“2 ส.”ควบรวมแบรนด์ใหม่“สร้างไทย” ดีล“สมคิด-สุดารัตน์"พรรคละครึ่ง

“2 ส.”ควบรวมแบรนด์ใหม่“สร้างไทย” ดีล“สมคิด-สุดารัตน์"พรรคละครึ่ง

“2 ส.”ควบรวมแบรนด์ใหม่“สร้างไทย” ดีล“สมคิด-สุดารัตน์" พรรคละครึ่ง “แคนดิเดตนายกฯ - หัวหน้า” โมเดล “พรรคเล็ก” หนีตายการเมือง “รวมกันเอง - รวมพรรคใหญ่”

ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญไฟเขียวร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่...) พ.ศ.... และร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่...) พ.ศ.... รอเพียงขั้นตอนนำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ 

การเมืองกำลังปรับโหมดเข้าสู่การเลือกตั้งเต็มตัว โดยการกลับมาใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เลือกคน-เลือกพรรค ใช้สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบหาร 100 ทำให้พรรคเล็ก-พรรคเกิดใหม่ ต้องกลับมาทบทวนยุทธศาสตร์สู้ศึกเลือกตั้งกันใหม่ จากเดิมที่แยกกันอยู่ -ร่วมกันตี ต้องหันมาใช้แนวทาง “รวมกันอยู่-ร่วมกันตี”

บรรดา “พรรคเล็ก 1 เสียง” ประกอบด้วย พรรคเพื่อชาติไทย พรรคไทรักธรรม พรรคพลังธรรมใหม่ พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรคพลเมืองไทย พรรคประชาภิวัฒน์ พรรคพลังชาติไทย เป็นต้น อาจจะต้องมาอยู่รวมกันในพรรคใดพรรคหนึ่ง เพื่อรวมคะแนนให้ได้มากที่สุด

แต่อาจมีความยากลำบากในการต่อรองลำดับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่จะส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพราะต่างก็ต้องแย่งชิงลำดับที่มีโอกาสได้นั่งเก้าอี้ ส.ส. ฉะนั้นนักเลือกตั้ง “พรรคเล็ก” คงต้องเปิดศึกรบกันเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ขณะเดียวกัน “พรรคเล็ก 1 เสียง” บางพรรค พอคาดเดาสถานการณ์ออกว่า หากรวมพรรคเล็กเข้าด้วยกัน ก็ยังขับเคลื่อนลำบาก บางพรรคจึงเล็งแยกวง เพื่อย้ายเข้าสังกัดพรรคใหญ่ แม้รู้ว่าจะไม่มีอำนาจต่อรองขอลำดับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ปลอดภัย แต่ยังมีการันตีตำแหน่งแห่งหน หากสามารถดึงแต้มให้พรรคได้เป็นกอบเป็นกำ

สำหรับ “พรรคเล็กไม่เกิน 5 เสียง”  ยังพอมีพลังต่อรอง บางพรรคที่มีความตั้งใจจะไม่ควบรวมกับพรรคการเมืองอื่น แต่ใช้วิธีเสนอดีลไปยัง ส.ส.ขั้วฝ่ายค้าน แม้ส่วนใหญ่จะถูกปฏิเสธ แต่ก็มีบางพรรคที่ฝ่ายค้านพร้อมเปิดโต๊ะเจรจา เมื่อได้ข้อมูลยุทธศาสตร์ในการเก็บแต้ม ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ทำอย่างเป็นระบบของกลุ่มพรรคนี้ โดยมีหัวคะแนนของพรรคที่ฝังตัวอยู่ในพื้นที่ สามารถการันตีคะแนนปาร์ตี้ลิสต์แบบชัวร์ๆ ได้ อีกทั้งยังมียุทธการอัด “ท่อน้ำเลี้ยง” ตั้งงบฯ เก็บแต้มปาร์ตี้ลิสต์โดยเฉพาะ

ดังนั้น จึงต้องจับตาความเคลื่อนไหวของ “พรรคเล็ก” ที่ต่างก็มียุทธศาสตร์แตกต่างกัน แต่ทุกพรรคต้องดิ้นรน เพื่อคัมแบ็คเก้าอี้ ส.ส. ให้ได้

สำหรับทิศทางของ “พรรคเกิดใหม่” ล่าสุด ต้องจับตาไปที่ พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) ของ “คุณหญิงหน่อย” สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และ พรรคสร้างอนาคตไทย (สอท.) ของ “เฮียกวง” สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประธานพรรค

แม้ "สุดารัตน์” ในฐานะหัวหน้าพรรค จะออกมาปฏิเสธข่าวควบรวมพรรค แต่ก็ไม่ปิดช่อง โดยระบุว่า พรรคไทยสร้างไทยยืนยันจะเดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้งครบทั้ง 400 เขตในนามพรรคไทยสร้างไทยอย่างแน่นอน แต่ไม่ได้ปิดกั้นหากมีพรรคการเมือง หรือนักการเมืองย้ายเข้ามายังพรรคไทยสร้างไทย 

“แต่มีเงื่อนไขสำคัญคือ ต้องมีแนวคิด และอุดมการณ์เดียวกันกับพรรคไทยสร้างไทย ที่จะเป็นสถาบันทางการเมือง โดยมีประชาชนเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง มีจุดยืนประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ไม่สนับสนุนอำนาจเผด็จการ”

สำหรับกรณีพูดคุยกับ “สมคิด” นั้น “สุดารัตน์” ยอมรับว่า “ได้เคยมีการพูดคุยกัน แต่ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ”

ทว่า ในทางลับ “สุดารัตน์” เคยเปิดโต๊ะพูดคุยเพื่อหาข้อสรุปการควบรวมพรรคกับ “สมคิด” อย่างน้อย 3 ครั้ง แต่ติดปัญหาอยู่ที่เงื่อนไขของทั้งคู่ ตั้งเอาไว้สูงเกินกว่าอีกฝั่งจะรับได้ การพูดคุยจึงไร้ข้อสรุป

 จะว่าไปแล้ว จุดเด่นของ “สุดารัตน์-ไทยสร้างไทย” อยู่ที่ขบวนการจัดตั้งพรรค รวมถึงกองกำลัง ส.ส. - ผู้สมัคร ส.ส. เกรดเอ ยังพอมีอยู่บ้าง ชื่อของ “อนุดิษฐ นาครทรรพ” และ “การุณ โหสกุล” ส.ส. กทม. พรรคเพื่อไทย ถูกใส่ไว้ในลิสต์ของพรรคไทยสร้างไทยแล้ว

ขณะที่ “สมคิด-สร้างอนาคตไทย” มีจุดแข็งอยู่ที่ “ทุนการเมือง” แต่มีจุดอ่อนอยู่ที่พื้นที่ทางการเมือง ซึ่งแทบไม่มีพื้นที่ไหนการันตีเก้าอี้ ส.ส. ได้เลย ซึ่ง “สมคิด” รู้จุดอ่อนตรงนี้ดี จึงมีแนวคิดควบรวมพรรคกับ “สุดารัตน์”

เมื่อโต๊ะเจรจาเปิดขึ้น การพูดคุยครั้งแรกๆ “สมคิด” ขอเป็นเบอร์หนึ่งแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พร้อมต่อรองขอให้ “อุตตม สาวนายน” หัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย นั่งหัวหน้าพรรคใหม่ โดยยกเก้าอี้เลขาธิการพรรคให้ “น.ต.ศิธา ทิวารี” เลขาธิการพรรคไทยสร้างไทย

ขณะที่ฝั่ง “สุดารัตน์” ยอมให้ “สมคิด” เป็นเบอร์หนึ่งแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี แต่ขอเก้าอี้หัวหน้าพรรค-เลขาธิการพรรค รวมถึงเงื่อนไข“แคชแบ็ค” ขอค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจกรรมพรรคไทยสร้างไทยย้อนหลังให้ด้วย

ข้อเสนอบนโต๊ะพูดคุย ที่เสนอให้กันค่อนข้างสูง ทำให้ทั้ง “สุดารัตน์” และ “สมคิด” ต่างยังไม่ยอมรับเงื่อนไขของแต่ละฝ่าย

ทว่า การพูดคุยในช่วงหลัง เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น เมื่อ “สมคิด” ยอมถอยหนึ่งก้าว เนื่องจากสถานการณ์ภายในพรรคไม่ค่อยสู้ดี มี “แกนนำพรรค” ทยอยโบกมือลา เพื่อหาสังกัดที่มีโอกาสสู้ในสนามการเมืองมากกว่า และพรรคสร้างอนาคตไทยเอง ก็ไม่มีต้นทุน ส.ส. อยู่แล้ว

โดยการถอยครั้งนี้ ยอมให้ “สุดารัตน์” เป็นเบอร์หนึ่งแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี รวมถึงไม่ขัดข้องหาก “ศิธา” จะนั่งเก้าอี้เลขาธิการพรรค เพียงแต่ขอให้ “อุตตม” นั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรค มีเพียงเงื่อนไข “ตัวบุคคล” แค่บางคน-บางตำแหน่ง ที่ต้องเคลียร์

สำหรับโมเดลการควบรวม พรรคสร้างอนาคตไทย จะเป็นฝ่ายย้ายสมาชิกมาเข้าสังกัดพรรคไทยสร้างไทย โดยชื่อพรรคใหม่ได้รวมชื่อของทั้งสองพรรคเอาไว้ ใช้ชื่อใหม่ “พรรคสร้างไทย” ซึ่งเป็นโมเดลเดียวกับการควบรวมพรรคกล้า-พรรคชาติพัฒนา เป็น “พรรคชาติพัฒนากล้า” 

ดังนั้นเมื่อเงื่อนไขของ 2 ส. “สมคิด-สุดารัตน์” ถูกปลดล็อกแล้ว จึงเหลือเพียงขั้นตอนดำเนินการให้เสร็จสมบูรณ์ ส่วนจะพร้อมเปิดตัวในห้วงเวลาใด คาดว่าคงไม่ช้าไม่นาน เพราะวาระรัฐบาลนับถอยหลังเหลือเพียงแค่ 4 เดือนเท่านั้น