เจาะแผน "สมช." แก้วิกฤติพลังงาน-อาหาร 

เจาะแผน "สมช." แก้วิกฤติพลังงาน-อาหาร 

การจัดทำแผนความมั่นคงด้านพลังงานและอาหาร สมช. จะเริ่มตั้งแต่ระดับเบาไปจนถึงหนักคือ ระงับการส่งออกสินค้าบางรายการ หรือ ถ้าวิกฤติสุดๆ ก็ต้องใช้ระบบจัดสรรปันส่วน

สิ่งที่ต้องจับตา มากกว่าจะมาติติงเรื่องมอบหมายงานไม่ตรงตัวบุคคลคือ แผนเผชิญเหตุแก้วิกฤติพลังงาน-อาหาร ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว ที่ พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กำลังหารือกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง โดยจะมีความชัดเจนภายในวันที่ 1 ก.ค.นี้

ทั่วโลกกำลังประสบปัญหาราคาพลังงานและอาหารพุ่งสูง จากผลสืบเนื่องจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ปัจจัยฉุดรั้งเศรษฐกิจซบเซาต่อเนื่องหลายปี ก่อนจะถูกซ้ำเติมด้วยการเมืองระหว่างประเทศ สงครามรัสเซีย-ยูเครน  ภาวะเงินเฟ้อ ที่ไม่รู้จะจบลงเมื่อไหร่ พื้นที่อ่อนไหวในทะเลจีนใต้ก็ร้อนระอุ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยกเรื่องความมั่นคงมาเป็นตัวตั้ง เพราะมองว่าพลังงาน-อาหาร จะส่งผลกระทบในอนาคต หากไม่สามารถควบคุมราคา ลดการใช้ภายในประเทศได้ ปัญหาจะตามมาแน่นอน รายได้ประชาชนไม่เพียงพอกับความต้องการอาหารขั้นพื้นฐาน กักตุนสินค้า คนรวยมีเงินซื้อ คนจนหมดสิทธิ์ เกิดความอดยาก สุดท้ายนำไปสู่อาชญากรรมและจลาจล

สมช. จึงเป็นหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่โดยตรงในการเตรียมแผนรองรับ วางกรอบแนวทางเพื่อให้เกิดความมั่นคงในด้านพลังงานและอาหาร ร่วมกับกระทรวง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ที่จะต้องนำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรม จับต้องได้ 

อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพาณิชย์ฯ 

คำว่า แผนความมั่นคงด้านพลังงานและอาหาร สิ่งที่ สมช.จะต้องคิดและวิเคราะห์ เช่น  ใน 1 วัน คนไทย 70 ล้านคนต้องกินอะไรบ้าง ข้าว เนื้อสัตว์ ผัก  คิดเป็นจำนวนกี่เปอร์เซ็นต์ สามารถหาได้ภายในประเทศจากแหล่งใดบ้าง เช่น การเลี้ยง  การเพาะปลูก จากแหล่งน้ำธรรมชาติ และนำเข้าจากต่างประเทศคิดเป็นกี่เปอร์เซนต์

และหากเกิดกรณี ไม่สามารถนำเข้าได้ เพราะปัจจุบันมีหลายประเทศมีนโยบายจำกัด ห้ามส่งออกอาหาร เนื้อสัตว์ วัตถุดิบบางประเภท เช่น อินโดนีเซีย  ห้ามส่งออกน้ำมันปาล์ม อินเดีย ห้ามส่งออกข้าวสาลี่ มาเลเซีย ห้ามส่งออกเนื้อสัตว์ปีก

สมช.ต้องไปคิดแผนว่า สิ่งที่มีอยู่ในประเทศจะเพียงพอกับคนไทย 70 ล้านคนหรือไม่ หากไม่สามารถนำเข้าได้ เช่น หาก สมช.ประเมินว่าเนื้อสัตว์ รองรับคนไทยทั้งหมดได้เพียง 3 เดือน จะเกิดวิกฤติแน่นอน  ก็ต้องเลี้ยง หมู ไก่ ปลา เพิ่มอีกกี่ล้านตัว ก็เป็นเรื่องของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 

ส่วนราคาจะขายกิโลกรัมเท่าไหร่ ที่ไม่ทำให้ผู้ประกอบการขาดทุน ประชาชนสามารถซื้อได้ หรือต้องจำกัด 1 คนซื้อได้กี่กิโลกรัม เพื่อให้เกิดทั่วถึงก็เป็นเรื่องของกระทรวงพาณิชย์ ที่จะต้องรับไปดำเนินการ

เช่นเดียวกับเรื่องพลังงาน น้ำมัน ก๊าซ ต่างๆสามารถนำเข้ามาจากประเทศใดได้บ้าง ปัจจุบันและอนาคตยังทำได้หรือไม่ เพราะไทยเองก็ถูกการเมืองระหว่างประเทศจำกัดไม่ให้ซื้อก๊าซธรรมาชาติจากเพื่อนบ้านบางประเทศ จนต้องพุ่งเป้าไปที่มาเลเซีย

"หน่วยงานความมั่นคงติดตามสถานการณ์ในภูมิภาค โดยเฉพาะภาคทะเล ที่อาจจะมีปัญหาในอนาคตตามมาภายหลัง สิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญคือการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนผลกระทบพลังงาน และราคาสินค้า การขาดแคลนวัสดุต้นทุนในห่วงโซ่อุปทาน ที่ในทุกประเทศเจอปัญหาเดียวกัน  เรื่องพลังงานทั้งทางบกทางทะเล จะหารือประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย " พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม การจัดทำแผนความมั่นคงด้านพลังงานและอาหาร สมช.จะต้องประมวลผลสถานการณ์ระดับโลก ภูมิภาค และประเทศเพื่อนบ้าน ถึงจะกำหนดเป็นมาตรการต่างๆออกมารองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย ตั้งแต่ระดับเบาไปจนถึงหนักคือ ระงับการส่งออกสินค้าบางรายการ หรือ ถ้าวิกฤติสุดๆ ก็ต้องใช้ระบบจัดสรรปันส่วน คือ จำกัดการซื้อ 1 คนต่อปริมาณ

ทั้งหมดนี้เป็นแค่เพียงแนวทาง ในการจัดทำแผนความมั่นคงด้านพลังงานและอาหารแบบคร่าวๆเท่านั้น แต่สิ่งที่ สมช.จะดำเนินร่วมกับหน่วยงาน กระทรวงอื่นๆ จะมีรายละเอียดปลีกย่อย ขั้นตอนดำเนินการ การตั้งคณะกรรมการ หรือ การบังคับใช้กฎหมาย อีกมากมายที่จะได้เห็นความชัดเจน 1 ก.ค.นี้ ซึ่งจะเป็นสัญญาณให้คนไทยได้เตรียมพร้อมรับมือแต่เนิ่นๆ