กสม.แนะ “ราชทัณฑ์” แก้ระเบียบ ห้ามเปิด จม.ร้องทุกข์ นักโทษ

กสม.แนะ “ราชทัณฑ์” แก้ระเบียบ ห้ามเปิด จม.ร้องทุกข์ นักโทษ

กสม.แนะ “กรมราชทัณฑ์” แก้ไขระเบียบ ห้ามเปิดอ่าน “จดหมายร้องทุกข์” ของผู้ต้องขังที่ส่งไปหน่วยงานตรวจสอบภายนอก ชี้ต้องคุ้มครองสิทธิ ตามมาตรฐานขั้นต่ำสหประชาชาติ

เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2565 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กสม. แถลงว่า จากกรณี กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ต้องขังในเรือนจำกลางบางขวาง ซึ่งมีความประสงค์ขอความช่วยเหลือและความคุ้มครองทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิในการร้องทุกข์ แต่เจ้าหน้าที่เรือนจำจะตรวจจดหมายก่อนปิดผนึกลับ ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวทำให้เจ้าหน้าที่สามารถมองเห็นข้อความในจดหมายได้ และอาจส่งผลให้ผู้ต้องขังไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือไม่ปลอดภัย ในกรณีที่การส่งจดหมายนั้นเป็นจดหมายร้องเรียนหรือร้องทุกข์ต่อหน่วยงานภายนอกเกี่ยวกับกรณีพิพาทระหว่างผู้ต้องขังกับเจ้าหน้าที่เรือนจำ ซึ่ง กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริง หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 และระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการตรวจสอบจดหมาย เอกสาร พัสดุภัณฑ์ หรือสิ่งสื่อสารอื่น หรือสกัดกั้นการติดต่อสื่อสารทางโทรคมนาคมหรือโดยทางใด ๆ ซึ่งมีถึงหรือจากผู้ต้องขัง พ.ศ. 2561 ได้กำหนดให้เจ้าหน้าที่เรือนจำสามารถตรวจสอบข้อความในจดหมาย และมีอำนาจในการระงับ ยับยั้งการส่งจดหมายของผู้ต้องขังได้โดยมีเหตุผลความจำเป็นเพื่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยของเรือนจำ หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เพื่อป้องกันเหตุร้ายจากการสื่อสารที่นำไปสู่การกระทำผิดทางอาญา

นายวสันต์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้แม้การดำเนินการของเรือนจำกลางบางขวาง และกรมราชทัณฑ์ จะมิได้เป็นการจำกัดเสรีภาพในการติดต่อสื่อสารของผู้ต้องขังอย่างสิ้นเชิง โดยผู้ต้องขังยังสามารถติดต่อครอบครัวหรือหน่วยงานภายนอกได้ หากเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของระเบียบข้างต้น แต่เมื่อคำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ต้องขังในฐานะพลเมือง รวมทั้งมาตรฐานขั้นต่ำของสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับประกันความปลอดภัยว่า ผู้ต้องขังจะไม่ตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบด้านลบอันเกิดจากการยื่นคำร้องทุกข์ การตรวจสอบเนื้อหาในจดหมายหรือสิ่งสื่อสารอื่น หากเป็นกรณีการสื่อสารระหว่างผู้ต้องขังกับหน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ เช่น องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ผู้ต้องขังควรที่จะได้รับการประกันเสรีภาพในการติดต่อสื่อสาร 

ดังนั้น การที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่เรือนจำตรวจดูจดหมาย หรือคำร้องทุกข์ของผู้ร้องที่จะส่งไปยังหน่วยงานภายนอก อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้ต้องขัง และไม่เป็นไปตามหลักการที่กำหนดไว้ในมาตรฐานขั้นต่ำของสหประชาชาติ ในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง จึงถือเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

“กสม. จึงมีข้อเสนอแนะมาตรการในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนไปยังกรมราชทัณฑ์ โดยให้พิจารณาทบทวนและแก้ไขกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการร้องทุกข์ของผู้ต้องขัง หากเป็นกรณีการสื่อสารระหว่างผู้ต้องขังกับหน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ ดังเช่นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ให้ผู้ต้องขังสามารถปิดผนึก “ลับ” จดหมายหรือคำร้องทุกข์ได้ และเจ้าหน้าที่จะต้องงดเว้นการตรวจสอบเนื้อหาของเอกสารดังกล่าว นอกจากนี้ให้กรมราชทัณฑ์กำหนดแนวปฏิบัติของเจ้าหน้าที่เรือนจำเกี่ยวกับการตรวจสอบจดหมาย หรือคำร้องทุกข์ของผู้ต้องขังในกรณีที่เป็นการร้องเรียนเจ้าหน้าที่เรือนจำที่มีข้อพิพาทกับผู้ต้องขัง โดยให้ผู้ต้องขังสามารถปิดผนึก “ลับ” จดหมายหรือคำร้องทุกข์ส่งถึงเจ้าหน้าที่เรือนจำที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ต้องขังโดยตรงได้ ทั้งนี้ให้ดำเนินการ ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง” นายวสันต์ กล่าว