ติดตามประชาธิปไตยในเข่งหกเหลี่ยม | ไสว บุญมา

ติดตามประชาธิปไตยในเข่งหกเหลี่ยม | ไสว บุญมา

ระบอบประชาธิปไตยของไทยอยู่ในเข่ง 6 เหลี่ยม  แต่ไทยมิใช่สังคมเดียวที่เป็นเช่นนั้น  ในปัจจุบันสังคมอเมริกันก็เป็น

ทั้งคู่ดูจะกำลังนำเข่งไปถ่วงน้ำ ซึ่งจะทำให้ระบอบประชาธิปไตยในสังคมของตนพัฒนาต่อไปไม่ได้และตายไปในที่สุด การมองระบอบประชาธิปไตยในสังคมไทยว่าอยู่ในเข่งดังกล่าวดำเนินมากว่า 20 ปี

เริ่มจากหลังการเลือกตั้งครั้งสำคัญที่ใช้รัฐธรรมนูญแนวใหม่ทำให้ได้รัฐบาลใหม่ในตอนกลางปี 2544  เข่ง 6 เหลี่ยม ประกอบด้วย อัตตาธิปไตย ธนาธิปไตย โจราธิปไตย ญาติกาธิปไตย ประชานิยมาธิปไตย และมุสา หรือมายาธิปไตย

อัตตาธิปไตย หมายถึงการบริหารบ้านเมืองเป็นแนวเผด็จการแม้รัฐบาลจะมาจากการเลือกตั้งก็ตาม  หลังการเลือกตั้งปี 2544 นายกรัฐมนตรีแสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ว่าเขาเท่านั้นที่สั่งการทุกอย่างและส่วนใหญ่สั่งไป เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนเอง กระทั่งถึงกับสั่งวันหยุดราชการให้เป็นวันทำงานตามปกติเพื่อตนจะได้รับประโยชน์ในด้านการเลี่ยงภาษี 

ในปัจจุบัน การสั่งดังกล่าวอาจไม่ได้ถูกผูกขาดโดยผู้นำคนเดียว หากเป็น 3 คนซึ่งมีผลประโยชน์ร่วมกัน  ในสังคมอเมริกัน ประธานาธิบดีคนที่แล้วเริ่มกระบวนการ แต่ยังไม่ทันสำเร็จเพราะแพ้การเลือกตั้ง  เป็นที่แน่นอนว่าถ้าเขากลับมากำอำนาจอีก เขาจะสานต่อ

ธนาธิปไตย หมายถึงการทุ่มเงินนำหน้าเป็นหลักไม่ว่าจะเป็นในกระบวนการเลือกตั้ง หรือการบริหารบ้านเมือง  “คืนหมาหอน” เป็นตำนานในการเลือกตั้งของไทย 

แม้ตอนนี้จะมีหมาหอนน้อยลงในคืนก่อนการลงคะแนน แต่การซื้อเสียงมิได้ยุติ หากวิธีการเปลี่ยนไป  ใช่หรือไม่? 

ในสังคมอเมริกัน การซื้อเสียงโดยตรงอาจไม่มี แต่กระบวนการหาเสียงใช้เงินสูงมาก จากการใช้สื่อทุกชนิดไปจนถึงการจ้างคนจำนวนมากไปเดินเคาะประตูบ้านของผู้มีสิทธิ์ออกเสียง  ผู้สมัครที่มีเงิน หรือเศรษฐีจำนวนมากหนุนหลังจึงได้เปรียบ

โจราธิปไตย หมายถึงความฉ้อฉลในหมู่คนที่มีอำนาจ  หลังจากปี 2544 นายกรัฐมนตรีไทยหนีคดีความฉ้อฉลไปอาศัยอยู่ในต่างประเทศ 2 คนซึ่งยังกลับเข้าเมืองไทยไม่ได้  แต่ความฉ้อฉลมิได้หมดไปใช่หรือไม่? 

อดีตนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งถึงกับเคยเปล่งวาจาออกมาครั้งหนึ่งว่า ยุคนี้มีความฉ้อฉลสูงสุด  ความฉ้อฉลในหมู่ผู้นำของสหรัฐปรากฏให้เห็นเป็นครั้งคราว แต่ไม่เท่ากับระดับของไทย

ติดตามประชาธิปไตยในเข่งหกเหลี่ยม | ไสว บุญมา

ญาติกาธิปไตย หมายถึงการกำอำนาจเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองและญาติมิตรเป็นหลัก  เมืองไทยคุ้นเคยกับระบบอุปถัมภ์อยู่ก่อนแล้ว  ระบบนี้มิได้หมดไปเมื่อเริ่มนำระบอบประชาธิปไตยเข้ามาใช้  ตรงข้ามมันอาจจะเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ  ใช่หรือไม่? 

ในสหรัฐ เป็นที่ประจักษ์ว่าประธานาธิบดีคนที่ผ่านมาพยายามจะใช้ในระดับเข้มข้น แต่ทำต่อไม่ได้เพราะแพ้การเลือกตั้งครั้งที่แล้วเสียก่อน

ประชานิยมาธิปไตย หมายถึงการใช้นโยบายประชานิยมแบบเลวร้ายเพื่อให้ได้ครองอำนาจ  ผู้นำรัฐบาลไทยเริ่มนำเข้ามาใช้เมื่อปี 2544 และในปัจจุบันนี้ยังอยู่ซึ่งใช้คู่กับการทุ่มเงินซื้อความนิยมจากประชาชน  วิกฤติจากโควิดอาจปิดบังการใช้มันไปได้บ้าง  แต่มันไม่ได้หายไปไหน 

ในสหรัฐ พรรคประชานิยมถูกตั้งขึ้นมาหลายครั้ง แต่อยู่ไม่ได้  อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีคนที่ผ่านมาพยายามนำมาใช้ แต่มิใช่แบบใช้เงินหว่านดังที่ไทยใช้ หากเป็นการยึดนโยบายตามใจของคนบางกลุ่มแม้นโยบายจะไร้ฐานทางวิชาการ หรือคุณธรรมสนับสนุนก็ตาม

มุสา หรือมายาธิปไตย ซึ่งใช้ทั้งการโกหกโดยตรงและการให้ร้าย บิดเบือน อำพราง สร้างภาพ ทั้งเพื่อทำให้ฝ่ายตนดูดีและฝ่ายตรงข้ามดูชั่วร้าย  ในยุคนี้ บางทีเรียกกันว่าปฏิบัติการ “ไอโอ” 

นอกจากการโกหกตรง ๆ แล้ว เหลี่ยมนี้พิสูจน์ยากและมักใช้กันนอกวงของผู้กุมอำนาจด้วยเนื่องจากเทคโนโลยีใหม่เอื้อให้ทำได้ง่ายขึ้น  ประธานาธิบดีคนที่แล้วของสหรัฐใช้อย่างเข้มข้นจนกระทั่งปัจจุบัน  แต่ละวัน สื่อจึงมักรายงานว่าวันนี้เขาโกหกเรื่องอะไรบ้าง

ตั้งแต่วันก่อตั้งประเทศ ชาวอเมริกันพูดเสมอว่า ระบอบประชาธิปไตยที่ตนใช้นั้นอยู่ในขั้นทดลอง จึงไม่รู้ว่ามันจะนำไปสู่อะไรในที่สุด  ขณะนี้มีผู้เชี่ยวชาญทำนายแล้วว่า มันน่าจะตายหากนายโดนัลด์ ทรัมป์กลับมากำอำนาจอีกหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า  ส่วนของไทยจะจบอย่างไรใครกล้าทำนายบ้าง?