"กมธ.กม.ลูก" ยืนหลักการ2ร่างพ.ร.ป.ที่ปรับปรุง-พร้อมแนบ3ข้อสังเกตให้ กกต.

"กมธ.กม.ลูก" ยืนหลักการ2ร่างพ.ร.ป.ที่ปรับปรุง-พร้อมแนบ3ข้อสังเกตให้ กกต.

"นิกร" เผย กมธ.กม.ลูก ยืนเนื้อหาตามที่ปรับปรุง แต่ให้สิทธิ สมาชิกรัฐสภา สงวนความเห็นทุกประเด็น พร้อมมี 3ข้อสังเกตให้ "กกต." ปฏิบัติ ทั้ง จัดมหรสพ-ทำบัตรเลือกตั้ง-กำหนดสัดส่วน ชาย-หญิง สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ

         นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่…) พ.ศ… รัฐสภา ให้สัมภาษณ์ถึงผลการพิจารณาซึ่งกมธ. ได้เชิญ​สมาชิกรัฐสภาทั้ง 16 คนชี้แจงคำแปรญัตติที่เสนอ ว่า ได้พิจารณาแล้วเสร็จ โดยกมธ. ยืนยันตามเนื้อหาที่ได้พิจารณาแก้ไขในร่างพ.ร.ป.ทั้ง2 ฉบับ ส่วนคำแปรญัตติที่สมาชิกเสนอนั้น กมธ. ให้สงวนคำแปรญัตติเพื่อไปอภิปรายต่อที่ประชุมรัฐสภา เบื้องต้นมีรายละเอียดที่สำคัญ อาทิ คำแปรญัตติของนายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว.  ที่เสนอให้บุคคลที่พ้นตำแหน่ง ส.ว. สามารถเป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้ หรือ กรณีที่ให้การหาเสียงเลือกตั้งสามารถจัดมหรสพได้

 

         “ประเด็นการจัดมหรสพนั้น เบื้องต้นกมธ. เห็นด้วย เพราะมองว่าเป็นแนวทางการสร้างการประชาสัมพันธ์ที่ดีและทำให้ประชาชนสนใจการเลือกตั้ง  ทั้งนี้กมธ.มีข้อสังเกตแนบท้ายด้วยว่า ให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้ดำเนินการ และกมธ.มองว่ากรณีที่บางพรรคไม่ส่งผู้สมัครส.ส.เขต แต่ส่งผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ อาจไม่มีช่องทางสื่อสารนโยบาย ดังนั้นกรณีการจัดเวทีดังกล่าวจะสามารถมีเวทีสื่อสารนโยบาย” นายนิกร กล่าว

         นายนิกร กล่าวด้วยว่านอกจากนั้นยังมีคำแปรญัตติของนายมณเฑียร บุญตัน ส.ว. ที่เสนอให้การจัดผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อให้คำนึงถึงผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส แต่กมธ.เห็นว่าหากบัญญัติไว้จะปฏิบัติยาก และกรณีที่ไม่บัญญัติไว้พรรคการเมืองต้องดำเนินการจัดสรรให้บุคคล เช่น ชนเผ่า เพื่อดึงคะแนนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในกลุ่มนั้นๆ   ส่วนประเด็นสำคัญคือ การเสนอคำแปรญัตติเกี่ยวกับสูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อที่มีส.ส.ก้าวไกล และส.ส.พรรคเล็ก เสนอ กมธ.ยืนยันตามเนื้อหาของร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ที่กมธ.มีมติ 32 ต่อ 11 เสียงไปก่อนหน้านั้น

 

         "นอกจากนั้นยังมีคำแปรญัตติของนายรังสิมันต์ โรมส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. จำนวน 51 มาตรา และร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองกว่า 44 มาตรา ที่กมธ.ให้สิทธิสงวนความเห็นไปอภิปรายต่อที่ประชุมรัฐสภา เบื้องต้นเหตุผลที่กมธ.ไม่รับพิจารณาเพราะมองว่าบางประเด็นเกินกว่าหลักการของร่างกฎหมาย" นายนิกร กล่าว

         นายนิกร กล่าวด้วยว่าในการประชุมกมธ. วันที่ 19 พฤษภาคม กมธ.จะพิจารณาตรวจถ้อยคำ และพิจารณาข้อสังเกต ในร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง  มี 2 ประเด็น ได้แก่

         1.ในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ควรกำหนดอัตรส่วนขั้นต่ำ ของผู้สมัคร ซึ่งเป็นชายและ หญิง เพื่อเป็นมาตรการบังคับให้พรรคสรรหาผู้สมัครตามอัตราส่วนดังกล่าว รวมถึงการคำนึงถึงผู้สมัครจากภูมิภาคต่างๆ และความเท่าเทียมระหว่างชายและหญิง

        2.กรณีของการทำไพรมารี่ผู้สมัครส.ส.ของพรรคการเมือง ที่เนื้อหากำหนดให้ กกต.กำหนดวิธีการและหลักการ กมธ.มีข้อสังเกตให้กมธ. ประชุมพรรคการเมืองเพื่อรับฟังข้อเสนอและความเห็นก่อนที่จะกำหนดวิธีการและหลักการ  

 

         ส่วน ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มี 1 ประเด็น คือ 1.การกำหนดบัตรเลือกตั้ง กกต.ต้องกำหนดช่องทำเครื่องหมายให้ชัดเจน โดยเรียงลำดับหมายเลขผู้สมัครหรือหมายเลขพรรคการเมือง เพียงหมายเลขเดียวเรียงลำดับไปถึงหมายเลขสุดท้าย เพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถออกเสียงได้ตรงกับผู้สมัครที่ประสงค์จะลงคะแนน.