“เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.-ส.ก.” โค้งสุดท้าย เช็กสิทธิอย่างไร มีอะไรต้องรู้

“เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.-ส.ก.” โค้งสุดท้าย เช็กสิทธิอย่างไร มีอะไรต้องรู้

ชวนชาวกรุงเตรียมความพร้อมก่อนการ “เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.-ส.ก.” โค้งสุดท้าย เช็กข้อปฏิบัติและข้อห้ามเพื่อป้องกันความผิดพลาด

เรียกได้ว่าสิ้นสุดการรอคอยแล้วสำหรับชาวกรุงเทพมหานครที่จะได้มีโอกาสเลือกตั้ง “ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร” และ “สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร” (ส.ก.) ในรอบ 9 ปี ในวันที่ 22 พ.ค. นี้

ซึ่งอาจจะเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกของใครหลายคน และอีกหลายคนอาจจะยังมีความสับสนในเรื่องการลงคะแนนเนื่องจากมีบัตรสองใบสำหรับเลือก ผู้ว่าฯกทม. และ ส.ก.

วันนี้กรุงเทพธุรกิจออนไลน์จะสรุป ข้อปฏิบัติและข้อห้ามในการเลือกตั้ง ของชาวกรุงในครั้งนี้ว่าต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง

ก่อนอื่นจะต้องทำความเข้าใจในเรื่องของ บทบาทและอำนาจหน้าที่ ของผู้ว่าฯกทม. ก่อนว่าขอบเขตการทำงานของผู้ว่าฯกทม. มีอำนาจหน้าที่อะไรบ้าง

รวมถึงบทบาทหน้าที่ของ ส.ก. ว่ามีบทบาทหน้าที่และมีความเกี่ยวข้องกับ "ผู้ว่าฯกทม." และประชาชนอย่างไร

โดยผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในครั้งนี้มีทั้งหมด  31 คน แบ่งเป็น ผู้สมัครชาย 25 คน ผู้สมัครหญิง 6 คน ดังนี้

“เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.-ส.ก.” โค้งสุดท้าย เช็กสิทธิอย่างไร มีอะไรต้องรู้

อำนาจหน้าที่ของผู้ว่าฯกทม.

กรุงเทพมหานครจัดรูปแบบการปกครองตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบบริหารราชการกรุงเทพฯ พ.ศ.2528 ซึ่งมีอำนาจและหน้าที่ตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528  มาตรา 89 ดังนี้

1. การรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน

2. การทะเบียนตามที่กฎหมายกำหนด

3. ป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย

4. การรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง

5. การผังเมือง

6. การจัดให้มีและบำรุงรักษาทางบกหรือทางน้ำ และทางระบายน้ำ

7. การจัดการจราจรและการวิศวกรรมจราจร

8. การส่งเสริมและสนับสนุนสถานีตำรวจ และหน่วยงานอื่นในการปฏิบัติหน้าที่ตามข้อ 1 - 7

9. การขนส่ง

10. การจัดให้มีและควบคุมตลาด ท่าเทียบเรือ ท่าข้าม และที่จอดรถ

11. การดูแลรักษาที่สาธารณะ

12. การควบคุมอาคาร

13. การปรับปรุงแหล่งชุมชนแออัดและการจัดการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย

14. การจัดให้มีและบำรุงรักษาสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ

15. การพัฒนาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

16. บำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น

17. การสาธารณูปโภค

18. การสาธารณะสุข การอนามัยครอบครัว และการรักษาพยาบาล

19. การจัดให้มีและควบคุมสุสานและฌาปนสถาน

20. การควบคุมสัตว์เลี้ยง

21. การจัดให้มีและควบคุมการฆ่าสัตว์

22. การควบคุมความปลอดภัยความเป็นระเบียบเรียบร้อยการอนามัยในโรงมหรสพและสาธารณะสถานอื่น ๆ

23. การจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับแผนการศึกษาของชาติ รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษา

24. การสาธารณูปการ

25. การสังคมสังเคราะห์

26. การส่งเสริมการกีฬา

27. การส่งเสริมการประกอบอาชีพ

28. การพานิชย์ของกรุงเทพมหานคร

29. หน้าที่อื่น ๆ ตามที่กฎหมายระบุให้เป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด อำเภอ เทศบาลนคร หรือตามที่คณะรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมอบหมายหรือกฎหมายระบุให้เป็นหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร

 

อำนาจหน้าที่ของ ส.ก.

