโยชน์ต่อนักการเมืองเพียงแค่ลดเวลาการสังกัดพรรคจาก 90 วัน เป็น 30 วัน และการยุบสภาส่วนใหญ่ ก็เป็นกรณีมีเหตุปัจจุบันทันด่วนทำให้นักการเมืองจำต้องรีบเร่งพิจารณาทางเลือกของตนเอง แต่ในเมื่อขณะนี้มีการคาดการณ์เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า หากครบวาระจะต้องมีการเลือกตั้งในวันที่ 7 พฤษภาคม และมีนักการเมืองหลายต่อหลายคน ตัดสินใจอนาคตทางการเมืองไปแล้วนั้น ตนก็ขอสนับสนุนให้รัฐบาลบริหารประเทศไปจนครบวาระ เนื่องจากเป็นความตั้งใจของรัฐบาลแต่แรกที่ต้องการจะทำงานให้กับประชาชนไปจนครบวาระรวมทั้งเป็นการกำหนดอย่างชัดเจนไปว่า หากจะตัดสินใจอย่างไรทางการเมือง จะมีเวลาสิ้นสุดประมาณวันที่ 6 กุมภาพันธ์เท่านั้น และยังจะเป็นการปิดช่องของบางพรรคการเมือง ที่จะเอาการอยู่ไม่ครบวาระของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ไปเทียบกับบางรัฐบาลในอดีตเพื่อหวังผลในการหาเสียงอีกด้วย

รองเลขาฯ ปชป.เชื่อปี 66 มีเลือกตั้ง จี้ กกต.แบ่งเขตให้ชัด ป้องบางพรรคหวังผล

ขณะนี้บรรดาพรรคการเมืองและนักการเมืองแต่ละคน ต่างเตรียมความพร้อมโดยเอาการแบ่งเขตเลือกตั้งในที่ กกต.ประกาศในปี 2565 เป็นพื้นฐาน โดยหลายจังหวัดก็มีจำนวน ส.ส.เหมือนกับปี 2562 บางจังหวัดก็มี ส.ส.เพิ่มขึ้นมา 1 คน และบางจังหวัดที่มีประชากรอพยพย้ายถิ่นเข้ามามากก็จะมีถึง 2-3 คน คาดว่าหากมีการประกาศจำนวน ส.ส.ที่พึงมีของแต่ละจังหวัด โดยมีการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของจำนวน ส.ส.แล้ว สถานการณ์การเมืองจะเกิดฝุ่นตลบอีกระลอกหนึ่งโดยจังหวัดที่มี ส.ส.เพิ่ม ก็จะมีนักการเมืองรีบวิ่งเข้าหาพรรคที่มีกระแส เพื่อโอกาสการันตีการได้เป็น ส.ส. แต่หากมีการลดจำนวน ส.ส.ลง ก็จะเกิดปรากฏการณ์ความวุ่นวายทั่วทั้งจังหวัด เพราะต้องยอมรับว่าโอกาสการเป็น ส.ส.ในระบบเขต มีสูงกว่าการเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งไม่รู้ว่าผลคะแนนจะมากพอให้ได้ถึงลำดับการเป็น ส.ส.หรือไม่

ดังนั้น อาจจะเกิดเหตุการณ์ที่มีสมาชิกได้เปิดตัวเป็นว่าที่ผู้สมัครฯแล้วไม่ได้ลงสมัครจะดำเนินการในวิธีการต่าง ๆ ที่จะรักษาสิทธิการเป็นว่าที่ผู้สมัครเอาไว้ ฉะนั้นขอเรียกร้องในสิ่งที่สามารถดำเนินการได้ง่ายและมีผลต่อประชาชนโดยส่วนรวมคือ การเร่งรัดให้มีการประกาศจำนวน ส.ส.ที่จะมีในแต่ละจังหวัด เพื่อที่จะทำให้ทุกฝ่ายดำเนินการเตรียมการและแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที

“ส่วนเรื่องการยุบสภานั้น ผมไม่สามารถเดาใจนายกฯได้เลยว่าจะยุบสภาตอนไหน แต่ในเมื่อเวลากระชั้นชิดขนาดนี้ และมีการคาดการณ์กันว่า 7 พฤษภาฯถึงเวลากาบัตรแล้วก็ขอให้ท่านนายกฯ สร้างประวัติศาสตร์เป็นรัฐบาลอีกชุดหนึ่งที่อยู่จนครบวาระ” นายชัยชนะ กล่าว

