กางกฎหมาย ป.ป.ช. 3 ยุค ไขปมอายุความคดี “สุนทร” รุกป่า

กางกฎหมาย ป.ป.ช. 3 ยุค ไขปมอายุความคดี “สุนทร” รุกป่า

“สุนทร” มิได้มีแค่คดีนี้ที่ถูก ป.ป.ช. ชี้มูลผิดเท่านั้น ยังมีกรณีที่ดินที่ อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี ซึ่งเกิดเมื่อปี 25555 โดยดีเอสไอเป็นเจ้าของเรื่อง และดำเนินการส่งไปที่ อสส.แล้ว เนื่องจากพบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐและมีนายสุนทรร่วมด้วย

นับถอยหลังเหลือเวลาอีกไม่กี่ชั่วโมงที่จะหมดอายุความ

คดีกล่าวหา “สุนทร วิลาวัลย์” นักการเมืองลายครามแห่งลุ่มน้ำบางปะกง อดีต ส.ส.ปราจีนบุรี 8 สมัย ปัจจุบันเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ปราจีนบุรี กรณีร่วมกับ “กนกวรรณ วิลาวัลย์” บุตรสาว รมช.ศึกษาธิการ กับพวก สนับสนุนเจ้าหน้าที่ของรัฐออกโฉนดที่ดินบุกรุกเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.ปราจีนบุรี

คดีนี้ตามไทม์ไลน์ที่ “ประยุทธ เพชรคุณ” รองโฆษกอัยการสูงสุด (รองโฆษก อสส.) ชี้แจง ระบุว่า เหตุเกิดตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ. – 12 ก.ค. 2545 ต่อมาตำรวจดำเนินการสอบสวน ผ่านไปราว 18 ปี มีการส่งสำนวนให้แก่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อไต่สวนเมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2563 เเละมีมติชี้มูลเมื่อวันที่ 31พ.ค. 2565 หลังจากนั้นได้ส่งสำนวนมาให้สำนักงานอัยการปราบปรามคดีทุจริตฯ ภาค 2 วันที่ 2 มิ.ย.  2565 เวลา 15.12 นาที โดยวันที่ 3 -5 มิ.ย. 2565 เป็นวันหยุดราชการ

ต่อมา สำนักงานอัยการปราบปรามคดีทุจริตฯ ภาค 2 เปิดทำการวันที่ 6 มิ.ย. 2565 ได้ส่งเรื่องมาให้อัยการสูงสุด (อสส.) ในฐานะผู้มีอำนาจสั่งได้พิจารณาสั่งคดีวันที่ 7 มิ.ย. 2565 เเละได้ส่งเรื่องกลับไปยังอัยการสำนักงานปราบปรามทุจริตฯ 2 เพื่อประสานกับ ป.ป.ช. นำตัวผู้ถูกกล่าวหามาฟ้อง โดยมีการฟ้องวันเเรกไป 4 คน เเละวันต่อมา 1 คน คือนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ

ส่วนกรณีของ “สุนทร” ถูกกล่าวหาจำนวน 3 ข้อหา ได้แก่ 

  1. เป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ทำ ซื้อรักษาทรัพยากรโดยใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริตอันเป็นการเสียหายเเก่รัฐ มาตรา 151
  2. สนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตอบมาตรา 157 ประกอบ 86
  3. ข้อหาสนับสนุนเจ้าพนักงานผู้ทีหน้าที่ทำเอกสาร รับรองเอกสาร ซึ่งมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จตามมาตรา 162 ประกอบ 86

โดยข้อหาที่ 2-3 ขาดอายุความไปแล้ว เหลือแค่ข้อหา 1.กรณีถูกกล่าวหาผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ที่จะขาดอายุความในวันนี้ (13 มิ.ย. 2565) 

ตรงนี้เป็นข้อเท็จจริงที่อัยการปราบปรามทุจริตฯภาค 2 เพิ่งได้รับสำนวนมาวันที่ 2 มิ.ย. 2565 ก็ดำเนินการในเวลาราชการใช้เวลาเพียง 3-4 วัน” ประยุทธ เพชรคุณ ระบุ

ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 กำหนดอายุความว่า 

  • (1) ยี่สิบปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกยี่สิบปี
  • (2) สิบห้าปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าเจ็ดปีแต่ยังไม่ถึงยี่สิบปี
  • (3) สิบปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งปีถึงเจ็ดปี
  • (4) ห้าปี สำหรับความผิดต้องระวางโทษจำคุกกว่าหนึ่งเดือนถึงหนึ่งปี

สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาลหรือเจ้าของทรัพย์นั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต

นั่นหมายความว่า “อายุความ” คดีรุกป่าของ “โกทร” นับจากโทษสูงสุดคือ มีอายุความ 20 ปี

ถัดมา หลายคนคงเคยได้ยินมาว่าตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ร่ำลือกันว่าเป็น “ฉบับปราบโกง” ประกอบกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.ป.ป.ช.) ปี 2651 หรือ “ฉบับใหม่” มิให้นับอายุความคดีเกี่ยวกับการทุจริตแล้ว ทำไมกรณีของ “สุนทร” จึงยังมีอายุความอยู่

คำตอบคือ การกระทำผิดของ “สุนทร” เกิดขึ้นเมื่อปี 2545 ซึ่งกฎหมายที่บังคับใช้ขณะนั้นคือรัฐธรรมนูญปี 2540 ประกอบ พ.ร.ป.ป.ป.ช. ปี 2542 ซึ่งไม่มีการระบุให้หยุดการนับอายุความของคดีไว้ก่อน

โดย พ.ร.ป.ป.ป.ช. ปี 2542 มาตรา 74 ระบุว่า เมื่อจะมีการฟ้องคดีอาญา ตามมาตรา 70 ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. แจ้งผู้ถูกกล่าวหาไปรายงานตัวต่อบุคคลที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มอบหมายตามวันเวลาที่กำหนด

หากผู้ถูกกล่าวหาไม่ไปรายงานตัวตามกำหนด ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. แจ้งพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจัดการให้ได้ตัวผู้ถูกกล่าวหา เพื่อส่งอัยการสูงสุด (อสส.) หรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้วแต่กรณีดำเนินคดีต่อไป

ส่วนมาตรา 70 กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าข้อกล่าวหามีมูลความผิดตามมาตรา 66 (ผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือข้าราชการการเมือง กระทำผิดฐานรวยผิดปกติ หรือผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น) ให้ส่งสำนวนไปยังอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อดำเนินการฟ้องคดี

ขณะที่การหยุดอายุความไว้เกิดขึ้นใน พ.ร.ป.ป.ป.ช. ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมปี 2554 ที่เพิ่มเติม มาตรา 74/1 ระบุว่า ในการดำเนินคดีอาญาตามหมวดนี้ ถ้าผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีไประหว่างถูกดำเนินคดี มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ

ส่วน พ.ร.ป.ป.ป.ช. ฉบับใหม่ปี 2561 ระบุในมาตรา 7 ว่า ในการดำเนินคดีอาญาตาม พ.ร.ป.ป.ป.ช.ฉบับนี้ ถ้าผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีไประหว่างถูกดำเนินคดีหรือระหว่างการพิจารณาของศาล มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ และเมื่อได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำเลย ถ้าจำเลยหลบหนีไปในระหว่างต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ มิให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 98 (เรื่องอายุความ) มาใช้บังคับ

อธิบายให้ง่ายคือ

  • พ.ร.ป.ป.ป.ช. ปี 2542 ไม่มีการหยุดอายุความไว้ หากผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดแล้วหลบหนีไป อายุความยังเดินเหมือนเดิม เช่น คดีที่ดินรัชดาภิเษก ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุกนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี 2 ปี เมื่อปี 2551 คดีมีอายุความ 10 ปี และคดีดังกล่าวหมดอายุความไปแล้วเมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา
  • พ.ร.ป.ป.ป.ช. แก้ไขเพิ่มเติมปี 2554 ยังคงมีการนับอายุความการกระทำผิดอยู่ เว้นแต่ผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีไประหว่างดำเนินคดี มิให้นับอายุความ
  • พ.ร.ป.ป.ป.ช. ปี 2561 คล้ายคลึงกับ พ.ร.ป.ป.ป.ช. แก้ไขเพิ่มเติมปี 2554 คือ มิให้มีการนับอายุความหากผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีไประหว่างดำเนินคดี รวมถึงระหว่างการไต่สวนในชั้น ป.ป.ช. ด้วย

อย่างไรก็ดีกรณีของ “สุนทร” มิได้มีแค่คดีนี้ที่ถูก ป.ป.ช. ชี้มูลผิดเท่านั้น ยังมีกรณีที่ดินที่ อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี ซึ่งเกิดเมื่อปี 25555 โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นเจ้าของเรื่อง และดำเนินการส่งไปที่อัยการสูงสุด (อสส.) แล้ว เนื่องจากพบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐและมีนายสุนทรร่วมด้วย

ดังนั้น แม้คดีรุกป่าเขาใหญ่สำนวนของ ป.ป.ช.จะหมดอายุความลงตาม พ.ร.ป.ป.ป.ช.ปี 2542 แต่คดีรุกป่าสำนวนของดีเอสไอ อายุความยังคงมีอยู่

นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ดินของนายสุนทรไม่ได้มีเพียงแค่โฉนดเดียว เจ้าหน้าที่กำลังพยายามตรวจสอบอยู่ว่าทั้งหมดมีอยู่เท่าไหร่ เพราะเขามีอยู่หลายแปลง รู้สึกว่าจะมี 10 กว่าโฉนด ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่สำนักตรวจสอบทรัพย์สินของ ป.ป.ช.เองกำลังตรวจสอบรายละเอียดเรื่องการครอบครองที่ดินของนายสุนทร โดยเฉพาะการถือโฉนดในบริเวณ อ.เนินหอม อ.ประจันตคาม ที่เป็นเขตที่ติดอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เจ้าหน้าที่กำลังดูอยู่

ทั้งหมดคือเงื่อนปมข้อกฎหมาย ไขคำตอบว่าไฉนคดีของ “สุนทร” จึงมีการนับอายุความในตอนนี้ ท้ายที่สุดตำรวจจะไล่ล่าจับกุม “โกทร” มาส่งฟ้องได้หรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป