"ชัชชาติ" ประสาน กฟน.สำรวจหม้อแปลงกรุงฯชั้นใน หวั่นซำรอยไฟไหม้สำเพ็ง

"ชัชชาติ" ประสาน กฟน.สำรวจหม้อแปลงกรุงฯชั้นใน หวั่นซำรอยไฟไหม้สำเพ็ง

"ชัชชาติ" ถอดบทเรียน 2 เหตุดับกลางกรุงฯ ประสาน กฟน. สำรวจหม้อแปลงกรุงเทพฯชั้นใน เล็งเพิ่มค่าตอบแทน-เบี้ยเลี้ยง-เสี่ยงภัย "อาสาสมัคร" ดันแผนซ้อมเผชิญเหตุร่วมกับชุมชน

วันที่ 27 มิ.ย. ที่อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร(กทม.)(ดินแดง) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. กล่าวถึงการถอดบทเรียนเหตุไฟไหม้ชุมชนบ่อนไก่ และสำเพ็ง ว่า สาเหตุของเพลิงไหม้ที่บ่อนไก่ มีต้นเพลิงมาจากไฟฟ้าช็อต ที่ชั้นบนของอาคาร และลุกลามไปยังอีกจุดหนึ่งอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ปัญหาคือ บ้านเรือนอยู่ติดกัน และเป็นโครงสร้างไม้ติดไฟง่าย และน้ำประปามีแรงดันน้อย การปฏิบัติงานมีหลายหน่วยงาน ทำให้การบริหารจัดการพื้นที่ทำได้ไม่ดี 

นายชัชชาติ กล่าวว่า บทเรียนจากเหตุการณ์นี้ คือ 1.ประชาชนในชุมชน ซึ่งประชาชนไม่ได้แจ้งเหตุไปยังสถานีดับเพลิงโดยตรง แต่ไปแจ้งที่อาสาสมัครชุมชน ทำให้เสียเวลาไปประมาณ 5 นาที ก่อนที่ดับเพลิงจะได้รับแจ้งอย่างเป็นทางการ โดยไม่ได้นำถังแดงไปดับเพลิงในตอนแรก ในส่วนนี้เราสามารถฝึกให้ชุมชนช่วยเหลือตัวเองได้ อาจทำให้การดับเพลิงทำได้เร็วมากขึ้น 2.สายไฟฟ้าในชุมชนชำรุด ขาดการบำรุงรักษา ทำให้เกิดไฟช็อต อีกทั้ง ชุมชนยังเกิดความสับสน ไม่รู้จะอพยพไปที่ใด ดังนั้นการฝึกซ้อมจึงเป็นเรื่องสำคัญ

“จริงๆ แล้วชุมชนมีหัวดับเพลิงแดงเพียงพอ มีหลายจุด แต่ในเบื้องต้นอาจมีเรื่องแรงดันน้ำที่อาจจะไม่เพียงพอ และ3.ปัญหาด้านผู้ปฏิบัติงาน ยังต้องมีการปรับปรุง เนื่องจากไม่มีผู้บัญชาการเหตุการณ์ ผู้ที่ลงพื้นที่ในชุมชนไม่มีความคุ้นเคยในชุมชนดังนั้น ผอ.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย(สปภ.) ผู้อำนวยการเขต และอาสาสมัครต้องซักซัอมการปฏิบัติงานให้ดีขึ้นมีการทำบัญชีผู้เสียหาย การจัดบริการเบื้องต้น ได้แก่ ห้องสุขา ติดตั้งปั๊มน้ำให้น้ำพอใช้ เตียงกระดาษ ตั้งคลังอุปกรณ์ฉุกเฉินซึ่งจะช่วยผู้ประสบเหตุได้เร็วขึ้นไม่ต้องรอการรับบริจาค นอกจากนี้ ยังต้องแยกผู้ประสบภัยให้ชัดเจน” นายชัชชาติ กล่าว

นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีเคสที่สำเพ็ง สาเหตุต้นเพลิง คือ 1.หม้อแปลงที่มีควัน 2.สายสื่อสารติดไฟ และ 3.ตัวอาคารมีเชื้อเพลิง เช่น พลาสติกเยอะ เลยทำไฟลุกลามเร็วขึ้น เบื้องต้นได้ประสาน การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) สำรวจหม้อแปลงทั้งหมด 400 กว่าลูกเฉพาะจุดเสี่ยงในกรุงชั้นใน และประชาชนหากมีข้อกังวลให้แจ้งเข้ามาที่มากทม. หรือทราฟฟี่ ฟองดูว์เราจะได้ดำเนินการตรวจสอบให้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน ส่วนการจัดระเบียบสายสื่อสารจะหารือกับ กสทช. เพื่อหารือเรื่องนี้ให้เร็วขึ้น 

“อย่างไรก็ตามเจ้าของอาคารที่มีวัสดุที่มีเชื้อเพลิงมาก ต้องระวังเรื่องอัคคีภัยให้มากขึ้น โดยเจ้าของอาคารต้องตรวจสอบดูแลในส่วนของตัวเองด้วย ส่วนการเข้าเผชิญเหตุ ตามหลักป้องกันและบรรเทาสาธารณะถัย ควรไปฉีดที่ต้นเพลิง มากกว่าการกระหน่ำฉีดเข้าไป ต่อจากนี้ จะให้มีการอบรม จัดระเบียบให้ทุกทีมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน และต้องเรียนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเนื่องจากมีหลายหน่วยงานที่เข้ามาช่วย จึงให้ทางผอ.สปภ. ทำแผนระยะสั้น กลาง ยาว เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด” นายชัชชาติ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการพิจารณาค่าตอบแทน เบี้ยเลี้ยง ค่าเสี่ยงภัยแก่อาสาสมัคร จัดสรรอุปกรณ์ที่เหมาะสมในงานด้านบรรเทาสาธารณะภัย รวมถึงทบทวนการเพิ่มเบี้ยงเสี่ยงภัย ซึ่งก่อนหน้านี้มีการเสนอให้เพิ่มจาก 5,000 บาท เป็น 7,000 บาทนายชัชชาติ กล่าวว่า มีการร่างแผนไว้แล้ว ค่าตอบแทนเราก็ต้องพิจารณาเช่นกัน รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆต้องมีอย่างเหมาะสม 

เมื่อถามต่อถึงความเหมาะสมหรือความปลอดภัยของเด็กที่มาเป็นอาสาสมัคร นายชัชชาติ กล่าวว่า ต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมของเด็ก โดยเอาตัวอย่างการทำงานบรรเทาสาธารณะภัยของประเทศเกาหลี มาเป็นต้นแบบในการทำงานของเราด้วย 

ขณะที่ ผศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ได้มีการให้สำรวจข้อมูลทั้งหมด ในส่วนของพื้นที่หนาแน่น ที่เหมือนกับชุมชนบ่อนไก่ ให้มีการระบุจุดเสี่ยง และสรุปผลเหตุเพลิงไหม้แต่ละจุดเกิดซ้ำที่จุดไหนบ้าง ทั้งนี้ ในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีเหตุไฟฟ้าลัดวงจร-เพลิงไหม้ ทุกวัน เพราะฉะนั้นเราทราบอยู่แล้วว่า มันเกิดซ้ำที่ไหนบ้าง และการเข้าถึงชุมชนที่ไหนยากบ้างจึงต้องสนับสนุนอุปกรณ์ระงับเหตุเบื้องต้น รวมทั้งการทำแผนเผชิญเหตุ