แบ่งเป็น 4 หน้าที่หลัก ประกอบด้วย 

1. พิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี อาทิ การพิจารณางบประมาณประจำปี ของ กทม.ในแต่ละปี ซึ่งเปรียบเหมือนบทบาทของ ส.ส.ในรัฐสภาที่พิจารณาตราพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 

2. เสนอญัตติ ตรวจสอบและติดตามการบริหารราชการ กทม. เพื่อให้ หน่วยกทม.ดำเนินการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขในด้านต่างๆ เปรียบเสมือนการทำหน้าที่ถ่วงดุลฝ่ายบริหาร ครม. แต่ใน กทม.จะมีโครงสร้างตั้งแต่ สำนักปลัด กทม. สำนักบริหาร 18 สำนัก อาทิ สำนักการแพทย์ สำนักเทศกิจ สำนักสิ่งแวดล้อม 

3. ร่วมเป็นกรรมการในคณะกรรมการวิสามัญของสภา กทม.เพื่อควบคุมและติดตามผลการบริหารงานหรือพิจารณาสอบสวนเรื่องใดๆ อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ กทม. จำนวน 11 คณะ ประกอบด้วย

1) คณะกรรมการตรวจรายงานการประชุมและพิจารณาเปิดเผยรายงานการประชุมลับ

2) คณะกรรมการการศึกษาและวัฒนธรรม

3) คณะกรรมการการโยธาและผังเมือง

4) คณะกรรมการการสาธารณสุข

5) คณะกรรมการการรักษาความสะอาดและสิ่งแวดล้อม

6) คณะกรรมการการเศรษฐกิจ การเงิน การคลังและติดตามงบประมาณ

7) คณะกรรมการการปกครองและรักษาความสงบเรียบร้อย

8) คณะกรรมการการพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม

9) คณะกรรมการกิจการสภากรุงเทพมหานคร

10) คณะกรรมการการจราจร ขนส่ง และการระบายน้ำ

11) คณะกรรมการการท่องเที่ยวและการกีฬา

4.ในฐานะผู้แทนประชาชนที่ผ่านการเลือกตั้งระดับเขต ยังมีหน้าที่ประสาน ช่วยเหลือ แก้ไขความเดือนร้อนให้ประชาชนในพื้นที่ 

 

สิทธิการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. และ ส.ก.

ผู้มีสิทธิ เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. จะต้องมีชื่ออยู่ในเขตเลือกตั้ง (กรุงเทพมหานคร) มาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปี นับถึงวันเลือกตั้ง หากมีการย้ายทะเบียนบ้านจากเขตหนึ่งไปยังอีกเขตหนึ่ง รวมกันแล้วมีระยะเวลาติดต่อกันครบ 1 ปี นับถึงวันเลือกตั้ง สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้ที่เขตตามที่มีรายชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านนั้น

การเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.)  ถือเขตปกครองเป็นเขตเลือกตั้ง มีเขตเลือกตั้งทั้งหมด 50 เขต ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเขตเลือกตั้ง ครบ 1 ปี

หากมีการย้ายทะเบียนบ้านจากเขตหนึ่ง ไปอยู่อีกเขตหนึ่งไม่ถึง 1 ปี จะไม่มีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง สมาชิกสภากรุงเทพมหานครที่เขตใหม่ และจะต้องทำการขอเพิ่มชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ส.ก. ที่เขตใหม่ และจะต้องทำการขอเพิ่มชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ส.ก. ณ หน่วยเลือกตั้งตามทะเบียนบ้านเดิม

โดยสามารถตรวจสอบสิทธิได้ที่ (คลิก) 

 

หากไม่ประสงค์จะไปใช้สิทธิสามารถแจ้งได้ดังนี้

ต้องแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งก่อน หรือ หลังวันเลือกตั้งภายใน 7 วัน คือ 

1. ก่อนวันเลือกตั้งระหว่างวันที่ 15-21 พ.ค.2565

2. หลังวันเลือกตั้งระหว่างวันที่ 23-29 พ.ค.2565

โดยขอรับแบบ ส.ถ./ผ.ถ. 31 หรือทำหนังสือชี้แจงเหตุที่ทำให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ได้ ระบุเลขประจำตัวประชาชนและที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน ยื่นต่อนายทะเบียนท้องถิ่นเขตด้วยตนเอง หรือมอบหมายผู้อื่น หรือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน หรือแจ้งทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านเว็บไซต์ หรือ ect.go.th หรือแอปฯ Smart Vote

บัตรเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. และ ส.ก.

