“ปฏิวัติสยาม”สู่“รัฐประหาร”  "ครั้งที่ 14" ใครการันตีว่าไม่เกิด

“ปฏิวัติสยาม”สู่“รัฐประหาร”   "ครั้งที่ 14" ใครการันตีว่าไม่เกิด

วันนี้ครบรอบ 90 ปี วันเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณ์ญาณาสิทธิราชย์ ไปสู่ ระบอบประชาธิปไตย หลัง "คณะราษฎร" ทำการ “ปฏิวัติสยาม” ในช่วงย้ำรุ่ง 24 มิ.ย.2575 ซึ่งเปรียบเสมือนการเปิดประตู “รัฐประหาร”ของไทย

“กองทัพ” มีความชัดเจนมาโดยตลอด ในเรื่องการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ในฐานะที่เป็นองค์จอมทัพไทย จึงทำให้ช่วงหลายปีที่ผ่านมาได้มีการปรับบทบาทและหันมาใช้วิธี “ผ่อนหนัก-ผ่อนเบา” ทั้งดำเนินคดี พูดคุย ทำความเข้าใจ เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าที่จะนำไปสู่สถานการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิด

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า “เงื่อนไข” หนึ่งที่ทำให้เกิด“รัฐประหาร” คือการละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยปัจจุบันสะท้อนออกมาในรูปแบบต่างๆ ทั้งการชุมนุม ข้อเรียกร้อง การทำกิจกรรม หรือการสร้างคอนเทนท์ ในรูปแบบโฆษณาสินค้าชวนเชื่อ ก็ปรากฎออกมาให้เห็นเมื่อไม่นานมานี้

ภายใต้ความนิ่งเงียบ แต่แฝงไว้ด้วยความดุดันของ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.)ในฐานะผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจทหารมหาดเล็ก 904 (ฉก.ทม.รอ.904) ผู้กุมกำลังหลักที่ใช้ในการ “รัฐประหาร” ออกมานำร่องบอยคอตรถขนส่งสินค้าโฆษณาเจ้าปัญหา แท็กทีมโดย กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพเรือ กองทัพอากาศ

นั่นหมายความว่า หากการละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่นำมายึดโยงกับการเมือง ยังคงอยู่ฉันท์ใด กลิ่นรัฐประหารก็ยังตลบอบอวนอยู่ฉันท์นั้น ท่ามกลางสถานการณ์ที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ หากควบคุมไม่อยู่ก็รอวันปะทุไม่ต่างกับเหตุการณ์ในอดีต

โดยวันนี้ครบรอบ 90 ปี วันเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณ์ญาณาสิทธิราชย์ ไปสู่ระบอบประชาธิปไตย หลังคณะราษฎรซึ่งประกอบไปด้วย ทหารและพลเรือนได้ร่วมกันทำการ “ปฏิวัติสยาม” ในช่วงย้ำรุ่งของวันที่ 24 มิ.ย.2575 ซึ่งเปรียบเสมือนการเปิดประตู “รัฐประหาร”ของไทย

 

“กรุงเทพธุรกิจ” ไล่เรียงลำดับการเกิดรัฐประหาร 13 ครั้ง ของประเทศไทย ดังต่อไปนี้

รัฐประหารครั้งแรก 1 เมษายน 2476 หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ไม่ถึงปี นำโดย พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ซึ่งเป็นความขัดแย้งของชนชั้นนำ ระหว่างกลุ่มพลังเก่า (ขุนนาง) และกลุ่มพลังใหม่ (คณะราษฎร)

ครั้งที่ 2 รัฐประหาร 20 มิถุนายน 2476 หลังจากที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดาได้ทำการรัฐประหารโดยพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร และตั้งแต่รัฐบาลชุดใหม่ ไม่กี่วันหลังจากนั้น พล.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา ก็ได้ยึดอำนาจรัฐบาล โดยบังคับให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยให้เหตุผลว่าคณะรัฐมนตรีบริหารราชการไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ขาดความชอบธรรมทางการเมือง

ครั้งที่ 3 รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 นำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ กลุ่มนายทหารนอกประจำการ ใช้ชื่อว่า “คณะทหารของชาติ” นำกำลังทหารยึดอำนาจรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ด้วยข้ออ้างรัฐบาลไร้ความสามารถ เศรษฐกิจตกต่ำ ทอดทิ้งและไม่ให้เกียรติทหาร รวมถึงไม่สามารถชี้แจงกรณีการสวรรคตของ รัชกาลที่ 8 พร้อมสนับสนุน จอมพล ป.พิบูลสงคราม ขึ้นเป็นหัวหน้ารัฐประหาร และประกาศเลิกใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2489และร่างขึ้นมาใหม่ แต่งตั้งนายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี การรัฐประหารครั้งนี้ ทำให้คณะราษฎร อาทิ นายปรีดี พนมยงค์ จำต้องลี้ภัยทางการเมือง

ครั้งที่ 4 รัฐประหาร 6 เมษายน 2491 โดยคณะนายทหารที่ทำรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน นำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ที่เข้าเรียกร้องให้นายควง อภัยวงศ์ จ่ายเงิน 28 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายการเดินทางกลับหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งนายควงไม่ยอมจ่าย คณะรัฐประหารจึงบังคับลาออกจากตำแหน่ง และแต่งตั้งให้ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีแทน

ครั้งที่ 5 รัฐประหาร 29 พฤศจิกายน 2494 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ทำรัฐประหารรัฐบาลตัวเอง เพื่อกระชับอำนาจ โดยให้เหตุผลว่าถูกภัยคอมมิวนิสต์คุกคาม รวมถึงมีการทุจริตคอร์รัปชันมากขึ้น และรัฐบาลไม่สามารถจัดการได้ คณะรัฐประหารจึงประกาศยุบคณะรัฐมนตรี และรัฐสภา พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะบริหารประเทศขึ้นมาชั่วคราว โดย จอมพล ป.พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเอง

ครั้งที่ 6 รัฐประหาร 16 กันยายน 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อาศัยสถานการณ์การชุมนุมไฮปาร์คที่ท้องสนามหลวง ที่โจมตีรัฐบาลขณะนั้น รัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยใช้ชื่อว่า “ผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร”โดยอ้างเหตุผลว่า รัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้บริหารราชการแผ่นดินไม่เป็นที่ไว้วางใจของประชาชน และไม่สามารถรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองได้

ครั้งที่ 7 รัฐประหาร20 ตุลาคม 2501 จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ กับคณะรัฐประหารเดิมของตนเองได้เข้ายึดอำนาจรัฐบาล จอมพล ถนอม กิตติขจร  โดยใช้ชื่อว่าคณะปฏิวัติ และได้ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2475 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับ พ.ศ.2495 ยกเลิกพรรคการเมือง ยกเลิกรัฐสภา ออกกฎหมายควบคุมหนังสือพิมพ์ และประกาศห้ามชุมนุมทางการเมือง

ครั้งที่ 8 รัฐประหาร17 พฤศจิกายน 2514 จอมพลถนอม กิตติขจร ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีได้กระทำการรัฐประหารรัฐบาลของตนเอง โดยให้สาเหตุว่า รัฐบาลไม่สามารถควบคุมเสียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งได้ จึงประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2511 พร้อมจัดตั้งสภาบริหารคณะปฏิวัติ เพื่อบริหารประเทศ

ครั้งที่ 9 รัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 ภายหลังเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2514 สถานการณ์การเมืองไทยมีประชาธิปไตยมากขึ้น กลุ่มตัวแทนของผู้ที่ถูกดขี่ ออกมาเรียกร้องความยุติธรรม ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ออกนโยบายกระชับมิตรกับต่างประเทศมากขึ้น และยังให้ทหารอเมริกาย้ายฐานทัพออกจากไทยไป ทำให้ฝ่ายขวาไม่พอใจ และได้จัดตั้งกลุ่มต่อต้าน กลายเป็นแรงประทุในการเมือง

 ในวันที่ 19 กันยายน 2519 ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับที่ จอมพลถนอม กิตติขจร กลับมาจากบวชพระทำให้เกิดการชุมนุมประท้วงไล่ในหลายพื้นที่

คณะปฏิรูปการปกครองที่นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ จึงเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2517 จากนั้นคณะรัฐประหารจึงมอบอำนาจให้นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี

ครั้งที่ 10 รัฐประหาร 20 ตุลาคม 2520 คณะ รสช. ในขณะนั้นอึดอัดกับนโยบายรัฐบาลของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร จึงทำให้เกิดรัฐประหารจากคณะปฏิวัติโดย พล.ร.อ. สงัด ชลออยู่ เข้ายึดอำนาจโดยอ้างว่าการปฏิวัติว่า สถาบันพรมหากษัตริย์ตกอยู่ในภาวะที่ประชาชนส่วนใหญ่รู้สึกกังวล การบริหารราชการไม่มีความคืบหน้า ประชาชนเกิดความแตกแยกทางความคิดเห็น เสรีภาพในการมีส่วนร่วมถูกปิดกั้น ด้านเศรษฐกิจการลงทุนลดลง ค่าครองชีพสูงขึ้น การว่างงานเพิ่มขึ้น และตั้งแต่ง พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี

ครั้งที่ 11 รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 คณะ รสช. โดย พล.อ. สุนทร คงสมพงษ์ ยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ แต่งตั้งนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี จากนั้นรัฐบาลของอานันท์ ได้จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า พรรคสามัคคีธรรมชนะการเลือกตั้ง จึงเสนอให้นายณรงค์ วงศ์สุวรรณ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ว่าไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากอีกฝ่ายให้เหตุผลว่า ถูกสหรัฐฯ งดออกวีซ่าให้เข้าประเทศ เพราะสงสัยว่าพัวพันกับการค้ายา

ทำให้พรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งเสนอ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีนำไปสู่การชุมนุมคัดค้านนายกรัฐมนตรีคนนอกยาวต่อเนื่องเรียกร้องให้ พล.อ.สุจินดา ลาออกจากตำแหน่ง จนเกิดเป็นเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ”

ครั้งที่ 12 รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้ายึดอำนาจรัฐบาลรักษาการ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดยอ้างเหตุผลว่า การบริการราชการแผ่นดินทำให้เกิดความขัดแย้ง แบ่งฝักแบ่งฝ่าย แตกความสามัคคีอย่างที่ไม่เกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ไทย มีการทุจริตอย่างกว้างขวาง และหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

ครั้งที่ 13 รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจจากรัฐบาลรักษาการ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยอ้างการรักษาความสงบเรียบร้อยและป้องกันไม่ให้ประชาชน 2 ฝ่ายเผชิญหน้า นำไปสู่การสูญเสีย ต่อกรณีการผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อเนื่อง จนเป็นนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง

ทั้งหมดนี้คือเหตุการณ์สำคัญ ที่ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ไทย เมื่อมาถึงยุคนี้ แม้หลายฝ่ายจะเห็นพ้องต้องกันว่าโอกาสจะเกิด “รัฐประหาร”ครั้งที่ 14 เป็นเรื่องยาก ซับซ้อน และส่งผลกระทบสูงเมื่อเทียบกับ 2 ครั้งล่าสุด แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้