ร้อง กกต.สอบ “ชัชชาติ” ปมป้ายหาเสียง ส่อจูงใจคนเลือก “ผู้ว่าฯ กทม.” หรือไม่

ร้อง กกต.สอบ “ชัชชาติ” ปมป้ายหาเสียง ส่อจูงใจคนเลือก “ผู้ว่าฯ กทม.” หรือไม่

“ศรีสุวรรณ” ลุยร้อง กกต.ต่อเนื่อง คราวนี้ถึงคิว “ชัชชาติ” ปมป้ายหาเสียงรีไซเคิล ทำกระเป๋าได้ อาจเข้าข่ายสัญญาจะให้ จูงใจคนเลือกเป็น “ผู้ว่าฯ กทม.” หรือไม่

เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2565 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ไต่สวนกรณีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) หมายเลข 8 ในนามอิสระ ทำป้ายหาเสียงเป็นผ้าไวนิลว่า มีเจตนาแฝงเพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถนำไปรีไซเคิลทำกระเป๋า-ผ้ากันเปื้อน เข้าข่ายกระทำการเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ลงคะแนนให้แก่ตนเองด้วยวิธีการ จัดทำให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้หรือไม่

ร้อง กกต.สอบ “ชัชชาติ” ปมป้ายหาเสียง ส่อจูงใจคนเลือก “ผู้ว่าฯ กทม.” หรือไม่

นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า แผ่นป้ายดังกล่าวมีการจัดทำแพตเทิร์นเป็นลายบางๆไว้ให้นำไปตัดเย็บตามรอยปะเสร็จสรรพ เพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถนำไปหมุนเวียนเป็นเป๋าผ้ากันเปื้อนใช้ต่อได้ แม้นายชัชชาติจะพยายามสื่อว่าจะนำแผ่นป้ายดังกล่าวกลับมาตัดเย็บใช้กันเองในทีมหาเสียงก็ตาม แต่ป้ายหาเสียงมีจำนวน 380 ป้าย ซึ่งการเก็บกลับมาใช้เองเป็นเรื่องเพ้อฝัน เพราะหลังจากปิดหีบเลือกตั้งแล้ว ก็จะมีชาวบ้านหรือผู้มีสิทธิเลือกตั้งในพื้นที่เขตต่างๆ ออกมาเก็บป้ายหาเสียงของผู้สมัครไปเป็นของตนแทบทั้งสิ้น ซึ่งถ้าจะเอาป้ายดังกล่าวนำกลับมาตัดเย็บใช้กันเองในทีม หลังจากเลือกตั้งผ่านไปแล้ว กกต.จะต้องไปตรวจสอบว่ามีการจัดเก็บป้ายทั้งหมดกลับไปทำกระเป๋า-ผ้ากันเปื้อนครบ 380 ผืนจริงหรือไม่ด้วย

นายศรีสุวรรณ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังเห็นว่า แผ่นป้ายดังกล่าวอาจเป็นการฝ่าฝืนระเบียบกกต. ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น 2563 ข้อ 18 เนื่องจากไม่ระบุชื่อตัว ชื่อสกุล ของผู้ว่าจ้าง แต่กลับไประบุ“ชมรมกรุงเทพฯน่าอยู่กว่าเดิม”เป็นผู้ว่าจ้างแทน ซึ่งไม่เป็นไปตามกฎหมาย เพราะตรวจสอบไม่ได้ว่าชมรมดังกล่าวมีตัวตนจริงหรือไม่ รวมทั้งข้อความดังกล่าวตัวอักษรมีบขนาดเล็กมากและเบลอไม่สามารถมองเห็นได้ชัดเจนตามที่ระเบียบกำหนด

"การจัดทำแผ่นป้ายหาเสียงในลักษณะดังกล่าว อาจเข้าข่ายเป็นการกระทำเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ลงคะแนนให้แก่ตนเองด้วยวิธีการ จัดทำให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ อันเข้าข่ายการฝ่าฝืน ม.65(1) แห่ง พรบ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น 2562 ถ้า กกต.วินิจฉัยว่าเข้าข่ายก็อาจมีความผิดตาม ม.126 ของกฎหมายดังกล่าวต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 20 ปีด้วย" นายศรีสุวรรณ กล่าว