“วิโรจน์” ถาม กกต.ไฉนยื้อรับรอง “ชัชชาติ” รอการกดปุ่มจากใครหรือไม่

“วิโรจน์” ถาม กกต.ไฉนยื้อรับรอง “ชัชชาติ” รอการกดปุ่มจากใครหรือไม่

“วิโรจน์” ตั้งคำถามไฉน กกต.ยื้อประกาศรับรอง “ชัชชาติ” เป็น “ผู้ว่าฯ กทม.” ถามรอการกดปุ่มจากใครหรือไม่ ชวนประชาชนจับตาร่วมตรวจสอบ เฝ้าระวังปกป้องผลการเลือกตั้ง ระวังอำนาจนอกระบบแทรกแซง

เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2565 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร อดีตผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ ตั้งคำถามถึงกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เลื่อนการพิจารณาประกาศรับรองนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นผู้ชนะการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เนื่องจากอยู่ระหว่างตรวจสอบเรื่องร้องเรียนป้ายหาเสียงนำไปทำกระเป๋ารีไซเคิล และปราศรัยลักษณะดูถูกระบบราชการ

นายวิโรจน์ ระบุว่า ตกลง กกต. มีหน้าที่สนับสนุนการเลือกตั้งให้เป็นธรรมตามเจตจำนงของประชาชน หรือถูกมอบหมายจากเผด็จการ ให้มาสร้างอุปสรรคขัดขวางเลือกตั้งกันแน่ จากกรณีที่ กกต. ยังไม่ยอมรับรองนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. จริง ๆ ถ้าย้อนหลังออกไปอีกสักหน่อยกับกรณีการรับรองนายสุรชาติ เทียนทอง ที่เขตหลักสี่ กกต. ก็ใช้เวลาถึง 59 วัน กว่าจะรับรองให้นายสุรชาติ เทียนทอง ได้เป็น ส.ส.

นายวิโรจน์ ระบุอีกว่า ทำให้เราต้องตั้งคำถามถึงที่มาของ กกต. ชุดนี้ ว่ามีที่มาจากอะไร เพราะถ้าที่มา จะทำให้สังคมสามารถตั้งข้อสันนิษฐานถึงการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต. ได้น่าสนใจมากขึ้น

1. กกต. ชุดนี้เกิดขึ้นจาก รธน. 2560 ที่ให้อำนาจ กกต. ล้นฟ้า กลไกในการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจของ กกต. โดยอำนาจตุลาการ ยังคงขาดความชัดเจน

2. สนช. ที่แต่งตั้งโดย คสช. เป็นคนเลือก กกต. ชุดนี้ ถ้าไล่ลำดับกัน ก็พอจะตั้งข้อสังเกตได้ว่า กกต. ชุดนี้ มีที่มาจากระบบ คสช.

3. สนช. สภาแต่งตั้ง ใช้เวลาสรรหา กกต. กว่า 3 ครั้ง และพิจารณา “ลับ” ทุกครั้ง ขาดความโปร่งใสอย่างที่ควรจะเป็น ทั้ง ๆ ที่ กกต. เป็นองค์กรที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากประชาชน

4. กกต. ทั้ง 7 คนมาใหม่ ขณะที่ได้รับการแต่งตั้ง ไม่มีแม้แต่คนเดียว ที่มีประสบการณ์ในการจัดเลือกตั้ง

“วิโรจน์” ถาม กกต.ไฉนยื้อรับรอง “ชัชชาติ” รอการกดปุ่มจากใครหรือไม่

นายวิโรจน์ ระบุด้วยว่า สำหรับการทำหน้าที่ของ กกต. ในการรับรองผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในครั้งนี้ เข้าใจดีว่า กกต. ก็มีหน้าที่ และขั้นตอนในการตรวจสอบต่าง ๆ แต่ กกต. ต้องอย่าลืมว่าทุก ๆ กระบวนการที่ กกต. ทำ ทุก ๆ ความล่าช้าที่เกิดขึ้น กกต. แม้เป็นองค์กรอิสระ แต่อิสระที่ว่า นั้นไม่ใช่อิสระจากประชาชน กกต. จึงมีความจำเป็นที่จะต้องชี้แจงให้กับประชาชนทราบอย่างสิ้นข้อสงสัยด้วย พร้อมกับแจ้งกำหนดการในการดำเนินการให้มีความชัดเจน อย่าให้ประชาชนรู้สึกว่า กกต. ทำตามอำเภอใจของตน หรือรอการกดปุ่มจากใคร

“สุดท้าย ผมคิดนี่คือเวลาที่เหมาะสมที่สุด ที่นับจากนี้ ประชาชนทุกคนจะร่วมกันตรวจสอบการทำงานของ กกต. ชุดนี้ และหากพบหลักฐานที่เชื่อได้ว่า มีการใช้ช่องว่างทางกฎหมายหยุมหยิม ในการดำเนินการใดๆ ที่ไม่เป็นธรรม หรือขัดต่อเจตจำนงที่มาจากประชาชน ก็จำเป็นต้องใช้กระบวนการยุติธรรม ทั้งทางแพ่ง และทางอาญา เพื่อดำเนินการกับ กกต. ชุดนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดในตอนนี้ คือ การเฝ้าระวังปกป้องผลการเลือกตั้ง ที่เป็นเจตจำนงของประชาชน เพื่อให้มั่นใจว่า จะไม่มีอำนาจบาตรใหญ่นอกระบบ หรืออำนาจที่มาจากผู้มีอำนาจกลุ่มใด เข้ามาแทรกแซง บิดเบือนมติจากประชาชน” นายวิโรจน์ ระบุ