CENTEL เผยงบ Q1/67 โรงแรมในไทย-ตปท. ฟื้นตัวดีไฮซีซัน หนุนกำไร 756 ล้าน โต 20%

CENTEL เผยงบ Q1/67 โรงแรมในไทย-ตปท. ฟื้นตัวดีไฮซีซัน หนุนกำไร 756 ล้าน โต 20%

‘CENTEL’ ธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารในเครือตระกูล ‘จิราธิวัฒน์’ เปิดผลประกอบการไตรมาส 1/2567 โกยรายได้รวม 6,389 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% ทำกำไรสุทธิ 756 ล้านบาท โต 20% เทียบปีที่แล้ว หลังโรงแรมทั้งในและต่างประเทศฟื้นตัวดีต่อเนื่องในช่วงไฮซีซัน

นายกันย์ ศรีสมพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่การเงิน และรองประธานฝ่ายการเงินและบริหาร บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL กล่าวว่า ผลประกอบการของ CENTEL ในไตรมาส 1/2567 บริษัทฯมีรายได้รวม 6,389 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 526 ล้านบาท หรือคิดเป็น 9% เมื่อเทียบกับรายได้รวมในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสัดส่วนของรายได้จากธุรกิจโรงแรมต่อรายได้จากธุรกิจอาหารอยู่ที่ 51% ต่อ 49%

ขณะที่กำไรขั้นต้นรวม 3,607 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยคิดเป็นอัตรากำไรขั้นต้น 59% ของรายได้ (ไม่รวมรายได้อื่น) ทรงตัวเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน บริษัทฯมีกำไรก่อนค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ดอกเบี้ยจ่าย และภาษีเงินได้ (EBITDA) รวม 1,917 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 245 ล้านบาท หรือคิดเป็น 15% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และบริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 756 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 127 ล้านบาท หรือ 20% เทียบปีที่ผ่านมา จากการเติบโตของผลการดำเนินงานของธุรกิจโรงแรมและธุรกิจอาหาร

ทั้งนี้ เมื่อดูเฉพาะธุรกิจโรงแรม ณ วันที่ 31 มี.ค. 2567 บริษัทฯมีโรงแรมภายใต้การบริหารงานทั้งสิ้น จำนวน 95 โรงแรม (21,022 ห้อง) แบ่งเป็นโรงแรมที่เปิดดำเนินการแล้ว 52 โรงแรม (11,261 ห้อง) และเป็นโรงแรมที่กำลังพัฒนา 43โรงแรม (9,761 ห้อง) ในส่วน 52โรงแรมที่เปิดดำเนินการแล้วนั้น 20 โรงแรม (5,566 ห้อง) เป็นโรงแรมที่บริษัทฯ เป็นเจ้าของ และ 32 โรงแรม (5,695 ห้อง) เป็นโรงแรมที่อยู่ภายใต้สัญญาบริหาร

“ในไตรมาส 1/2567 ภาพรวมรายได้ต่อห้องพักเฉลี่ยของธุรกิจโรงแรมยังคงเติบโตได้ดีต่อเนื่องเทียบไตรมาสก่อนและปีก่อน จากการเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซัน) โดยเห็นการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องทั้งโรงแรมในประเทศและต่างประเทศ ภาพรวมรายได้ต่อห้องพักเฉลี่ยของทั้งหมด (RevPar) เพิ่มขึ้น 19% อยู่ที่ 4,994 บาท แม้อัตราการเข้าพักเฉลี่ยลดลงเล็กน้อยจาก 78% เป็น 77% ในไตรมาส 1/2567 แต่ราคาห้องพักเฉลี่ย (ARR) เพิ่ม 20% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 6,464 บาท”