รองเลขาธิการ ปชป. กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ในสภาช่วงสมัยประชุมสุดท้าย ที่มีร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สำคัญที่บางพรรคการเมือง หมายมั่นปั้นมือว่าจะเอาไปเป็นนโยบายหาเสียง และมีการอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญ ของพรรคฝ่ายค้านนั้น ตนคิดว่าไม่มีอะไรน่าห่วง เพราะขณะนี้ นักการเมืองต่างมุ่งสมาธิไปยังการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น ซึ่งการอภิปรายทั่วไปถือเป็นการทิ้งทวนในการทำงานตรวจสอบของพรรคฝ่ายค้านว่าจะมีข้อมูลอะไรที่เป็นทีเด็ดมากกว่าคำปรามาสที่ว่าเนื้อหาในการอภิปรายส่วนใหญ่ มาจากการนำเสนอของสื่อมวลชน

แต่ที่สำคัญคือหลังจากการเลือกตั้ง ถือเป็นช่วงเวลาที่ชิงไหวชิงพริบทางการเมืองเป็นอย่างมากในการจัดตั้งรัฐบาล เพราะจากการวิเคราะห์ของสื่อทั่ว ๆ ไปจะเห็นว่าต่างฝ่ายต่างก็ติดเดดล็อคกันทั้งสิ้น เพราะเชื่อกันว่า พรรคที่ชนะการเลือกตั้ง อาจจะต้องหลีกทางให้พรรคที่มี ส.ส.น้อยกว่า แต่มี ส.ว.หนุนหลัง เป็นนายกรัฐมนตรี

บางพรรคที่ชู พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย ก็ติดปัญหาเรื่องระยะเวลาการดำรงตำแหน่งที่จะต้องพ้นตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2568 จนเป็นที่มาของคำว่า “นายกฯ คนละครึ่ง” แต่ไม่ทราบว่า จะไปคนละครึ่งกับใคร

บางพรรคพยายามชูเรื่องแลนด์สไลด์ เพื่อหนีข้อจำกัดบางประการในรัฐธรรมนูญ แต่ขณะนี้สถานการณ์การเมืองได้เปลี่ยนแปลงไปมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายที่ออกมาชิมลางกระแสนั้น ปรากฏว่าถูกจับได้ไล่ทันว่าลอกของเก่าที่ประสบความล้มเหลว บางนโยบายรัฐบาลชุดปัจจุบันก็ยังทำอยู่และเกิดผลสำเร็จไปแล้ว

นายชัยชนะ กล่าวว่า จึงเห็นว่ากระบวนการตั้งแต่หลังเลือกตั้งไปจนถึงการดำเนินการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ควรให้เสร็จภายในเดือนกรกฎาคม 2566 เพราะถ้าหากลากยาวเหมือนกับปี 2562 ที่กว่าจะมีการตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) บริหารประเทศได้ก็ใช้เวลาถึง 5 เดือน เกรงว่าจะไม่ทันสำหรับการแก้ปัญหาอีกมากที่ยังรอให้รัฐบาลชุดใหม่มาเร่งแก้ไข รวมทั้งยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ต่อระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาอีกด้วย และบรรยากาศสภาหลังจากนั้นก็จะต้องประเมินกันเป็นช่วงๆ เพราะคาดว่ายังมีร่างพระราชบัญญัติที่สำคัญและญัตติต่างๆ ที่ส่งผลต่อการเมืองในปีนี้

“ผมเชื่อว่าสถานการณ์การเมืองในปี 2566 นี้ ทุกฝ่ายต่างเดินหน้าให้ไปสู่การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น แต่ทาง กกต.ต้องกำหนดให้ชัดเจนเสียก่อน เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติและป้องกันการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ส่วนในวันเลือกตั้งนั้น ผมคิดว่าในเมื่อทราบกันอย่างไม่เป็นทางการว่า จะเป็นวันที่ 7 พฤษภาคม ก็ควรจะเป็นวันนั้น และหลังจากวันนั้น สถานการณ์การเมืองก็จะร้อนแรงมากยิ่งขึ้น หากมีข้อสรุปในเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลและคนในตำแหน่งต่างๆ แล้ว สถานการณ์การเมืองก็จะเป็นไปตามจังหวะเวลา ยกเว้นว่าจะมีเหตุการณ์ที่สร้างความสั่นสะเทือนให้กับประชาชนและวงการเมืองอย่างมาก ก็จะต้องวิเคราะห์อย่างละเอียดถี่ถ้วนถึงเหตุที่เกิดขึ้นต่อไปด้วย” นายชัยชนะ กล่าว