“ก๊วนธรรมนัส” ถอนตัว  ไหวไหม? “รัฐบาล” เสียงข้างน้อย

“ก๊วนธรรมนัส” ถอนตัว  ไหวไหม? “รัฐบาล” เสียงข้างน้อย

จังหวะ "ธรรมนัส" พา16เสียง ถอนตัวจาก "ร่วมรัฐบาล" ทำให้รัฐบาลต้องเผชิญชะตากรรมลำบาก แต่หาก "ก๊วนพรรคเล็ก" ที่ "ผู้กอง" ดูแลอยู่ก่อน ตบเท้าถอนตัวอีก รัฐบาลเสียงข้างน้อย อาจเป็นจุดเปลี่ยนและจุดเสี่ยงการเมือง

        จับจังหวะที่ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย ประกาศถอนตัวอย่างเด็ดขาดจาก การร่วมรัฐบาล ของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” 


        เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับบารมีของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ฐานะผู้จัดการรรัฐบาล ที่เหนี่ยวรั้ง “อดีตลูกพรรคพลังประชารัฐ” ให้ร่วมหัวจมท้ายต่อไปไม่ได้

 

        แต่คือ บทวิเคราะห์ ที่เป็นผลจากการพ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้งซ่อม ลำปาง เขต4 ที่แชมป์เก่า เด็กในคาถาของ “ธรรมนัส” แพ้คนของ พรรคเสรีรวมไทย

 

        “ร.อ.ธรรมนัส”  บอกว่า “คนภาคเหนือ และ คนอีสาน ไม่เอารัฐบาล เมื่อท่าทีของพรรคเศรษษฐกิจไทย ไม่ชัดเจนว่าจะดำรงสถานะไหน และชักเข้าชักออก จากการลงมติรับร่างกฎหมายงบประมาณ พ.ศ.2566 ทำให้คนสับสน อีกทั้งการซาวน์เสียง 77 จังหวัดจากว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. เห็นชัดว่าประชาชนเดือดร้อนจากวิกฤตโรคระบาดและวิกฤตเศรษฐกิจ ดังนั้นการแสดงสถานะเลือกข้างประชาชนที่ผ่านมา ภาพยังไม่ชัด”

“ก๊วนธรรมนัส” ถอนตัว  ไหวไหม? “รัฐบาล” เสียงข้างน้อย

        แน่นอนว่า การประเมินผลการเลือกตั้งซ่อมลำปาง ครั้งนี้ “ร.อ.ธรรมนัส” มองไปไกลถึงการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมาถึง อย่างช้าเดือนมีนาคม 2566 หากจะประสบความสำเร็จ ปัจจัยหนึ่งคือ  การสร้างและย้ำภาพ “เลือกข้าง” ให้ชัดเจน

        เมื่อ “ธรรมนัส” ถอนตัว และดึง ส.ส. พรรคเศรษฐกิจไทย รวม 16 เสียง ออกมาจากขั้วรัฐบาลแล้ว  จังหวะต่อเนื่อง ของ “ส.ส.ก๊วนพรรคเล็ก” ในสังกัดเด็กผู้กอง ที่มีชื่อทางการว่า “กลุ่ม16” จะติดสอย ห้อยตาม “ถอนตัว” ด้วยหรือไม่

 

        เรื่องนี้ “สุรทิน พิจารณ์” ส.ส.และหัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่ คนสนิทของ “ร.อ.ธรรมนัส” บอกว่า เป็นเรื่องที่ต้องคิด เมื่อหัวหน้ากลุ่มประกาศถอนตัวแล้ว เราจะเดินต่อไปยังไง  อย่างไรก็ดีการถอนตัวจากร่วมรัฐบาล ไม่ใช่เรื่องที่คิด หรือตัดสินใจได้ลำพัง เพราะต้องอาศัยมติของพรรคชี้ขาด เพราะก่อนหน้านี้ที่พรรคประชาธิปไตยใหม่ ตัดสินใจร่วมงานรัฐบาล ขอมติไว้เช่นเดียวกัน

“ก๊วนธรรมนัส” ถอนตัว  ไหวไหม? “รัฐบาล” เสียงข้างน้อย

        ทว่าการถอนตัวของพรรคเล็ก มีปัจจัยที่ต้องขบคิด เหตุจะคาดการณ์ยาวเหมือน “ร.อ.ธรรมนัส” ที่วางเป้าไปถึงการแข่งขันในสนามเลือกตั้งทั่วไป ไม่ได้

 

        เช่นเดียวกับ “ผู้จัดการรัฐบาล” และ “ลูกมือรัฐบาล” ที่จะไม่สนใจการถอนตัวรอบนี้ไม่ได้

 

        เนื่องจากหากยอมปล่อยให้ “พรรคร่วมรัฐบาล” ถอนตัว จนมียอดส.ส. ต่ำกว่า 250 เสียง จะถูกตราหน้าว่าเป็น “รัฐบาลเสียงข้างน้อย” ทันที

        โดยวันอาทิตย์ที่ 17 กรกฏาคม เวลา 17.00 น. “บิ๊กป้อม” จะเปิดมูลนิธิป่ารอยต่อ รับ “ส.ส.พรรคเล็กร่วมรัฐบาล” เพื่อพูดคุย

 

        กับตัวเลขของ ส.ส.ในสภาฯ ที่มีปัจจุบัน คือ 477 คน แบ่งเป็น ฝ่ายค้าน 208  คน ฝ่ายรัฐบาล  269 คน เมื่อลบสัดส่วนของส.ส.ร่วมรัฐบาล จากพรรคเศรษฐไทย 16 คน จะเหลือจำนวน 253 คน

 

        หาก “พรรคเล็ก” ตัดสินใจถอนตัว และ มีแนวโน้มที่จะเป็นไปได้สูงใน 4 พรรค  5เสียง คือ พรรคประชาธิปไตยใหม่ 1 เสียง, พรรคครูไทยเพื่อประชาชน 1 เสียง, พรรคไทรักธรรม 1 เสียง และ พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 เสียง จะทำให้ขั้วรัฐบาลมีส.ส.ในมือ 248 คน

“ก๊วนธรรมนัส” ถอนตัว  ไหวไหม? “รัฐบาล” เสียงข้างน้อย

        นั่นจะทำให้ ตัวเลขระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่มีระยะห่างกัน 19 เสียง แม้ฝ่ายรัฐบาลจะเคลมว่าไม่มีผลเสียต่อเกมขับเคลื่อนในสภาฯ เพราะมี “ส.ส.งูเห่า” เข้ามาเติม 10 - 15 เสียง แต่สิ่งที่ถูกนำไปขยายผล คือ  "ความไม่ชอบธรรมทางการเมืองในสภาฯ" 

 

        จังหวะที่ “ร.อ.ธรรมนัส” ถอนตัว และประกาศชัดว่าจะร่วมงานเป็นฝ่ายตรวจสอบรัฐบาล จึงเป็นก้าวสำคัญ เดิมพันต่อเกมการเลือกตั้งในอนาคต 

 

        ทว่ามีสิ่งที่ต้องพิสูจน์ความจริงใจ โดย “สมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย” ชี้ว่า มติไม่ไว้วางใจรัฐบาล ตามญัตติของพรรคฝ่ายค้าน คือ บทพิสูจน์แรก ว่า ก๊วนของธรรมนัส จริงใจกับประชาชนโดยแท้หรือเป็นแค่เกมตบตา.