“ก้าวไกล” เสนอตัดเงินนอกงบ “กองทัพ” 1 หมื่นล้าน ไปสร้างสวัสดิการประชาชน

“ก้าวไกล” เสนอตัดเงินนอกงบ “กองทัพ” 1 หมื่นล้าน ไปสร้างสวัสดิการประชาชน

“วรภพ” ก้าวไกล เสนอตัดเงินนอกงบประมาณกองทัพ 1 หมื่นล้านบาท นำไปสร้างสวัสดิการให้ประชาชน ชี้ที่ผ่านมาอาจไม่โปร่งใส-ตรวจสอบยาก เผยธุรกิจพาณิชย์กองทัพมีอยู่เพียบทั้งที่ไม่ใช่หน้าที่ แถมถูกใช้อย่างไร้ประสิทธิภาพ

เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2565 นายวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ร่วมอภิปรายในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 มาตรา 8 งบประมาณกระทรวงกลาโหม วงเงินกว่า 1.97 แสนล้านบาท โดยเสนอตัดงบ 10 % ในส่วนของเงินนอกงบประมาณที่ไม่อาจตรวจสอบได้ ระบุว่า เงินนอกงบประมาณของกองทัพนี้ ถ้าจะเรียกให้ถูกต้องคือ เงินนอกของนอกงบประมาณ เพราะไม่อยู่ในงบการเงินของกระทรวง เป็นธุรกิจกองทัพพาณิชย์ที่ไม่มีการรายงานและการตรวจสอบใดๆ เช่น บ่อน้ำมัน สนามกอล์ฟ สนาม้า สนามมวย โรงแรม ปั๊มต่างๆ ซึ่งรายได้เหล่านี้ มีแต่คำอ้างว่าเอามาเป็นสวัสดิการกองทัพ แต่คำถามคือเป็นสวัสดิการของใคร นายพล ขุนศึก ศักดินาหรือไม่ และไม่ใช่แค่สภาผู้แทนราษฎรเท่านั้นที่ตรวจสอบไม่ได้ แม้แต่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง.ก็ตรวจสอบไม่ได้เช่นกัน และที่ตลกร้ายก็คือ ในการให้คะแนนความโปร่งใสของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ปรากฏว่ากระทรวงกลาโหมทุกหน่วยงานได้คะแนนความโปร่งใสผ่านแบบ 100 %

นายวรภพ กล่าวว่า สำหรับเงินนอกของนอกงบประมาณ ที่ตรวจสอบพบและมีรายงาน อาทิ บ่อน้ำมัน อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ซึ่งกองทัพขุดกลั่นได้ 86,000 ลิตรต่อวัน ซึ่งต่อให้เป็นน้ำมันเกรดไม่ดีก็จะมีรายได้ 600 ล้านบาทต่อปี, ในส่วนสนามกอล์ฟ ของกองทัพบกมีจำนวน 36 แห่ง จากการเปิดเผยช่วงที่มีเหตุการณ์กราดยิงที่ จ.นครราชสีมา แล้ว ผบ.ทบ.บอกจะมีการปฏิรูปกองทัพ แต่วันนี้ 3 ปียังไม่มีความคืบหน้า ขณะที่สนามกอล์ฟของกองทัพเรือและกองทัพอากาศ ยังไม่มีรายงาน อย่างไรก็ตาม จากจำนวนที่มีนี้ก็ทำให้น่าตั้งคำถามอย่างยิ่งว่านี่คือกระทรวงกลาโหมหรือกลุ่มทุนอสังหาริมทรัพย์ เพราะที่ที่มีอยู่ใจกลางเมืองทั้งนั้น แต่พอมาดูรายได้ที่แจ้ง สนามกอล์ฟตรงถนนรามอินทรา ที่ 500 ไร่ แจ้งรายได้เพียง 150 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเมื่อคำนวนออกมาพบว่าสร้างรายได้เพียง 3 แสนบาท ต่อไร่ต่อปีเท่านั้น น้อยมากเมื่อเทียบกับศักยภาพของที่ดิน นอกจากนี้ กองทัพยังมีโรงแรม 5 แห่ง สนามม้า 1 แห่ง สนามมวย 1 แห่ง ซึ่งรายได้รวมๆ 300 ล้านบาทต่อปี ปั๊มน้ำมันอีกจำนวนมาก รวมถึงที่ดินราชพัสดุซึ่งทั้งประเทศมี 12 ล้านไร่ แต่อยู่ในครอบครองของกองทัพแล้วกว่าครึ่งหนึ่ง ลองคิดง่ายๆ ถ้าให้เกษตรกรที่ขาดแคลนที่ทำกินเช่า ไร่ละ 1,000 บาท ก็น่าจะมีรายได้กว่า 5,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งนี่คือมูลค่าที่จะเกิดขึ้นจากที่ดินกองทัพที่ไม่ถูกใช้ประโยชน์

"รายการเงินนอกของนอกงบประมาณเหล่านี้ ผมเชื่อว่าถ้าถูกเปิดเผยออกมา ถูกใช้จัดการอย่างมีประสิทธิภาพ จะสามารถตัดลบงบประมาณของกระทรวงกลาโหม และนำไปสร้างเป็นงบประมาณประชาชนได้อีกอย่างน้อย 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งสิ่งที่เป็นอยู่ทำให้เกิดคำถาม ว่าทำไมกองทัพกลายเป็นหน่วยงานอภิสิทธิ์พิเศษ ที่เอาทรัพย์สินแผ่นดินไปสร้างรายได้ให้กับเหล่านายพล ขุนศึก ศักดินา อย่างไม่มีการตรวจสอบ และก็อ้างแต่ว่าเป็นสวัสดิการกองทัพ และสุดท้าย สิ่งสำคัญที่สุดคือ จะยิ่งเป็นการเบี่ยงเบนภารกิจของกองทัพให้ออกจากหน้าที่ในการป้องกันประเทศ กลายเป็นว่าไปหมกมุ่นอยู่แต่กับการป้องกันกองทัพพาณิชย์ของตัวเอง ทั้งๆ ที่ไม่ใช่หน้าที่ ไม่ใช่ความถนัด ดังนั้น อยากให้ชี้แจงมาว่าเงินนอกของนอกงบประมาณนั้นเป็นมูลค่าเท่าไหร่ และทำไมไม่เป็นเงินในงบประมาณประจำปี" นายวรภพ กล่าว