ไตรมาส 1/2567 ธุรกิจโรงแรมมีรายได้รวมอยู่ที่ 3,245 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 413 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 15% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการดำเนินงานจำนวน 483 ล้านบาทจากการเติบโตของผลประกอบการของโรงแรมเดิมและโรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ โอซาก้า ซึ่งเป็นโรงแรมใหม่ ทั้งนี้ธุรกิจโรงแรมมีกำไรขั้นต้นจำนวน 1,924 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้อัตรากำไรขั้นต้นลดลงจาก 66% เป็น 64% ในไตรมาส 1/2567 เนื่องจากอัตราการทำกำไรของโรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ โอซาก้า ยังคงอยู่ในช่วงเริ่มเปิดดำเนินการและยังเติบโตไม่เต็มที่ ประกอบกับเป็นช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยวของประเทศญี่ปุ่น แต่บริษัทฯ สามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารได้ดีขึ้นเทียบปีก่อน ส่งผลให้อัตรากำไรก่อนค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ดอกเบี้ยจ่าย และ ภาษีเงินได้ ต่อรายได้รวม (% EBITDA) เพิ่มขึ้นเป็น 42% โดยมีกำไรก่อนค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย ดอกเบี้ยจ่าย และภาษีเงินได้ (EBITDA) จำนวน 1,367 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ธุรกิจโรงแรมมีกำไรสุทธิ 632 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 94 ล้านบาท หรือ 17% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน

CENTEL เผยงบ Q1/67 โรงแรมในไทย-ตปท. ฟื้นตัวดีไฮซีซัน หนุนกำไร 756 ล้าน โต 20% กันย์ ศรีสมพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่การเงินฯ  CENTEL

 

ด้านธุรกิจอาหาร ในไตรมาส 1/2567 บริษัทฯรายได้จากธุรกิจอาหารรวม 3,144 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 113 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 4%  โดยบริษัทฯ มียอดขายของสาขาเดิม (%SSS) ไม่รวมแบรนด์ร่วมทุนและแบรนด์ เดอะ เทอเรสที่รับบริหาร เติบโตเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 1% ขณะที่ภาพรวมอัตราการเติบโตจากยอดขายรวม (%TSS) ไม่รวมแบรนด์ร่วมทุนและแบรนด์ เดอะ เทอเรสที่รับบริหารอยู่ที่ 3% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการเติบโตของรายได้มาจากแบรนด์หลักคือ เค เอฟ ซี, อานตี้แอนส์ และโอโตยะ เป็นสำคัญ

ณ สิ้นไตรมาสที่ 1/2567 บริษัทฯ มีจำนวนสาขาทั้งสิ้น 1,618 สาขา (รวมแบรนด์ร่วมทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ) เพิ่มขึ้นสุทธิ 19 สาขา เติบโต 1% เมื่อเทียบกับสิ้นไตรมาส 1/2566 โดยบริษัทฯ มีการเน้นการขยายสาขากับแบรนด์หลัก ได้แก่  เคเอฟซี (+15)  อานตี้แอนส์ (+13) สลัดแฟคตอรี (+10) ชินคันเซ็น ซูชิ (+13)  สำหรับ อาริกาโตะ (+16)  เป็นการเพิ่มจำนวนสาขาที่อยู่กับร้าน มิสเตอร์โดนัท  (shop-in-shop) เป็นหลัก ขณะที่อร่อยดี และ แกร็บคิดเช่น บาย เอเวอรี่ฟูด ซึ่งมีรายได้หลักจากเดลิเวอรี่  ได้มีการปรับลดสาขาลงอย่างมีนัยสำคัญเทียบปีก่อน ซึ่งเป็นการปิดสาขาที่ไม่ทำกำไร เพื่อปรับปรุงอัตราการทำกำไรของธุรกิจให้ดีขึ้น

ในไตรมาส 1/2567 ธุรกิจอาหารมีกำไรขั้นต้นจำนวน 1,683 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 54% ของรายได้จากธุรกิจอาหาร (ไม่รวมรายได้อื่น) ทรงตัวเทียบกับปีก่อน บริษัทฯมีกำไรก่อนค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย  ดอกเบี้ยจ่าย  และภาษีเงินได้ (EBITDA) อยู่ที่ 549 ล้านบาท และอัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้รวม (% EBITDA) อยู่ที่ 17% ลดลงเล็กน้อยเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน

อย่างไรก็ดี ธุรกิจอาหารมีกำไรสุทธิ 124 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33 ล้านบาท หรือ 36% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอัตรากำไรสุทธิปรับตัวดีขึ้นจาก 3% เป็น 4% โดยในภาพรวมสำหรับไตรมาส 1/2567 แม้ว่าธุรกิจอาหารมีค่าใช้จ่ายด้านค่าเช่าที่เพิ่มขึ้น แต่มีแนวโน้มต้นทุนวัตถุดิบที่ดีขึ้น และค่าใช้จ่ายทางค่าเสื่อมราคาลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันในปี 2566