สำหรับ สีบัตรเลือกตั้ง จะมีด้วยกันทั้งหมด 2 สี ดังนี้

  1. บัตรเลือกตั้ง “สีน้ำตาล” จะเป็นบัตรที่ใช้ลงคะแนนเสียง “ผู้ว่าฯ กทม.” มีขนาด A4
  2. บัตรเลือกตั้ง “สีชมพู” จะเป็นบัตรที่ใช้ลงคะแนนเสียง “ส.ก.”  มีขนาด A5
  3. หากต้องการเลือกผู้สมัครท่านใด ให้ทำเครื่องหมายกากบาท (x) ในช่องที่ประสงค์จะเลือก
  4. หากว่าผู้มีสิทธิไม่ต้องการลงคะแนนเสียงให้ใครเลย ให้ทำเครื่องหมายกากบาท (x) ในช่องไม่ประสงค์เลือกผู้สมัครใด (ซึ่งจะอยู่ที่มุมด้านขวาล่างของบัตรใบนั้นๆ)
  5. ทั้งนี้ลักษณะ "บัตรดี" จะเป็นบัตรที่ทำเครื่องหมายในลักษณะกากบาท (x) เท่านั้น หากเป็นเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์อื่น จะถือว่าเป็นบัตรเสีย
  6. เมื่อใช้สิทธิเสร็จแล้ว ให้นำบัตรเลือกตั้งมาหย่อนลงที่หีบด้วยตนเอง และต้องหย่อนลงหีบให้ถูกประเภทด้วย

“เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.-ส.ก.” โค้งสุดท้าย เช็กสิทธิอย่างไร มีอะไรต้องรู้ ภาพจากเว็บไซต์ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง

ข้อห้ามในการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.

1. ผู้ใดซึ่งรู้อยู่แล้วว่าตนเป็นผู้ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ห้ามไปลงคะแนนเสียง หรือพยายามลงคะแนนเสียง ณ หน่วยเลือกตั้ง

2. ห้ามจงใจทำให้บัตรเลือกตั้งของตนเองชำรุด เสียหาย ทำให้เป็นบัตรเสีย หรือพยายามทำให้บัตรเสียเป็นบัตรที่ใช้ได้

3. ห้ามผู้ที่ไม่ได้มีสัญชาติไทย เข้ามามีส่วนช่วยเหลือในการเลือกตั้ง

4. ห้ามจัดหรือเล่นการพนันที่มีเดิมพันเกี่ยวกับผลของการเลือกตั้ง

5. ห้ามหาเสียงเลือกตั้งด้วยวิธีใดก็ตาม แม้จะเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัคร นับตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันก่อนวันเลือกตั้งหนึ่งวัน จนสิ้นสุดวันเลือกตั้ง

6. ห้ามใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ใดถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งเพื่อให้เห็นเครื่องหมายลงคะแนนในคูหาเลือกตั้ง

7. ห้ามขาย จำหน่าย แจกจ่าย หรือจัดเลี้ยงสุราทุกชนิดในเขตเลือกตั้งในระหว่างเวลา 18.00 น. ระหว่างก่อนวันเลือกตั้งหนึ่งวันจนถึงเวลา 18.00 น. ของวันเลือกตั้ง

8. ห้ามเรียก รับ หรือยอมรับเงิน ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เพื่อลงคะแนนเลือกหรือไม่เลือกผู้สมัครใด หรืองดเว้นไม่ลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครใด

9. ห้ามทำการอันเป็นเท็จเพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจผิดว่าผู้สมัครผู้ใดกระทำการฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเลือกตั้ง หรือเพื่อแกล้งให้ผู้สมัครผู้ใดถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง หรือสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง

10. ห้ามจงใจทำเครื่องหมายอื่น หรือเขียนข้อความใดไว้ที่บัตรเลือกตั้งนอกจากเครื่องหมายที่ลงคะแนนเสียง

11. ห้ามนำบัตรเลือกตั้งออกไปจากหน่วยเลือกตั้ง เว้นแต่เป็นการกระทำตามหน้าที่และอำนาจ

สำหรับคูหาทั้งหมดใน 50 เขต จะเปิดให้ประชาชนเข้าไปลงคะแนนได้ในวันอาทิตย์ที่ 22 พ.ค. ตั้งแต่เวลา 08.00 - 17.00 น.

ส่วนในวันนี้ (21 พ.ค.) จะมีการงดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดตั้งแต่เวลา 18.00 น. จนถึง 00.00 น. ของวันที่ 22 พ.ค.

และสำหรับผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. และ ส.ก. สามารถหาเสียงได้ไม่เกิน 18.00 น. ของวันที่ 21 พ.ค.

อ้างอิงข้อมูล :

เว็บไซต์กรุงเทพมหานคร , สำนักประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร