“พิธา” เคลียร์ 3 ปม ยัน “ไม่ตัด-ไม่ลด” บำนาญ ขรก. ชี้ถ้าไม่พูดจะสายเกินการณ์

“พิธา” เคลียร์ 3 ปม ยัน “ไม่ตัด-ไม่ลด” บำนาญ ขรก. ชี้ถ้าไม่พูดจะสายเกินการณ์

“พิธา” เคลียร์ 3 ประเด็น ตอบจดหมายตัวแทนข้าราชการ ยัน “ไม่ตัด-ไม่ลด” บำนาญ ขรก. ย้ำ “งบช้างป่วย” คือวิธีจัดการบริหารงบของ “บิ๊กตู่” หารายได้ไม่สอดคล้องรายจ่าย ปัญหาจะย้อนกลับ กระทบสวัสดิการในอนาคต ลั่นรู้ว่าเสี่ยง แต่ถ้าไม่พูดอาจสายเกินการณ์

เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2565 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ตอบจดหมายนายศรศักดิ์ อ้วนล้วน ประธานศูนย์พิทักษ์สิทธิและสวัสดิการข้าราชการบำนาญแห่งประเทศไทย ที่มีคำถามต่อกรณีการอภิปรายงบประมาณปี 2566 เกี่ยวกับผลกระทบต่อข้าราชการบำนาญ ว่า เป็นการตอบจดหมายตามสัญญาเพื่อตอบข้อสงสัยที่มีต่อการอภิปรายงบประมาณของตนในสภา 3 ประเด็น

  • ประเด็นที่ 1 มีอคติกับข้าราชการบำนาญหรือไม่ ? อะไรคือความหมายของ “งบช้างป่วย” 

นายพิธา ระบุว่า “งบช้างป่วย” ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึง “ข้าราชการบำนาญ” แต่หมายถึง “วิธีในการจัดงบประมาณประเทศของรัฐบาล” ที่รวมถึง รายได้ รายจ่าย การกู้ชดเชยขาดดุล ซึ่งจะไม่สามารถทำให้ประเทศเดินหน้าไปได้อย่างยั่งยืน

“ผมต้องเรียนท่านว่าผมมีคนในครอบครัวเป็นข้าราชการบำนาญ ตัวผมเองก็เคยทำงานที่กระทรวงพาณิชย์มาก่อน เข้าใจหัวอกข้าราชการเรื่องค่าตอบแทนที่น้อยกว่าเอกชนและปัญหาของข้าราชการไทยในการดูแลประชาชนไม่มากก็น้อย จึงเป็นไปไม่ได้ที่ผมจะมีอคติต่อข้าราชการครับ”

  • ประเด็นที่ 2 มีนโยบายในการตัดงบประมาณเงินเดือนหรือบำนาญหรือไม่ 

นายพิธา ระบุว่า ไม่ตัด ไม่ลด เงินบำนาญท่านจะไม่ถูกกระทบ

“ผมไม่เคยพูดว่าบำนาญ เป็นปัญหาหรือภาระ แต่พูดว่า หากหารายได้ เก็บรายได้ไม่ได้สอดคล้องรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ   จะ มีปัญหา รวมถึงสวัสดิการประชาชนหรือแม้แต่สวัสดิการข้าราชการเองในอนาคต ในทางกลับกัน ถ้าไม่พูดถึงตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อช่วยกันแก้ไข เกรงว่าสถานการณ์อาจสายเกินแก้ และอาจกลายเป็นปัญหาขึ้นมาจริงๆ เมื่อรัฐบาลหารายได้ให้สอดคล้องกับรายจ่ายในอนาคตไม่ได้ จึงอยากกันไว้ดีกว่าแก้”

“พิธา” เคลียร์ 3 ปม ยัน “ไม่ตัด-ไม่ลด” บำนาญ ขรก. ชี้ถ้าไม่พูดจะสายเกินการณ์

  • ประเด็นที่ 3 ที่ท่านรู้สึกว่าการอภิปรายทำลายความรู้สึกของผู้อาวุโส พาดพิงให้เกิดความเสียหาย

นายพิธา ระบุว่า ขอยืนยันในเจตนาและความบริสุทธิ์ใจว่า ไม่มีเจตนาในการทำหน้าที่ผู้แทนราษฎร เพื่อทำลายความรู้สึก ยืนยันว่าเคารพประชาชนทุกคนเท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการหรือประชาชน โดยเฉพาะผู้อาวุโสในช่วงวิกฤติสังคมสูงวัยที่ตนต้องการที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนทุกคนดีขึ้น

“สุดท้ายนี้ ขอขอบคุณทุกข้อท้วงติง คำแนะนำ และต้องขออภัยหากการทำหน้าที่ผู้แทนฯ ของผมทำให้ท่านกังวลใจ เสียใจ หรือเสียความรู้สึก ก่อนอภิปรายนั้นผมพอทราบว่ามีความเสี่ยงในการพูดเรื่องนี้ แต่ผมคิดว่าควรพูดตั้งแต่ตอนนี้ แทนที่จะไปพูดในอนาคต เพราะความเป็นห่วงสถานการณ์งบประมาณ โดยเฉพาะรายได้ของเราในอนาคตที่อาจจะกระทบกับพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคนไม่ว่าจะอายุหรือสาขาอาชีพอะไร ตอนนี้เรายังมีเวลาสามารถมาระดมสมองช่วยกันก่อนจะสายเกินแก้ ขับเคลื่อนประเทศไทยของพวกเราทุกคนไปด้วยกันครับ”