กทม.ยันซ้ำ ไม่มีเจตนาเบี้ยวหนี้ “รฟฟ.สีเขียว” หลัง “บีทีเอส” ทวง 4 หมื่นล้าน

กทม.ยันซ้ำ ไม่มีเจตนาเบี้ยวหนี้ “รฟฟ.สีเขียว” หลัง “บีทีเอส” ทวง 4 หมื่นล้าน

รองผู้ว่าฯ กทม.ออกโรงยันซ้ำ กทม.ไม่มีเจตนาชะลอการชำระหนี้ค่า “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” หลังโดน “บีทีเอส” ออกคลิปทวงกว่า 4 หมื่นล้านบาท ลั่นเน้นความครบถ้วนตามข้อบัญญัติ ต้องผ่านการพิจารณาของสภา กทม.ก่อน

เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2565 ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (รองผู้ว่าฯ กทม.) พร้อมด้วยนายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าฯ กทม. แถลงความคืบหน้ากรณีการชำระหนี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว  

โดย นายวิศณุ กล่าวสรุปเหตุผลที่ยังไม่สามารถดำเนินการชำระหนี้สินได้ สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 ว่า กทม. ไม่ใด้มีเจตนาจะไม่ชำระหนี้เนื่องจาก กทม. ได้มีการสนับสนุนค่าบริการเดินรถและซ่อมบำรุงมาตลอดจนถึงเดือน เม.ย.62 จนกระทั่งมีคำสั่ง คสช. เมื่อวันที่ 11 เม.ย.62 ที่ให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินโครงการ และได้มีการเจรจาให้ เอกชนรับภาระค่าจ้างเดินรถของส่วนต่อขยายที่ 1 ตั้งแต่ พ.ค. 2562 (ระบุไว้ในร่างสัญญาร่วมทุน) ด้านมูลค่าหนี้ขณะนี้อยู่ในระหว่างการอุทธรณ์ค่าดอกเบี้ยเนื่องจาก กทม. ไม่มีเจตนาจะไม่ชำระหนี้ และสัญญาที่ กทม. ทำกับกรุงเทพธนาคาร (KT) ไม่ได้มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้  นอกจากนี้ กทม. เห็นว่า KT ควรมีการจ้างที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อตรวจสอบ คิดคำนวณค่าจ้างใหม่ให้ถูกต้องตามความเป็นจริงซึ่งอาจทำให้ยอดหนี้เปลี่ยนไปไม่ตรงกับที่เอกชนฟ้อง และหากมีการดำเนินการครบถ้วนและมีข้อยุติการต่อสัมปทานจาก ครม. แล้วก็สามารถชำระหนี้ได้

สำหรับส่วนต่อขยายที่ 2 บันทึกมอบหมายยังไม่สมบูรณ์เนื่องจากยังไม่ได้รับการอนุมัติงบประมาณจากสภากรุงเทพมหานคร กทม. ไม่ได้มีการทำนิติกรรมโดยตรงกับ เอกชน มีเพียงการทำบันทึกมอบหมายให้กับ KT เท่านั้น นอกจากนี้ในบันทีกข้อตกลงมอบหมายข้อที่ 133 ยังมีการระบุไว้ว่า "บันทึกข้อตกลงนี้ไม่มีผลทำให้บริษัท"(KT) เป็นตัวแทนหรือลูกจ้างของกรุงทพมหานคร" ซึ่งในส่วนนี้ต้องดำเนินการให้ครบถ้วนตามข้อบัญญัติของ กทม. และต้องผ่านการพิจารณาของสภากรุงเทพมหานครด้วย

กทม.ยันซ้ำ ไม่มีเจตนาเบี้ยวหนี้ “รฟฟ.สีเขียว” หลัง “บีทีเอส” ทวง 4 หมื่นล้าน

รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวอีกว่า กรุงเทพมหานครไม่มีเจตนาที่จะชะลอการชำระหนี้ให้แก่บริษัทเอกชน แต่มีข้อสังเกตคือบันทึกมอบหมายยังไม่สมบูรณ์ เนื่องจากลงนามมอบหมายในวันที่ 28 ก.ค.59 โดยที่ยังไม่ได้มีการทำโครงการเสนออนุมัติงบประมาณจากสภา กทม. ซึ่งในปี 2561 สำนักการจราจรและขนส่ง กทม. ได้เสนอขอจัดสรรงบประมาณในการชำระหนี้ค่าเดินรถเข้าที่ประชุมสภา กทม. ครั้งที่ 1 เมื่อปี พ.ศ. 2561 เพื่อขอจัดสรรงบประมาณโครงการติดตั้งระบบเดินรถและบริหารจัดการเดินรถระบบขนส่งมวลชนสายสีเขียว ระยะเวลาดำเนินการ 15 ปี (2561-2575) วงเงินรวม 31,988,490,000  บาท (เป็นเงินงบประมาณ กทม. 12,000,000,000 บาท และเงินนอกงบประมาณ 19,988,498,000 บาท) โดยปี 2561 ตั้งงบประมาณจำนวน 1,000,000,000 บาท เสนอต่อสภากรุงเทพมหานคร สภากรุงเทพมหานครได้มีการพิจารณางบประมาณรายจ่าย ประจำปี พ.ศ. 2561 แต่โครงการดังกล่าวไม่ได้ถูกรับการพิจารณาและบรรจุอยู่ในร่างงบประมาณดังกล่าว

โดยเมื่อปี 2564 สำนักการจราจรและขนส่ง ได้เสนอขอจัดสรรงบประมาณในการชำระหนี้ค่าเดินรถเข้าที่ประชุมสภา กทม. โดยเสนอสำนักงบประมาณเพื่อขอจัดสรรงบประมาณในการชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย 1 และส่วนต่อขยาย 2 จำนวนเงิน 9,246,748,339 บาท โดยได้จัดทำเป็นร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2564 (ฉบับที่ ...) พ.ศ... เสนอสภากรุงเทพมหานคร

กทม.ยันซ้ำ ไม่มีเจตนาเบี้ยวหนี้ “รฟฟ.สีเขียว” หลัง “บีทีเอส” ทวง 4 หมื่นล้าน

ทั้งนี้ที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2564 ได้พิจารณาร่างข้อบัญญัติฯ และมีมติไม่เห็นชอบให้ กทม. จ่ายขาดเงินสะสม เนื่องจากไม่เข้าหลักเกณฑ์ ตามข้อ 12 แห่งข้อบัญญัติ กทม. เรื่อง เงินสะสม(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2564 และสภา กทม. มีข้อเสนอให้ กทม. ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล หรือให้ใช้วิธีให้เอกชนรับภาระและให้ประโยชน์ตอบแทนในรูปสัมปทานเดินรถ หากไม่สามารถดำเนินการตามข้อเสนอควรส่งโครงการดังกล่าวคืนให้ รฟม.

ขณะที่อยู่ระหว่างดำเนินการวันที่ 11 เม.ย.62 คสช. ได้มีคำสั่งตามมาตรา 44 ที่ 3/2562 เรื่อง การดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อให้การเดินรถเป็นไปอย่างต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน (Through Operation) โดยให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่งเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การแบ่งปันผลประโยชน์จากค่าโดยสาร เจรจากับผู้รับสัมปทานรายเดิม และจัดทำร่างสัญญาร่วมลงทุน พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินเป็นการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว 

เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2562 ครม. มีมติรับทราบผลการเจรจาและร่างสัญญาและร่วมลงทุนโครงการฯ และให้กระทรวงการคลังเสนอความเห็น และระหว่างวันที่ 17 พ.ย. 2563-22 ก.พ. 2565 กทม. และกระทรวงมหาดไทยทำการจัดเตรียมข้อมูลเพิ่มเติมให้กับหน่วยงานต่างๆ เพื่อประกอบการนำเสนอ ครม.

ต่อมา เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2565 กระทรวงมหาดไทยมีหนังสือแจ้ง กทม. ขอทราบแนวทางการดำเนินโครงการเนื่องจากมี ผว. กทม. และสภา กทม. ชุดใหม่ วันที่ 3 พ.ย.65 ผว.กทม. มีหนังสือตอบกลับ มท. โดย 1) เห็นพ้องกับนโยบาย Through Operation ให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณสำหรับโครงสร้างพื้นฐานและงานติดตั้งระบบการเดินรถ 2) เห็นควรที่จะเดินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวตาม พ.ร.บ. ร่วมทุน 2562   และ 3) การหาข้อยุติของ ครม. ตามคำสั่ง คสช. จะทำให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินงาน